Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ส่งลูกเรียนที่ไหนดี ระหว่าง EP (English Program) หรือ สายสามัญ พร้อมข้อมูล 6 ประเภท โรงเรียน

ส่งลูกเรียนที่ไหนดี ระหว่าง EP (English Program) หรือ สายสามัญ พร้อมข้อมูล 6 ประเภท โรงเรียน

เมื่อถึงวัยที่ลูกต้องเข้าเรียน คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจจะกำลังคิดไม่ตกว่า จะให้ลูก เรียน English Program, เรียน International Program หรือจะเป็นสายสามัญดีวันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจมาฝากค่ะ

International Program และ English Program

รศ.ดร. เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ประธานโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูนานาชาติ (International Graduate Diploma Program) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)เปิดเผยว่า การจะให้นักเรียนที่เลือกเรียนแผนนี้ (IE และ EP)แล้วประสบความสำเร็จทั้งด้านการศึกษาและด้านภาษาแล้วควรพิจารณาที่ตัวผู้สอนก่อน ดังนี้

  1. ตัวผู้สอนต้องมีความพร้อมและความสามารถ
  2. ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับวิชาที่จะสอยเด็ก
  3. มีวุฒิการศึกษาที่ดี

แต่โดยมากที่พบครูและอาจารย์ผู้สอนในแผน IP และ EP เอง ส่วนใหญ่เป็นเพียงเจ้าของภาษา ส่วนมากไม่มีวุฒิการศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวกับการสอน หรือไม่มีใบประกาศนียบัตรประกอบวิชาชีพครู ตามที่กฎกระทรวงการศึกษากำหนด โดยเฉพาะหลักสูตรที่จะสอนต้องเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหากเป็นแบบนี้แล้วจะทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะถ่ายทอดความรู้หรือไม่สามารถที่จะสอนให้เด็กเข้าใจได้

การประเมินผลในโรงเรียน IP และ EP

เนื่องจากหลักสูตรที่นักเรียนจะต้องเรียนนั้น ต้องเป็นหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้น ดังนั้น นักเรียนที่เรียนในโปรแกรม IP และ EP จะใช้หลักสูตรที่แปลจากตำราภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของนักเรียนทั้ง 2 โปรแกรมนี้

ดังนั้น นักเรียนจึงต้องเรียนทั้ง 2 ภาษาคือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะเป็นข้อบังคับที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ การวัดและการประเมินผลยังไม่เป็นสากลเท่าที่ควร คือ การใช้หลักการประเมินตามการเรียนในหลักสูตรภาษาไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วการจะประเมินว่าหลักสูตรดีหรือไม่ดีนั้น ควรให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินหรือตัดสินใจเอง

แนวคิดในการเลือกเรียน

  1. ตัวโรงเรียนเองไม่ว่าจะเป็นความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  2. ผู้บริหารของโรงเรียน พิจาณาจากวิสัยทัศน์ที่ดีของผู้บริหาร
  3. ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ประโยชน์ของเด็กต้องมาก่อน
  4. มีแนวทางด้านคุณธรรมจริยธรรมที่ดี
  5. ชื่อเสียงโรงเรียน

ทั้งหมดนี้…จะรู้ได้อย่างไร? คุณพ่อคุณแม่ต้องทำการบ้านค่ะ โดยการไปหาข้อมูลจากคนรู้จัก เพื่อนบ้านที่เค้ามีลูกในวัยเรียนเหมือนกัน การได้พูดคุยกับเด็กเอง ถ้าเป็นไปได้ ไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนและไปคุยกับผู้บริหารหรือคุณครูในโรงเรียนนั้นๆ ค่ะ ก็จะได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นค่ะ

โรงเรียนที่มีเกียรติประวัติดี

โรงเรียนที่มีเกียรติประวัติดี คือ โรงเรียนที่มีป้ายโชว์ว่าเด็กนักเรียนคนนี้สอบชิงทุนต่างประเทศได้ หรือเด็กชายคนนั้นสอบติดมหาวิทยาลัยคณะนี้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ อะไรประมาณนี้เป็นต้น จะว่ากันตามจริงแล้ว ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เน้นตรงนี้มาก เพราะหากลูกของเราได้เรียนที่โรงเรียนนี้จริง แต่ตกเย็นต้องมานั่งทำการบ้านกองพะเนิน ไม่มีเวลาเล่น ไม่มีเวลาสนุกตามวัยของเค้าที่ควรจะเป็นก็จะทำให้เด็กเครียดซะเปล่า ๆ
สิ่งที่ควรปลูกฝังลูก คือ ความตั้งใจเรียน เพราะหากเด็กมีความตั้งใจ มีความขยันแล้ว เค้าก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจ ส่งเสริมเค้าก็พอ

ไม่ควรเน้นแต่วิชาการอย่างเดียว

เด็กหลายคนที่ขยันเรียน ตั้งใจเรียนมากแต่…ขาดทักษะการใช้ชีวิต คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกโรงเรียนที่มีการสอนเรื่องจริยธรรม คุณธรรม การใช้ชีวิตกับคนรอบข้าง หรือการทำกิจกรรมกับคนรอบข้าง เพื่อปลูกฝังให้เค้าเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง และการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม
ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่จะรู้โดยการสอบถามคุณครูที่โรงเรียนได้เลยค่ะ

เลือกโรงเรียนใกล้บ้าน

ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน ถึงแม้จะเลือกโรงเรียนที่ดีมากอย่างไร แต่หากลูกต้องใช้ชีวิตอยู่บนถนนนาน ๆ รองจากที่บ้านและโรงเรียนข้อนี้ก็ไม่ไหวค่ะ เพราะเด็กต้องตื่นแต่เช้าตรู่ หากบ้านไหนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้านด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเครียดกันไปใหญ่ ส่งลูกก็สาย เข้างานก็สาย ไม่มีเวลาเหลือทำกิจกรรมร่วมกัน คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ พิจารณานะคะ

ค่าใช้จ่าย

การเลือกโรงเรียนไม่ว่าจะเป็น IP หรือ EP หรือ สายสามัญก็ตาม หลักๆ แล้ว เรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นตัวแปรหลัก ซึ่งถ้าแพงไป คุณพ่อคุณแม่ก็จะรับไม่ไหว ทำให้เกิดความเครียด ส่งต่อไปยังลูกอีก ดังนั้น การเลือกโรงเรียนควรพิจารณาจากกำลังเงินของคุณพ่อคุณแม่เองจะดีที่สุดค่ะ

6 ประเภทโรงเรียน

โรงเรียนรัฐบาล

จุดเด่นของโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนที่ใครหลาย ๆ คนมองเป็นตัวเลือกธรรมดาตัวหนึ่ง ความจริงแล้วโรงเรียนรัฐบาลมีข้อดีหลายข้อนะคะ

  • ค่าเทอมไม่แพง
  • มีสังคมที่หลากหลาย
  • ได้ใช้ชีวิตแบบติดดิน
  • ความมีชื่อเสียง
  • อยู่ใกล้บ้าน
  • ผู้ปกครองเคยเป็นศิษย์เก่า

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยลำดับต้น ๆ ที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลนั้นคือ ค่าเทอมไม่แพงเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 – 6,000 บาทต่อปี

โรงเรียนคาทอลิก

โรงเรียนคาทอลิกเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีจุดเด่นคือ

  • วิชาการเด่น
  • สังคมกว้างขวาง
  • คอนเนคชันกว้างไกล

เด็กที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนนี้ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องนับถือศาสนาคริสต์นะคะ กลับกันส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธนี่แหละ เพียงแต่พื้นฐานของโรงเรียนประเภทนี้คือ คริสต์เท่านั้นเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ราว ๆ 80,000 – 90,000 บาทต่อปี ซึ่งถ้าเรียนหลักสูตร English Program ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับหลักสูตรสามัญที่โรงเรียน

แม่โน้ตให้น้องมินเรียนที่โรงเรียนคาทอลิก แบบสองภาษาค่ะ เพราะยังอยากให้ลูกได้เรียนภาษาไทยอยู่ และที่สำคัญทางครอบครัวเห็นว่าลูกชอบเรียนภาษาอังกฤษ และพูดภาษาได้ตั้งแต่อายุเกือบ ๆ 3 ขวบ แต่เป็นประโยคสั้น ๆ นะคะ ซึ่งการจะเลือกโรงเรียนให้ลูกต้องพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัย ที่สำคัญคือ เรื่องค่าใช้จ่าย เพราะไม่ใช่ว่าค่าเทอมอย่างเดียวแล้วจบ

โรงเรียนสาธิต

โรงเรียนสาธิตเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะศึกษาศาสตร์หรือคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ จุดเด่นของโรงเรียนประเภทนี้คือ

  • มีการเรียนการสอนที่นอกกรอบ
  • เป็นการปูทางเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
  • วิชาการเข้ม
  • มีกิจกรรมเยอะ

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 25,000 – 50,000 บาทต่อปี แต่ไม่ค่อยเด่นในเรื่องของภาษาเท่าไหร่

โรงเรียนทางเลือก

มาระยะหลังนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยได้ยินชื่อโรงเรียนทางเลือกเยอะขึ้น ซึ่งโรงเรียนทางเลือกนี้เป็นโรงเรียนที่อิสระจากการควบคุมของรัฐบาล มีการเรียนการสอนที่ต่างจากการเรียนการศึกษากระแสหลัก โดยจะเน้นการเรียนนอกห้องเรียน เน้นเชิงปฏิบัติ ซึ่งจุดเด่นของโรงเรียนประเภทนี้ คือ

  • เน้นเรียนเชิงปฏิบัติ
  • ได้ใกล้ชิด และสัมผัสธรรมชาติ
  • มีกิจกรรมให้ได้ทำ และได้เรียนรู้มากมาย

ค่าจ่ายของโรงเรียนทางเลือกเฉลี่ย 25,000 – 50,000 บาทต่อปี บางที่อาจไปถึงหลักแสนต้น ๆ แต่คือ แค่ระดับอนุบาลนะคะ

โรงเรียนสองภาษา

จุดเด่นของโรงเรียนสองภาษา คือ

  • ได้เรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  • ราคาไม่สูงเท่าโรงเรียนนานาชาติ
  • เด็กยังได้เรียนหลักสูตรภาษาไทย

โรงเรียนสองภาษาหรือ Bilingual เป็นการเรียนการสอนที่มีหลักสูตรต่อยอดมาจากการสอนแบบไทยปกติ แต่จะมีในบางวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ในระดับชั้นอนุบาลจะสามารถสอนภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50% ของวิชาที่สอนทั้งหมด และในระดับประถมศึกษาจะสอนเป็นภาษาอังกฤษได้เฉพาะวิชาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพลศึกษา เป็นต้น โดยที่ค่าใช้จ่ายจะตกราว ๆ 80,000 – 100,000 บาท ต้น ๆ ต่อปี

โรงเรียนนานาชาติ

ประเภทสุดท้ายนี้ โรงเรียนนานาชาติมีจุดเด่นคือ

  • ใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนกับสังคมต่างชาติ
  • สอนด้วยหลักสูตรต่างประเทศ
  • ภาษาอังกฤษดีเยี่ยม

สำหรับ โรงเรียนนานาชาติจะมีค่าใช้ค่อนข้างสูงประมาณ 300,000 – 700,000 บาทต่อปี โดยจะใช้หลักสูตรของอังกฤษ อเมริกา หรือออสเตรเลียในการเรียนการสอน แต่ก็จะมีวิชาภาษาไทยเป็นวิชาบังคับด้วย

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วคุณพ่อคุณแม่จะเลือกแบบไหนคงต้องมีหลาย ๆ ปัจจัยเข้าเป็นตัวประกอบ เพื่อการตัดสินใจโดยเฉพาะในระดับชั้นอนุบาล ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถดูข้อมูลเติมได้จาก “โรงเรียนอนุบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทย พร้อมค่าใช้จ่าย 2563” ค่ะ


อยากรู้จังว่าโรงเรียนอนุบาลไหนที่ดีสุดในประเทศไทย พร้อมค่าใช้จ่ายด้วยจะดีมาก? คำตอบรอคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้วที่นี่ค่ะ คลิกเลย