Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ฝากไข่ เทรนด์ใหม่ แม่พร้อมเมื่อไหร่ค่อยมีลูก

ฝากไข่ เทรนด์ใหม่ แม่พร้อมเมื่อไหร่ค่อยมีลูก

มาระยะหลังนี้ เราอาจเคยได้ยินดาราหลายคนพูดถึงเรื่องการ “ฝากไข่” มากขึ้น หลายคนอาจสงสัยว่า การฝากไข่คืออะไร? ข้อดีคืออะไร? วิธีการฝากไข่ฝากทีไหน? และอีก 108 คำถาม วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากคุณแม่ อย่างน้อยก็เพื่อการตัดสินใจและเพื่อการวางแผนที่จะมีลูกในอนาคตค่ะ

ฝากไข่ คืออะไร

คือการที่ผู้หญิงนำเซลล์สืบพันธุ์ หรือ “ไข่” มาแช่แข็งเอาไว้ในตู้เย็นชนิดพิเศษ หรือไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิที่ต่ำมากถึง -196 องศาเซลเซียส ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำและห้องพิเศษขนาดนี้ก็เพื่อต้องการให้ไข่ยังคงสภาพอยู่ได้ดี ไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกเก็บจนกว่าว่าที่คุณพ่อคุณคุณแม่พร้อมจะมีลูก ซึ่งในต่างประเทศมีเด็กที่คลอดออกมาจากการฝากไข่นี้ตั้งแต่ปี 1986 และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี

“ว่าที่คุณแม่ที่ต้องการฝากไข่ อายุยิ่งน้อยไข่ยิ่งสมบูรณ์ จะดีที่สุดหากจะฝากไข่ก่อนอายุ 35 ปี”

การฝากไข่ ก็คือการที่ผู้หญิง เอาเซลล์สืบพันธุ์ คือเซลล์ไข่ ไปเก็บรักษาไว้โดยการแช่แข็ง เพื่อคงอายุของไข่ ณ ขณะนั้น เราจะเก็บรักษาไข่โดยการแช่แข็งไว้ในไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิติดลบ 169 องศาเซลเซียส เก็บได้เป็น 10 ปี โดยที่ไม่มีผลต่อคุณภาพของไข่ การแช่แข็งไข่ปัจจุบันการใช้วิธี Vitrification ก็คือการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว โดยลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว”
ข้อมูลอ้างอิง :
พญ.ศรมน ทรงวีรธรรม สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

ฝากไข่เหมาะกับใครบ้าง?

ผู้หญิงที่แต่งงานช้า

อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้หญิงที่แต่งงานช้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เมื่อเวลาล่วงเลยไป “ความสมบูรณ์” ในเซลล์สืบพันธุ์ผู้หญิงก็ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีลูกยากตามมา

แต่งแล้วแต่ไม่พร้อมจะมีลูก

บางครอบครัวคิดว่า อยากให้ลูกเกิดมาแล้วมีพร้อมทุกอย่าง หรือจะขาดอะไรก็ขอให้น้อยที่สุด ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ขอทำงานเก็บเงินก่อน สุดท้ายจะพร้อมอีกทีตอนที่ผู้หญิงเลยวัยเจริญพันธุ์แล้ว

ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง

เพราะการรักษาต้องใช้วิธีเคมีบำบัด ใช้การฉายแสง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวทำลายเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิงได้ เช่นเดียงกับผู้ชายหากเป็นมะเร็ง แต่ต้องการจะมีลูก คุณหมอจะแนะนำให้เก็บ “อสุจิ” ไว้ก่อนทำการรักษา

มีแนวโน้มว่าจะหมดประจำเดือนเร็ว

โดยวิเคราะห์เบื้องต้นจากพันธุกรรม เช่น หากที่บ้านเคยมีประวัติครอบครัวหมดประจำเดือนเร็ว เป็นต้น

เคยได้รับการผ่าตัดซีสต์ที่รังไข่

เตรียมตัวฝากไข่

เมื่อว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ตกลงกันแล้วว่าต้องการมีลูก แจ้งความประสงค์กับคุณหมอ ซึ่งคุณหมอจะเริ่มให้ว่าที่คุณแม่เตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่ ดังนี้

  • ตรวจเลือด
  • ตรวจโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี และซิฟิลิส เป็นต้น
  • ตรวจโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย เป็นต้น
  • กระตุ้นไข่
    คุณหมอจะใช้ยาเพื่อกระตุ้นไข่ เร่งให้ร่างกายสร้างไข่ ให้มีไข่มากกว่า 1 ใบ แต่เป็น 10-20 ใบ คุณหมอจะพยายามเก็บในครั้งเดียวให้ได้มากที่สุด และเพื่อป้องกันความผิดพลาด ยาที่ใช้กระตุ้นจะเป็นยาชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำเด็กหลอดแก้ว โดยการฉีดกระตุ้นรังไข่ทุกวัน ประมาณ 4-5 วัน จากนั้น คุณหมอจะนัดตรวจดูว่ามีปริมาณไข่เพิ่มขั้นเยอะหรือไม่? และขนาดของไข่ว่าใช้ได้หรือยัง?
  • ดูดไข่
    เมื่อไข่ตกแล้ว คุณหมอจะนัดมาดูดไข่ ในช่วงที่คุณแม่มีประจำเดือน โดยจะเจาะเลือด อัลตราซาวน์ เพื่อดูว่าไข่อยู่ข้างไหน จำนวนเท่าไหร่ เมื่อได้จำนวนไข่ที่มากพอ คุณหมอจะเริ่มดูดไข่ของว่าที่คุณแม่ในช่วงประมาณวันที่ 2-3 ของการมีประจำเดือน

    ขั้นตอนการดูดไข่

    เมื่อคุณหมอเห็นว่ามีจำนวนไข่มากพอและขนาดที่ใช้ได้แล้ว คุณหมอก็จะทำการดูดไข่ โดยคุณหมอจะให้ยานอนหลับประมาณ 10-15 นาที คุณหมอจะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอด และใช้เข็มเล็กดูดไข่ทั้งหมดออกมา คุณหมอจะดูดไข่ออกมาก่อนที่ไข่จะตก เพราะถ้าไข่เดินทางมาท่อนำไข่แล้วจะเก็บได้ยาก

    หลังจากดูดออกมาแล้ว คุณหมอจะนำไข่ไปเก็บไว้ในตู้เย็นพิเศษที่มีไนโตรเจนเหลว เพื่อให้ไข่คงสภาพสมบูรณ์และพร้อมนำออกมาใช้งาน เมื่อว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการมีลูกค่ะ

    การนำไข่ออกมาใช้

    • นำไข่มาละลาย
    • ตรวจหาเซลล์ไข่ที่มีชีวิต โดยปกติแล้วจะมีโอกาสรอดถึง 90-95%
    • ใช้วิธี “อิกซี่ (ICSI)” ในการทำปฏิสนธิ โดยนำเซลล์อสุจิใส่เข้าไปในไข่ใบต่อใบ เพราะเซลล์ไข่ที่แช่แข็งไว้บางทีไข่จะหนาและแข็ง จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ช่วย
    • เมื่อปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว คุณหมอจะใส่กลับเข้าไปในมดลูก เพื่อการตั้งครรภ์

    ข้อดีของการฝากไข่

    • การฝากไข่ทำให้คุณภาพของไข่และตัวอ่อนดีขึ้น
    • เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
    • ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางพันธุกรรมที่ผิดปกติของตัวอ่อนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีเนื้องอก ถุงน้ำในรังไข่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งถ้าในอนาคตมีการลุกลามของโรค รังไข่อาจถูกทำลาย ทำให้คุณภาพในการตั้งครรภ์ก็จะด้อยลงไป
    • หากมีกรณีที่ว่าที่คุณแม่เป็นมะเร็งในรังไข่ อาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง หรือต้องทำการรักษาด้วยการฉายแสงหรือทำเคมีบำบัด เหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รังไข่เสียหาย หากร้ายแรงมากอาจทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

    ข้อเสียของการฝากไข่

    • ค่าใช้จ่ายสูง
    • ว่าที่คุณแม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากการใช้ยากระตุ้นไข่ และการดมยา
    • สำหรับไข่ที่แช่แข็งไว้แล้วก็ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่า ในอนาคตเมื่อนำไข่มาละลายแล้วจะมีประสิทธิและคุณภาพเท่าเดิมหรือไม่
    • ในกรณีที่ไม่ได้แต่งงาน หรือว่าที่คุณพ่อมีปัญหาในเรื่องคุณภาพของอสุจิไม่ดี ก็อาจส่งผลให้คุณภาพของตัวอ่อนด้อยลง และส่งผลให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

    สำหรับว่าที่คุณแม่คนไหนที่ได้รู้ข้อมูลเบื้องตนอย่างนี้แล้วยังและมีความสนใจที่จะฝากไข่อยู่ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่นี่เลยค่ะ “ฝากไข่ที่ไหนดี ราคา และโรงพยาบาลรับฝากไข่


    จะฝากไข่ที่ไหนดี อยากรู้ราคาคร่าว ๆ ด้วย? บทความที่รวบรวมราคาการฝากไข่ พร้อมแนะนำโรงพยาบาล เบอร์โทรที่ให้บริการรับฝากไข่ คลิกที่นี่