เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนทุกวัน การเลี้ยงลูกจึงต้องเปลี่ยนตามบ้าง ย้ำว่า “บ้าง” นะคะ (โน้ตจะใช้การเลี้ยงลูกแบบสไตล์ของตัวเอง คือ โบ-ดิจิทัล) มีอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ควรวางรากฐานให้ลูกตั้งแต่วันนี้ อย่างโน้ตเองที่หลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องของ “ภาษา” ค่ะ อย่างน้อยลูกก็ควรพูดสื่อสารได้สองภาษาแล้ว ต้องบอกว่าโชคดีที่โน้ตพอจะสื่อสารภาษาอังกฤษกับลูกได้บ้างก็เลยพอที่จะให้ความรู้กับเขาได้ในเรื่องนี้
ประสบการณ์จากแม่โน้ต
คุณแม่ลูกหนึ่งที่เคยผ่านภาวะครรภ์เป็นพิษมาแล้ว ต้องคลอดลูกก่อนกำหนดด้วยอายุครรภ์เพียง 7 เดือน ต้องเลี้ยงลูกด้วยหลักคำสอนของผู้ใหญ่บ้าง ของตัวเองบ้างเพราะ…เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และยุคสมัยต่างกัน
ในขณะที่ยุคนี้คือ “ยุคดิจิทัล” โจทย์ในการเลี้ยงลูกเปลี่ยนแปลงทุกวัน เราเองก็ต้องตั้งรับให้ดีและเตรียมความพร้อมให้ลูกเช่นกัน
โน้ตเลิฟการอ่าน รักการเขียน ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ค่ะ
Blockdit : คุณแม่บ้านบ้าน
IG : notepatsita
สารบัญ
สอนลูกพูดสองภาษาแบบพึ่งพาสัญชาติญาณแม่
การสอนลูกให้พูดสองภาษาน่ะพอเข้าใจ แต่การสอนแบบพึ่งพาสัญชาตญาณแม่นั้น มันเป็นอย่างไรหว่า วันนี้โน้ตจะบอกวิธีที่โน้ตใช้สอนลูกให้ฟังค่ะ
ท่องตัวอักษรให้ลูกฟังตั้งแต่วัยทารก
บางคนอาจตกใจว่าเราต้องสอนลูกตั้งแต่เป็นทารกเลยหรอ ใช่ค่ะ แต่การสอนคือไม่ได้สอนอะไรจริงจังนะคะ ยกตัวอย่างบางช่วงเวลา เช่น ช่วงเวลาที่โน้ตอุ้มน้องมินเดินเล่น หรือเวลาที่โน้ตอาบน้ำให้ลูก ก็จะท่อง ABC แบบเป็นเพลงให้ฟัง เป็นต้น
ถามว่าเขาจะจำได้ไหม? ไม่รู้นะคะ รู้แต่ว่าสัญชาตญาณแม่บอกให้ทำ 555 อ้อ…สำหรับหัวข้อนี้ โน้ตปรับใช้กับเรื่องการท่องสูตรคูณด้วยนะคะ เผื่อใครจะลองนำไปใช้บ้างก็ไม่ว่ากัน
พูดแนะนำสิ่งของใกล้ตัวเป็นภาษาอังกฤษ
ถ้าลูกยังอยู่ในวัยทารก คุณแม่ก็สามารถพูดแนะนำสิ่งของใกล้ตัวง่าย ๆ ได้ค่ะ โน้ตใช้วิธีนี้ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทำประจำทุกวัน อาจเริ่มจากสิ่งของใกล้ตัวหรือของใช้ในชีวิตประจำวันก่อน เช่น แปรงสีฟัน จาน ช้อน ส้อม เสื้อ กางเกง ฯลฯ คือสิ่งของใกล้ตัวนี้ คุณแม่สามารถพูดขณะที่เราทำกิจกรรมนั้น ๆ อยู่กับลูกได้นะคะ เช่น ขณะแปรงฟัน เราก็พูดแนะนำลูกไป เป็นต้นค่ะ
เมื่อลูกอายุมากพอที่จะเข้าใจและสื่อสารกับเราได้มากขึ้นแล้ว ทีนี้เขาจะเป็นคนถามเราเองว่าสิ่งนั้นคืออะไร โน้ตก็จะบอกลูกแบบทั้งสองภาษา เพราะโน้ตเคยลองแล้วค่ะ ถ้าไม่บอกความหมายภาษาไทย น้องมินก็จะถามอยู่ดี ดังนั้น ส่วนตัวโน้ตจะไม่ซีเรียสว่า สอนลูกเป็นภาษาอังกฤษแล้วจะแปลไทยด้วยหรือไม่แปลไทยด้วย ยึดหลักว่าถ้าน้องมินถามก็บอก ถ้าไม่ถามก็จะบอกแค่เป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่าง ช่วงนี้น้องมินจะสนใจเรื่อง Human Organs เอามาก ๆ
หม่ะม้า… bone คืออะไร? Skeleton คืออะไร?
นี่ค่ะ ถ้าเป็นส่วนเดียวเราจะเรียกว่า bone แต่ถ้ารวมเป็นรูปร่างคนแล้ว เราจะเรียกว่า skeleton ค่ะ
พูดประโยคภาษาอังกฤษง่าย ๆ กับลูก
นับย้อนไปเมื่อตอนที่โน้ตเริ่มพูดประโยคภาษาอังกฤษกับลูกประโยคแรก ตอนนั้นน้องมินอายุได้ประมาณ 2 ขวบ คือ
Are you happy?
(เงียบและงง) “………………..”
หนูมีความสุขไหมคะ?
(พยักหน้า)
ถ้าหนูมีความสุข หนูก็ตอบ Yes นะคะ Are you happy?
Yes.
พอน้องมินโตขึ้นมาได้หน่อย โน้ตก็จะสอนให้เขาพูดแบบเต็มประโยคถูกหลักไวยากรณ์ คือ Yes, I’m happy. ประมาณนี้ค่ะ ต้องบอกว่าการสอนให้ลูกพูดช่วงแรก ๆ ควรฝึกให้ถูกไวยากรณ์เอาไว้ก่อน แต่ถ้าลูกยังรับไม่ไหวให้ถอยลงมา 1 step ไม่อย่างนั้น “ความกดดัน” จะเกิดขึ้นทั้งแม่และลูก กลายเป็นไม่รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ด้านภาษาได้ค่ะ
การฝึกพูดไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพียงแต่เราต้องชวนลูกพูดคุยในทุก ๆ วัน เพิ่มเติมประโยคใหม่ ๆ ทุก 2 – 3 วัน เพื่อให้ลูกเกิดความเคยชิน จนกลายเป็นทุกวันนี้น้องมินก็จะชวนโน้ตคุยเป็นภาษาอังกฤษเองเลยก็มี
ใช้ตัวช่วยอย่าง Youtube
เรื่อง Youtube สำหรับบางครอบครัวคือ เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ในที่นี้คือ ไม่ให้ดู ในขณะที่บางครอบครัวก็เรื่องใหญ่เหมือนกัน คือ “ลูกไม่ดู ไม่ได้”
ต้องบอกว่าวิธีการเลี้ยงลูกในสไตล์โน้ต โน้ตเลี้ยงแบบสไตล์ตัวเอง คือ คือ “โบ-ดิจิทัล” ผสมผสานการเลี้ยงลูกระหว่างสมัยเก่ากับสมัยใหม่ ทุกคนรู้ดีว่าของทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คำถามคือ…
“ทำไมเราไม่ดึงเอาข้อดีของ Youtube มาใช้ล่ะ?”
เช่น คุมเวลาในการให้ลูกดู นั่งดูไปกับลูก (เพราะเราจะได้ควบคุม content ที่ลูกดูได้ และแถมได้มีกิจกรรมร่วมไปกับลูกด้วย) เพียงแต่การที่จะให้ลูกดูนั้น หากลูกอายุไม่ถึง 2 ขวบครึ่งหรือ 3 ขวบ ยังไม่ควรให้ลูกดูนะคะ
ตอนนี้น้องมินอายุเกือบ 5 ขวบแล้ว ผลที่ออกมาจากการที่โน้ตฝึกลูกพูดก็ถือว่า เราก็ดีใจในระดับหนึ่ง แต่ส่วนไวยากรณ์จะถูกบ้างหรือผิดบ้างก็ไม่เป็นไรนะคะ ค่อย ๆ แก้กันไป (มีคลิป) คลิปนี้อัดไว้ตอนน้องมินอายุได้ประมาณ 4 ขวบครึ่งค่ะ
ล่าสุดน้องมินร้องเพลง Frozen II ได้แล้วทั้งเพลง ส่วนแม่ยังร้องไม่เป็นเลยค่ะ ไม่ได้บอกว่าลูกตัวเองเก่ง คนอื่นที่เก่งกว่าน้องมินมีอีกเยอะ แต่สิ่งที่อย่างบอกคือ “ทุกอย่างต้องเกิดจากการฝึกฝนค่ะ” สอนด้วยสัญชาตญาณแม่ ซึ่งคุณแม่จะรู้ว่าลูกของคุณแม่นั้นรับได้กับการเรียนสองภาษาได้มากหรือน้อยแค่ไหน เพราะ “สัญชาตญาณแม่มักถูกต้องเสมอ” เป็นกำลังใจให้คุณแม่นะคะ