Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทำอย่างไรไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น เมื่อลูกสองคนแย่งของเล่นกัน?

ประสบการณ์จากแม่ไก่

“ทำอย่างไรให้ลูกไม่แย่งของเล่นกัน”

ใครเคยมีประสบการณ์นี้บ้างคะ คิดว่าสำหรับบ้านที่มีลูกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปคงจะมีประสบการณ์รื่องการแย่งของเล่นกัน การทะเลาะกัน แบ่งกันไม่ได้สักที ต้องมีน้ำตา ต้องโกรธกันจนได้ ทำไมเด็กจึงชอบแย่งของเล่นกัน

ประสบการณ์จากแม่ไก่

แม่ไก่ลูก 2 เชื่อมการเลี้ยงดูแบบโบราณสมัยคุณย่ากับโลกยุค 4.0

ต้องยอมรับว่าสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเลี้ยงลูกก็จำเป็นต้องปรับตามไปเพื่อให้เท่าทันกับสังคมปัจจุบัน แต่จะทำอย่างไรเมื่อความจำเป็นที่แม่สมัยใหม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้านไม่สามารถดูแลลูกด้วยตัวเองตลอดเวลาได้อย่างที่ใจคิดจึงต้องฝากลูกให้คุณย่าช่วยดูแล

พัฒนาการเล่นของเด็กแต่ละวัย

“จะให้ลูกเล่นอะไรดี?”

สิ่งที่ถือเป็นตัวช่วยในการเลี้ยงดูและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ดี คือ ของเล่น การเลือกของเล่นที่ดีต้องเลือกให้เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย เด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น

เด็กในวัยแรกเกิด –3 เดือน : ชอบสำรวจสิ่งต่างๆ จากการมอง เริ่มใช้มือไขว่คว้า ของเล่นกระตุ้นสายตา เช่น โมบายสีสดใส กรุ๋งกริ๋งเขย่ามีเสียงดังการหยอกล้อจากพ่อ-แม่
เด็กในวัย 3-6 เดือน : เริ่มคว่ำได้ จำบุคคลได้ เริ่มเตรียมพร้อมในการบดเคี้ยว จึงชอบของเล่นที่จับต้องได้ถือได้ ชอบจับของเล่นฟาดไปมา และชอบเอาของเล่นเข้าปาก ชอบยางกัด หยอกให้หัวเราะ
เด็กในวัย 6-12 เดือน : เริ่มซนได้ คลานได้ ชอบรื้อของ เริ่มมีอารมณ์ ถ้าถูกแย่งของเล่นจะโกรธจะร้องไห้ สำรวจสิ่งของรอบตัว ของใช้ในบ้านเป็นของเล่นของเขาเลย บล็อกจับคู่ สมุดภาพ และชอบให้พาออกไปสำรวจภายนอกด้วย

ยิ่งเด็กเติบโตมากขึ้น การเรียนรู้ก็จะมากขึ้น เราควรเลือกของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กเพื่อให้เขาเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง

“เพราะอะไรพ่อแม่จึงควรให้เวลากับการเล่นกับลูก?”

พ่อแม่มักจะสรรหาของเล่นที่ดีที่สุดให้กับลูก เลือกแล้วเลือกอีก ไก่เองก็เป็นคนหนึ่ง ก็จะสังเกตจากพัฒนาการ ช่วงประมาณ 5-6 เดือน รู้ว่าฟันเขาเริ่มจะงอก เริ่มคันเหงือก ก็จะมียางกัดมาให้เขา ของเล่นที่ถือได้จับได้เลือกแบบที่ปลอดภัยให้ลูก หนังสือภาพที่เอานิ้วสอดเข้าไปได้ ใช้อ่านเล่นกับลูก อ่านไปด้วยทำนิ้วกระดุ๊กกระดิ๊กไปด้วย ลูกก็หัวเราะชอบใจ เราก็มีความสุข
ไม่ว่าของเล่นจะดีสักแค่ไหน เด็กจะโตมากขึ้นมากเท่าใด ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก ก็คือ “พ่อแม่

ทำไมเด็กถึงแย่งของเล่นกัน

“ทำไมเด็กต้องแย่งของเล่นกัน?”

ด้วยความที่ไก่มีลูก 2 คน ในวัยที่ใกล้เคียงกัน คนโตอายุ 8 ขวบ 2 เดือน คนเล็กอายุ 6 ขวบ 10 เดือน ห่างกันประมาณ 1 ปี 2 เดือน พัฒนาการเขาใกล้เคียงกัน มีความต้องการคล้ายๆ กัน เวลาเลือกซื้อของไม่ว่าจะเป็นของใช้ทั่วไปสำหรับลูก เสื้อผ้า หรือ ของเล่นต่างๆ ไก่จะต้องซื้อ 2 ชิ้นตลอด และเลือกแบบเหมือนกันประหนึ่งว่าเลี้ยงลูกแฝดก็ไม่ปาน

“เพราะอะไร?”

อย่างแรกที่เราคิดคือว่า เราอยากให้เขารู้สึกเท่าเทียมกันไม่มีใครได้มากกว่าหรือน้อยกว่า เพราะเด็กยังไม่เข้าใจการแบ่งปันสักเท่าไร เริ่มต้นจึงให้เขารู้สึกอิ่มเต็มในตัวเองก่อน ให้รู้ว่าแม่รักเขาเท่าๆกันนะ ไม่มีรักใครมากกว่ากันนะ แต่เชื่อไหม การแย่งของก็เกิดขึ้นได้

ไก่ใช้เวลา เฝ้าสังเกต ทดลอง คือ เด็ก 2 คนเวลาอยู่ด้วยกันเล่นด้วยกัน บางเวลาเขาก็เล่นด้วยกันดีมากเลย ไม่ทะเลาะกัน ไม่แย่งของ เล่นด้วยกันด้วยความสนุก แต่เมื่อไหร่ที่มีใครเริ่มอยากได้ของเล่นของคนอื่น เช่น คนน้องอยากเล่นรถของพี่บ้าง พี่ก็จะหวงนี่ของฉันนะ แม่ให้ฉัน มันเป็นของฉัน ฉันไม่แบ่งให้หรอก ของตัวเองก็มีนี่ ก็เล่นของตัวเองไปสิ หรือบางทีคนน้องชอบไปแหย่พี่ ตอนพี่เขาเล่นของเขาอยู่ก็ไปแย่งมาเล่นซะงั้น ก็ไปจุดชนวนความโกรธให้พี่แล้วสิ แล้วพี่ก็เป็นคนโกรธง่ายเสียด้วย ยิ่งกับน้องถ้าเป็นน้องแย่งเล่นจะโกรธมาก คนที่ลำบากใจที่สุดก็คือแม่ เพราะบางครั้งบอกด้วยเหตุผล อธิบาย เขาก็ยังไม่ยอมเข้าใจ

วิธีแก้ไขพฤติกรรมการแย่งของเล่น

“จะทำอย่างไรให้ลูกเปิดใจ และแบ่งปัน?”

เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เวลาที่ลูกคิดว่าเขารู้สึกว่าแม่รักใครมากกว่า จะมีอาการไม่พอใจ น้อยใจ ประชดประชัน ไปจนถึงโวยวาย ก้าวร้าวถ้าไม่ได้อย่างที่ตัวเองคิด แม่ต้องทำหน้าที่กรรมการโดย…

รับฟัง

แม่ก็จะไล่เรียงเหตุการโดยให้แต่ละคนได้พูดเหตุผลของตัวเอง ได้ระบายความรู้สึกออกมา จะได้ยินบ่อยๆ

“พี่เขามาผลักหนูก่อน”

“ก็น้องมาล้อเลียนหนูก่อน”

ให้เหตุผล ชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย

หลังจากที่แม่ฟังแล้ว แม่คิดว่า เพื่อความยุติธรรมจะตีทั้งคู่นะ เพราะแม่เคยบอกไว้แล้วใช่ไหม ว่าแม่ไม่ชอบให้ทะเลาะกัน แบบนี้แม่จะทำโทษทั้งคู่ เงียบกันไปพักหนึ่ง แล้วก็ถามว่า

“จะตีแรงไหม”

“อยากให้แม่ตีแรงๆไหมเห็นไหมว่าเวลาทะเลาะกัน มันจะมีเรื่องให้เราเจ็บตัว ต่อไปหนูจะทะเลาะกันอีกไหม”

“ไม่แล้วครับ”

“ไม่แล้วครับ”

ไม่ตัดสิน ห้อยแขวนคำพิพากษา

เพราะการตัดสินของแม่มันบาดใจลูกนะ และจริงๆ เราก็ไม่ได้อยากให้ลูกเสียใจหรือน้อยใจ แต่เราจะพยายามแนะนำให้เขาคิดได้ คิดเป็น และคิดอย่างถูกต้อง เพื่อเขาจะได้โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข

“เพราะอะไร?”

ไก่คิดว่า ด้วยความที่ไก่มีลูกในวัยใกล้เคียงกัน พัฒนาการทางด้านอารมณ์และความคิดเขาก็จะใกล้เคียงกัน คนพี่ก็ยังไม่ได้มีวุฒิภาวะของความเป็นพี่อย่างที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น พ่อแม่ที่มีลูกวัยใกล้เคียงกันแบบไก่ก็น่าจะรู้สึกไม่ต่างกัน คนพี่เขาก็คงรู้สึกว่าเราก็เป็นลูกแม่มาของเราดีๆ
วันนึงมีน้องมาแย่งความรัก มาแบ่งความรักจากแม่ไป เขาต้องการได้ความรัก อยากให้ทุกอย่างเป็นของเขาคนเดียว เพราะช่วงแรกที่น้องคลอดออกมา เขาก็พึ่งจะ ขวบกับสี่เดือน เป็นวัยที่ยังติดแม่อยู่ แต่แม่ก็ต้องแบ่งร่างไปดูแลน้องด้วย สิ่งที่ไก่พูดกับลูกตลอดคือ เราเป็นพี่น้องกันนะ มีอะไรก็แบ่งกัน คิดถึงกันนะ

การดูแลให้ลูกมีความแข็งแรงทั้งกายและใจ เราเชื่อว่าเราสร้างได้ด้วยความรักความเข้าใจ วันนี้อาจจะยังไม่เห็นผล แต่สักวันหนึ่งสิ่งที่เราปลูกฝังมันจะต้องผลิดอกออกผลแน่นอน เพราะต้นมะม่วงไม่ได้โตภายในวันเดียว