Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคการฝึกลูกน้อยเข้าห้องน้ำและนั่งชักโครก?

ประสบการณ์จากแม่โน้ต

“ลูกจะ 4 ขวบแล้วยังไม่เลิกผ้าอ้อมสำเร็จรูปเลย ทำไงดี?”

เป็นข้อกังวลใจของคุณแม่มือใหม่หลายๆ คน แต่…คุณแม่ถามตัวเองก่อนค่ะว่า…

“กังวลเพราะอะไร?”

“เพราะลูกเพื่อนเค้าเลิกกันได้ตั้งแต่ 2-3 ขวบ?”

ถ้าอย่างนั้น แวะบ้านนี้ก่อนเลยค่ะ แม่โน้ตแชร์ประสบการณ์ตรงให้ฟัง

ประสบการณ์จากแม่โน้ต

คุณแม่ลูกหนึ่งที่เคยผ่านภาวะครรภ์เป็นพิษมาแล้ว ต้องคลอดลูกก่อนกำหนดด้วยอายุครรภ์เพียง 7 เดือน ต้องเลี้ยงลูกด้วยหลักคำสอนของผู้ใหญ่บ้าง ของตัวเองบ้างเพราะ…เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และยุคสมัยต่างกัน
ในขณะที่ยุคนี้คือ “ยุคดิจิทัล” โจทย์ในการเลี้ยงลูกเปลี่ยนแปลงทุกวัน เราเองก็ต้องตั้งรับให้ดีและเตรียมความพร้อมให้ลูกเช่นกัน
โน้ตเลิฟการอ่าน รักการเขียน ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ค่ะ

Blockdit : คุณแม่บ้านบ้าน
IG : notepatsita

ลูกน้อยต้องเข้าห้องน้ำและนั่งชักโครกได้ตอนกี่ขวบ?

ตามทฤษฎี ว่ากันว่าคุณแม่ควรฝึกลูกน้อยนั่งชักโครกได้ในช่วงอายุประมาณ 2-3 ขวบแต่ใช้ไม่ได้กับบ้านโน้ตค่ะ 555 เพราะงั้นเลี้ยงตามสไตล์เราดีที่สุด

ครั้งแรกกับการฝึกลูกนั่งชักโครก

ซึ่งตอนที่น้องมินอายุได้ 2 ขวบครึ่ง เค้าเข้าเนอสเซอรี่ เป็นก้าวแรกของเค้าที่เค้าจะได้เรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย การเข้าสังคมและการปรับตัว โน้ตก็หวังว่าที่โรงเรียนกับที่บ้าน เราจะสามารถฝึกเด็กในเรื่องนี้ได้พร้อมๆ กัน

“น้องมินถอดแพมเพิร์สมั้ยลูก ก้นจะได้ไม่เปื่อย ดีมั้ย?”

(ร้องไห้งอแง) “ไม่อาว ไม่ถอด ไม่ถอด จะฉี่ใส่แพมเพิร์ส”

ลองแบบนี้อยู่หลายครั้ง ก็ยังเป็นเหมือนเดิม โน้ตก็คิดหาทางใหม่ “กระโถน” อย่างสวยเลยค่ะ แล้วลองใหม่ (แต่ก่อนให้ลูกนั่งจริง ที่บ้านจะให้ลูกนั่งเล่นก่อนเหมือนนั่งเก้าอี้นั่งเล่นทั่วไป สร้างความเคยชิน)

“ปวดอึ๊มั้ยลูก?”

“ปวดค่ะ”

“ไป…นั่งกระโถนกัน สีเขียวสดใสเลยน้า”

คราวนี้ยอมนั่ง แต่ไม่อึ๊ ฉี่อย่างเดียวโน้ตรู้ละ แสดงว่าเค้ายังไม่พร้อมจริงๆ ไม่เป็นไร รอให้เค้าพร้อมก่อนและโน้ตก็พาลูกลาออกจากโรงเรียนเก่าและเข้าโรงเรียนใหม่ในระดับชั้นเดียวกัน

เวลาผ่านไปจนน้องมินอายุได้ ประมาณ 3 ขวบกว่า ตอนนี้กระโถน…ไม่ต้องค่ะ โน้ตให้เริ่มกับชักโครกเลย

เตรียมอุปกรณ์และความพร้อมก่อนให้ลูกนั่งชักโครก

  1. ที่รองก้นที่มีขนาดเหมาะสมกับลูก ข้อนี้โน้ตให้น้องมินไปเลือกลายเองค่ะ ให้เค้าได้มีส่วนร่วมและจะทำให้ลูกรู้สึกอยากนั่ง ซึ่งเค้าเลือกลายสัตว์ทะเลและลายผึ้ง
  2. บันไดสำหรับเดินขึ้นไปนั่ง ที่บ้านเป็นบันไดขั้นเดียวค่ะ น้องมินก็ขึ้นได้แล้ว

เทคนิคการฝึกลูกเข้าห้องน้ำและนั่งชักโครก

การพูดกับลูก เพื่อให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เค้าเคย “กลัว” แล้วให้เค้ากลับมา “กล้า” นี่ ต้องใช้เวลาค่ะ

“พูดยังไงให้ลูกนั่งชักโครก?”

“น้องมิน ถ้าหนูปวดอึ๊ ปวดฉี่บอกหม่ม้านะคะ”

“หม่ะม้า หนูปวดฉี่”

“ไปเข้าห้องน้ำกันมั้ยคะ?”

(ทำท่าลังเล)

“นี่ไงคะ…ผึ้งน้อยของหนู รออยู่นี่แล้ว มานั่งดูมั้ยว่าน้ำผึ้งทำมาจากอะไร?”

(พยักหน้าพร้อมเดินตามเข้าห้องน้ำแต่โดยดี)

อ่า…สำเร็จ แต่จะได้แค่ไหนอย่าเพิ่งคิดถึงตรงนั้นนะคะ ให้เค้านั่งก่อน แล้วค่อยว่ากัน

พอน้องมินนั่ง โน้ตก็เริ่มชวนคุย พูดเรื่องผึ้ง นู่น นี่ นั่น ให้นั่งเพลินๆ ซักพัก…ทุกอย่างเรียบร้อยทั้งหนักทั้งเบาในอายุน้องมินที่ประมาณ 3 ขวบกว่า

สรุปเทคนิคการฝึกลูกนั่งชักโครก

  1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม โดยให้ลูกได้เลือกเอง เค้าจะได้รู้สึกอย่างนั่ง
  2. คุณแม่ควรอยู่กับลูกด้วยเพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเค้าไม่โดดเดี่ยว
  3. ไม่ควรบังคับ ถ้า…ลูกไม่พร้อม เพราะผลที่ได้เป็นลบมากกว่าบวก

การฝึกลูกให้เข้าห้องน้ำและนั่งชักโครก ต้องอาศัยเวลาค่ะ โน้ตจะไม่บังคับลูกหากลูกยังไม่พร้อม เพราะมันจะกลายเป็น “ประสบการณ์ในด้านลบ” และต้องใช้เวลานานกว่าเดิมในการฝึกเค้านอกจากนี้ การเลี้ยงลูกให้มีความสุข ต้องเริ่มที่คุณแม่ก่อนค่ะ ต้องหยุดเอาตัวเองเปรียบเทียบกับคนอื่น เลิกกดดันตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะไม่มีความสุขคือเรา คือลูก และครอบครัวของเราเอง

สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านนะคะ