Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เคล็ดไม่ลับกับการเลี้ยงลูกชายให้เป็นสุภาพบุรุษ

ประสบการณ์จากแม่ไก่

เด็กชายจะแตกต่างจากเด็กหญิงทั้งพื้นฐานทางด้านความคิดและความรู้สึกที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีการเลี้ยงดูก็ต้องปรับให้เข้ากับพื้นฐานของเด็กด้วยนะคะ ไก่ไม่มีประสบการณ์กับการเลี้ยงเด็กผู้หญิงเลย เพราะมีลูกชายถึง 2 คน แต่สังเกตจากลูกสาวของเพื่อนๆ ก็จะรู้สึกว่าเลี้ยงลูกสาวดูซอฟท์กว่า การเลี้ยงลูกชายเราต้องทรงพลังรับมือกับลิงทโมนทั้งคู่ และดีกรีความเข้มข้นของความซุกซนก็จะเพิ่มตามวงปีของอายุลูกเรา

ประสบการณ์จากแม่ไก่

ไก่มีลูกชายคนแรกเมื่อปี 2554 ปีนั้นเป็นปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตตั้งแต่เติบโตมาไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักขนาดนั้น บ้านที่อาศัยอยู่โดนน้ำท่วม ตอนนั้นลูกชายอายุ 6 เดือน ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากมากช่วงหนึ่ง เป็นเหตุผลเดียวที่ตัดสินใจได้ไม่ยากเลย ว่าเราต้องอพยพออกจากบ้าน เพราะเราจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าเรายังคงอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมแล้วลูกเราจะเป็นอย่างไร เพราะเราต้องการอาหาร น้ำสะอาด และสภาพที่ห่างไกลจากการทำให้ลูกป่วย เราจึงย้ายไปอยู่บ้านญาติที่ต่างจังหวัดตลอด 3 เดือนที่น้ำยังคงท่วมอยู่ไก่ว่าความเป็นแม่ ความอดทน การเสียสละต้องมาก่อนเลย ก็เรารักเขานี่นา

เด็กวัย 3-5 ขวบต้องการอะไร

ต้องการเติบโตทั้งทางกาย

เด็กในวัย 3 ปี น่ารัก ช่างพูดมากขึ้น สื่อสารได้เป็นประโยคสั้นๆ กับเราได้ บอกสิ่งที่ต้องการได้ ไก่ชอบลูกในวัยนี้มากเพราะว่าเราสอนอะไรเขาก็จะพยายามทำตาม พูดตาม เช่น สอนให้รู้จักตัวอักษรภาษาไทย ก.ไก่ – ฮ.นกฮูก กลับไปย้อนดูคลิปวิดีโอที่ตัวเองถ่ายเก็บไว้ ชอบมากเลย น่าเอ็นดู นอกจากเขาจะเรียนรู้ที่จะเลียนแบบให้ได้มากที่สุดแล้ว เด็กๆ เขายังช่างคิด ช่างสังเกต และช่างซักช่างถาม “เราจะต้องตอบคำถามให้เขาเพื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว

ต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจและความคิด

การพัฒนาสมองส่วนหน้า ความคิด ความรู้สึก การกระทำ เป็นการสร้างความสามารถในการบริหารจัดการชีวิต ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ดีในการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้ลูก เป็นช่วงที่คุณพ่อควรจะวางรากฐานที่ดีให้กับลูกๆ
ของเล่นเสริมพัฒนาการ” ของเล่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย กล้ามเนื้อ มัดใหญ่ มัดเล็ก สอดแทรกกระบวนการคิดที่เป็นระบบ การได้จับการได้สัมผัสด้วยตัวเอง การลองผิดลองถูก ช่วยสร้างประสบการณ์และสมาธิให้กับลูก ลองให้เขาทำด้วยตัวเองจนสำเร็จ และพ่อแม่ก็ต้องรู้จักชมเชยเมื่อลูกทำได้สำเร็จด้วย สำคัญมากนะคะมันจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้เขา ของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ เช่น บล็อกไม้ ตัวต่อ จิ๊กซอแบบเบื้องต้น เรียงสี เรียงขนาด แยกประเภทสัตว์ สิ่งของ รูปทรง ของเล่นกดแล้วมีเสียงเพลง เป็นต้น ตามแต่จะเลือกสรรกันเลยค่ะ

ช่วงวัย 3 ขวบ มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ลูกจะต้องปรับตัวปรับใจอย่างมากคือ การเข้าโรงเรียน ด้วยความจำเป็นที่ลูกจะต้องมีพัฒนาการทางด้านสังคม เป็นก้าวแรกที่จะเปิดตัวเองออกสู่โลกกว้าง และก็เป็นการยากที่พ่อแม่จะทำใจปล่อยลูกน้อยออกจากอ้อมอก เพื่อไปเผชิญโลกกว้าง ทั้งลูกและพ่อแม่ต้องปรับตัวปรับใจอย่างมากเลย ลูกเอง จากการที่จะต้องจากบ้านที่เขาคุ้นเคย เคยอยู่ล้อมรอบด้วยพ่อ แม่ ปู่ ย่า คนที่เขามั่นใจในความรักและไว้ใจ ไปสู่โรงเรียน สถานที่ใหม่ ที่มีผู้คนหลากหลายใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย มีทั้งคุณครู และเพื่อนๆ วัยเดียวกัน สร้างความรู้สึกแปลกๆ กับลูก ลูกคงจะคิดว่า “พวกเขาเหล่านี้เป็นใคร ฉันจะปรับตัวอย่างไร เหว่ว้าจังเลย คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย” แงๆๆ
ช่วงแรกที่ต้องส่งลูกไปโรงเรียน ไก่รู้สึกลำบากใจมากเพราะลูกมีความทุกข์มาก ร้องไห้ทุกเช้าที่ต้องส่งเขาไปโรงเรียน ไม่ยอมแต่งตัว ไม่ยอมกินข้าว เอาแต่ร้องไห้ พูดอย่างไรก็ไม่ยอม จนต้องปล่อยให้เขาอยู่บ้านไปก่อน รอปรับตัวปรับใจสักพักใหญ่ๆ เลย วันไหนอารมณ์ดีพูดได้ ยอมไปโรงเรียนแม่จะดีใจมาก เราต้องใจเย็นค่อยๆ ดูความพร้อมให้เขาปรับตัว นี่แหละคือสิ่งที่ยากในวัย 3 ขวบ ร่างกาย

ต้องการความรัก

คุณแม่ควรตระหนักถึงการเติบโตทางร่างกายกับการเติบโตทางจิตใจของลูกเพื่อความสมดุลของชีวิตที่มั่นคง
ให้ความรักก่อนให้ความรู้” รักอย่างไม่มีวันหมด รักแบบไม่มีเงื่อนไข รักทุกๆ อย่างที่เป็นเขา ให้เขาเชื่อมั่นในความรักของเรา (Trust)
ให้เขาผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับเรา (Attachment) เพื่อสร้างตัวตนที่มั่นคงของตัวเขา เพื่อให้เขาเป็นคนที่มีความสุข ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม(Self)

เลี้ยงลูกชายให้เป็นสุภาพบุรุษ

แตงโมผลใหญ่ๆ เกิดขึ้นได้จากเม็ดแตงเม็ดเล็ก จำไว้นะพวกเด็กๆ เม็ดแตงเม็ดเล็ก กลายเป็นแตงผลใหญ่
เพลงเด็กๆ เพลงนี้เป็นเพลงที่ดีมากเลย ไก่ว่ามันทำให้เราเข้าใจและพาให้เด็กเห็นภาพไปพร้อมๆกับเราได้ นิสัยไม่ได้เกิดได้ในวันเดี่ยว ทำไมเราจึงต้องวางพื้นฐานทางด้านความคิดที่ดีให้ลูกตั้งแต่วัยที่เขาสามารถรับรู้ได้ เพราะพื้นฐานความคิดจะเป็นสิ่งที่สร้างอนาคตให้กับลูก…

  1. จงระวังความคิดเพราะความคิดจะกลายเป็นความเคยชิน
  2. จงระวังความเคยชินเพราะความเคยชินจะกลายเป็นพฤติกรรม
  3. จงระวังพฤติกรรมเพราะพฤติกรรมจะกลายเป็นนิสัย
  4. จงระวังนิสัยเพราะนิสัยจะกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอดกาล

ความหวังสูงสุดของพ่อแม่ คือ เห็นลูกของตนเองเติบโตและเป็นคนดี แต่การเลี้ยงลูกให้เป็นอย่างที่คิดและตั้งใจไว้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยศิลปะในการจัดการอย่างมาก พ่อแม่หรือคนดูแลที่ใกล้ชิดของเด็กๆ เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกให้ลูกหลานผ่านประสบการณ์ สร้างสิ่งแวดล้อม วางพื้นฐานการใช้ชีวิต คำพูด อารมณ์ ความคิด ของพ่อแม่เอง ทั้งโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ดี

เด็กเป็นดังกระจกเงา

สิ่งที่เด็กแสดงออกทางความคิด คำพูด การกระทำ ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนผลลัพธ์ของพ่อแม่ แน่นอนว่ามุมมองจากพ่อแม่ที่ต้องมีภาระมีงานมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากและต้องการเลี้ยงดูลูกให้ดี แต่ก็ไม่ง่ายที่จะจัดการทุกเรื่องให้ลงตัว ให้อภัยพ่อแม่มือใหม่ด้วยนะลูกๆ พ่อแม่ก็เป็นคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกและทำอะไรๆ ผิดพลาดได้ บางครั้งก็เผลอที่จะอารมณ์เสียใส่ลูกเพียงเพราะลูกงอแง พูดอธิบายยังไงก็ไม่ยอมเข้าใจ เมื่อพ่อแม่เข้าใจพฤติกรรมตัวเองแล้ว ก็พยายามปรับความคิดและพฤติกรรมที่ดีเพื่อลูกๆ นะคะ

เคล็ดลับการสร้างสุภาพบุรุษ

รักตัวเองให้เป็น

ทำยังไงจะให้เกิดความรักตัวเองเป็น พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูกรู้สึกถึงความรักที่มากพอ “บอกรักลูกทุกวัน” กอดกัน ชื่นชม ชมเชย เมื่อลูกทำดี การหาเรื่องที่จะชื่นชมลูกทุกวัน ให้ความรักเขาเท่าที่เขาต้องการ ให้ความรักนำทาง ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ขอให้มีขอบเขตที่เหมาะสมนะจ้ะ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเอ๋ออวยจนเกินงาม กลายเป็นเอาแต่ใจไปอีก

เผื่อแผ่ให้ผู้อื่น

เชื่อว่าเมื่อเราให้ความรักดีดีกับลูก ลูกก็จะเรียนรู้การเป็นผู้ให้เช่นกัน เด็กก็คงเหมือนผู้ใหญ่เมื่อได้รับความรัก รู้ว่าตัวเองมีคุณค่า ก็อยากจะแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ และคนรอบข้างด้วยเหมือนกัน

รู้กาลเทศะ

พบกันต้องทำยังไงคะลูก “สวัสดีครับ
มีคนให้ของเราต้องทำยังไงคะ “ขอบคุณครับ
ทำให้คนอื่นร้องไห้เสียใจต้องทำยังไงคะ “ขอโทษครับ
ฝึกให้เป็นนิสัยเลยนะคะ

มีน้ำใจนักกีฬา

ส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬา หรือการแข่งขันที่มีกติกา เพื่อให้ลูกรู้จักฝืนใจ ข่มใจตัวเอง แน่นอนว่า ลูกจะต้องอยากชนะ เวลาแพ้หรือโดนแกล้งโดนล้อเขาก็จะงอแง ร้องไห้
พ่อแม่ช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ค่ะ “นึกถึงคำที่จะทำให้ลูกเห็นสถานการณ์ที่ต่างไป” ให้ลูกรู้สึกว่าแม่มาช่วยไม่ใช่มาต่อว่าซ้ำเติม ช่วยลูกแก้ปัญหา ให้เขามองเห็นความคิดความรู้สึกตัวเอง เข้าใจตัวเอง และเขาจะสามารถจัดการความคิดความรู้สึกได้ดีขึ้นค่ะ