Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ท่าทางทารก (Body Language) บอกอะไร พ่อแม่มือใหม่ควรรู้

ท่าทางทารก (Body Language) บอกอะไร พ่อแม่มือใหม่ควรรู้

การเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เราจะรู้สึกว่าอะไร ๆ ก็ดูยากจัง แต่แม่โน้ตว่าที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกยากนั้นน่ะ เป็นเพราะ “ความไม่รู้” มากกว่า คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเหนื่อยทั้งจากการเลี้ยงลูก ทั้งต้องปรับตัว ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้นั่นก็คือ “ท่าทางทารก” นั่นเอง จนบางครั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองลูกได้ไม่ถูกอย่างที่ลูกต้องการ จึงทำให้ลูกงอแงมากขึ้น แต่จากวันนี้ไป คุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจในสิ่งที่ลูกแสดงออกมากขึ้น และสามารถตอบสนองลูกได้อย่างถูกต้องแล้วล่ะค่ะ เพราะแม่โน้ตมีโค้ดถอดรหัสภาษาท่าทางทารกมาฝาก

ท่าทางทารก (Body Language) บอกอะไร

ลูกกำมือขณะตื่นอยู่

ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่ทารกหิว เขามักจะแสดงออกด้วยท่าทางคือทำปากจั๊บ ๆ หรือดูดปาก หรือดูดมือตัวเอง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตดี ๆ มือของลูกน้อยจะกำแน่นจะมีลักษณะนี้ร่วมด้วย โดยเฉพาะหากกำลังเข้าเต้า

การตอบสนองลูกอย่างถูกต้อง
ให้คุณแม่ป้อนนมลูก ซึ่งในขณะที่ลูกกำลังกินนมในช่วงแรกนั้น มือของทารกจะยังกำแน่นอยู่ ปล่อยให้เขากินจนอิ่ม มือของทารกจะค่อย ๆ คลายออก จนเป็นกางนิ้วแทนแต่ไม่เกร็งนะคะ แบบนี้คือ หนูเริ่มจะอิ่มแล้ว

หนูหลับแต่มือยังกำอยู่

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่เลยค่ะ เพราะทารกบางคนมักจะหลับขณะที่คุณแม่อุ้ม ส่วนคุณแม่เองหากไม่สังเกตมือของลูกน้อยที่กำอยู่ ก็คิดว่าคงวางที่เบาะได้แล้ว แต่พอก้นลูกแตะพื้นเบาะปุ๊บ เขาจึงตื่น

การตอบสนองที่ถูกต้อง
ให้คุณแม่สังเกตที่มือลูกน้อยก่อนค่ะ ว่าถ้ามือของลูกน้อยยังกำอยู่ แม้ว่าตาจะหลับ แบบนี้อย่าเพิ่งวางลูกค่ะ แต่ถ้ามือของลูกน้อยแบหรือออก 5 นิ้วแยกกันชัดเจน แบบนี้ค่อยวาง เพราะแสดงว่าเขาหลับสนิทแล้ว

หันหน้าหนีไม่ยอมสบตา

หากลูกน้อยอายุได้ 2 เดือน เขามีการแสดงออกแบบนี้เป็นสัญญาณที่เขาบอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่า “พ่อแม่ไม่สนใจเล่นกับหนูเลย” คุณพ่อคุณแม่อาจให้ความสนใจกับเขา กอด อุ้ม หรือพูดคุยกับเขาน้อยเกินไป เขาจึงต้องหันไปเล่นกับนิ้วมือหรือนิ้วเท้าของตัวเองแทน

การตอบสนองที่ถูกต้อง
หากคุณพ่อคุณแม่เจอเหตุการณ์แบบนี้ เริ่มแรกเลยคือ อย่าพยายามเอาหน้าเข้าไปใกล้ลูก เพื่อให้ลูกหันกลับมามอง หรือจับลูกเพื่อให้หันหน้ามาสบตา แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ ค่อย ๆ เพิ่มกิจกรรมเล่นกับลูก ให้เวลากับลูก กอดเค้า อุ้มเค้าให้มากขึ้น พร้อมกับชวนลูกคุย เป็นต้นค่ะ

ส่งยิ้มหวาน

การแสดงออกของทารกมักมีความหมายเสมอ อย่างการส่งยิ้มหวานให้คุณพ่อคุณแม่ นั่นก็แปลว่า ลูกน้อยอิ่มแล้ว ลูกน้อยรู้สึกสบายตัว

การตอบสนองที่ถูกต้อง
แม้ว่าลูกจะแสดงออกว่าอารมณ์ดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าลูกไม่ต้องการการตอบสนองนะคะ หากลูกส่งยิ้มหวานให้แบบนี้ ให้คุณพ่อคุณแม่สบตาลูก พร้อมชวนลูกพูดคุย เป็นการกระตุ้นทักษะในการพูด การสื่อสารไปในตัวค่ะ

หนูหาว บางทีก็ไม่ได้ง่วงนะ

แสง เสียง การสบตา หรือแม้แต่การพูดคุยของคุณพ่อคุณแม่อาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกเหนื่อยล้า และอึดอัด การหาวจึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า “หนูเหนื่อยแล้ว หนูอยากพักผ่อนสักพัก” นอกจากการหาวของลูกน้อยแล้ว อาจมีท่าทางอื่นร่วมด้วย เช่น การสะอึก หรือการหันหน้าหนี

การตอบสนองที่ถูกต้อง
หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกหาวจากการที่ได้เล่นหรือพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่มากเกินไป ให้คุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถด้วยการพาลูกอุ้มพาดบ่า เดินเล่นบริเวณบ้าน ดูธรรมชาติรอบบ้านเท่านี้ก็พอแล้วค่ะ

แอ่นหลัง บิดตัวไปมา

หากลูกน้อยอายุได้ 4 – 5 สัปดาห์ แล้วเขาทำท่าบิดตัวไปมา แอ่นหลัง และมีการร้องไห้งอแงร่วมด้วย ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านฟันธงว่า “ลูกน้อยกำลังรู้สึกว่าไม่สบายตัว” อาจเกิดจากการท่านอนที่ไม่สบายจึงพยายามดิ้นหาตำแหน่งที่สบายตัวที่สุด หรือหากลูกน้อยทำท่าหลังกินนม แปลว่า “หนูอิ่มแล้ว

หากลูกน้อยอายุ 4 – 5 เดือน เขาทำท่านี้โดยที่ไม่ได้ร้องไห้งอแง แบบนี้แปลว่าลูกกำลังพยายามจะพลิกตัว

การตอบสนองที่ถูกต้อง
ถ้าหากลูกน้อยมีการขยับตัวในลักษณะนี้ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเปล ที่เบาะนอน หรือคาร์ซีท นั่นแสดงว่าลูกน้อยเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว ให้คุณแม่อุ้มเขาขึ้นมาพาดบ่า พาเดินสัก 5 นาที จากนั้นค่อยวางลูกลงกับเบาะ เพื่อให้เขาได้กลิ้งไปกลิ้งมาบนพื้นบ้าง จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวขึ้น

ขยี้หู ขยี้ตา

เป็นการบอกต่อ ๆ กันมาว่าถ้าลูกน้อยขยี้หูขยี้ตาแปลว่า ลูกง่วง แต่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะแปลว่าลูกกำลังเพลินอยู่ เพลินกับการเล่นหูของตัวเอง หรือในบางกรณีหากลูกขยี้หูบ่อย ๆ มีไข้สูงร่วมด้วย แบบนี้อาจเกิดการอักเสบในหู ควรพบแพทย์ค่ะ

การตอบสนองที่ถูกต้อง
ให้คุณแม่สังเกตว่าลูกขยี้หูขยี้ตาช่วงไหน หากใกล้เวลานอนให้พาลูกเข้านอน เป็นต้น

ขยับปาก มีเสียงจั๊บ ๆ

การขยับปากของลูกแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ ช่วง 2 – 3 สัปดาห์หลังคลอด หากคุณแม่เอานิ้วเขี่ยที่แก้ม ลูกจะหันหาในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่สัมผัสแก้มเขา แต่ถ้าอายุมากกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป การขยับปากของลูก แปลว่า “หนูแล้วค่ะ”

การตอบสนองที่ถูกต้อง
ถ้าลูกน้อยมีท่าทางแบบนี้ให้คุณแม่ป้อนนมลูกด้วยการใช้หัวนมเขี่ยที่แก้ม เพื่อให้ลูกหันหาเต้าได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ทารกแสดงออกมีความหมายเสมอค่ะ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ เพื่อที่จะตอบสนองลูกได้อย่างถูกต้อง เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองลูกไม่ถูกต้องหรือไม่ตอบสนองเลย อาจทำให้ลูกร้องไห้งอแง ซึ่งจะมีผลต่อการเลี้ยงดูได้ในอนาคต เพราะเด็กจะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย และขาดความมั่นคงทางอารมณ์ได้