Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สิ่งที่ต้องระวังในการเล่นโซเชียลมีเดีย จากสร้างสุขอาจกลายเป็นสร้างทุกข์ให้ตัวเองและลูกได้

สิ่งที่ต้องระวังลูกในการเล่นโซเชียลมีเดีย จากสร้างสุขอาจกลายเป็นสร้างทุกข์ให้ตัวเองและลูกได้

มา ณ วันนี้คงต้องยอมรับกันว่าเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น และจะมากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ เราเองในฐานะที่เป็นพ่อเป็นแม่คงไม่สามารถที่จะต้านทานการหลั่งไหลของเข้ามาของมันได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำต่อไปก็คือ “ทำอย่างไรให้โซเชียลมีเดียสร้างสุขให้เราและลูกมากกว่าความทุกข์

ทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ “โซเชียลมีเดีย” ก็เป็นดาบสองคม ลูกเกิดในยุคดิจิทัลจะไม่ให้เขารู้จักกับหน้าจอเลยก็คงจะลำบาก (เพราะหลักสูตรของอนุบาลก็มีให้เรียนแล้ว) อ่ะ…เดี๋ยวมาดูกันในรายละเอียดเลยค่ะที่ว่าทุกข์นั้นทุกข์อย่างไร

เรื่องจริงจากพ่อแม่ในทุกวันนี้

คุณแม่ท่านหนึ่งมาถามว่า

“ลูกเขียนอักษร ก-ฮ ได้หรือยัง? แล้วภาษาอังกฤษล่ะค่ะ? เขียนได้ไหม?”

ความจริงแล้วเด็กที่อยู่ในวัยอนุบาล 1 พัฒนาการที่สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่และทางโรงเรียนจะช่วยกระตุ้นได้ก็คือ เรื่องของการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และค่อย ๆ พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องของการเขียนตัวอักษรได้นั้นยังไม่จำเป็นสำหรับเด็กในวัยนี้

คำถามคือ

“เพราะอะไรคุณแม่ท่านนั้นถึงได้กังวลเรื่องนี้?”

เพราะ…คุณแม่ท่านนั้นไปเห็นลูกของเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกันบนโลกโซเชียล สามารถเขียนได้แล้ว และยังสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากเกินวัย เห็นลูกของคนอื่นทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ดีกว่าลูกของตัวเอง พูดภาษาอังกฤษได้เป๊ะมาก รู้ด้วยแบบไหนสำเนียงอเมริกัน แบบไหนสำเนียงอังกฤษ รวมถึงเรียนได้ที่ 1 เล่นกีฬาก็ชนะตลอด เหล่านี้จึงทำให้คุณแม่เกิดอาการพารานอยด์

“แบบนี้จะบอกว่าโซเชียลมีเดียนั้นอันตรายทำให้เรามีความทุกข์ หรือตัวเราเองที่พาตัวเข้าไปเสพมัน?”

5 สิ่งที่พึงระวังในการเล่นโซเชียลมีเดีย

การเปรียบเทียบ

การเปรียบเทียบในข้อนี้หมายถึง การที่คุณแม่เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับแม่คนอื่น ๆ และเอาลูกเราไปเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่น

โน้ตจะพูดอยู่เสมอค่ะว่า “แม่ทุกคนเป็นแม่ที่เก่งและดีที่สุดอยู่แล้ว” แต่…จนกระทั่งเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคอื่นนี่แหละ เทียบในทุกด้าน เช่น ความสวย ความรวย สิ่งนั้นเขามี เราไม่มี ทำไมเราไม่มีอย่างเขา ยิ่งคิดก็ยิ่งเป็นทุกข์ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งสิ่งที่เรามีก็ดีอยู่แล้ว แบบนี้ยิ่งจะทำให้คุณแม่เป็นทุกข์ มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มี

หรือแม้แต่ในเรื่องของลูก เช่น ทำไมเด็กคนนั้นพูดภาษาอังกฤษได้เป๊ะเลย เด็กคนนั้นได้เรียนเปียโนด้วย ทำไมลูกเราไม่มีอะไรแบบนี้บ้างนะ ทีนี้คุณแม่ก็พยายามไขว่ขว้า ทั้งผลัก ทั้งดันให้ลูกได้ทำบ้าง ทั้ง ๆ ที่ ก่อนหน้านี้ลูกก็มีความสุขดีอยู่แล้ว

การเชื่ออย่างขาดการพิจารณา และแชร์อย่างไม่กลั่นกรอง

ในทุกวันนี้ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ(ถือ) จะโพสต์หรือจะเสพข่าวอะไรก็ได้ แต่…ก่อนจะเชื่อหรือจะแชร์อะไร ควรฉุกคิดนิดหนึ่งว่าข้อมูลนั้น ๆ จะจริงเท็จแค่ไหน ถ้าไม่มั่นใจไม่แชร์เลยดีกว่าค่ะ เพราะอาจผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งเป็นคดีอาญาด้วยนะคะ

เสพข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกที่มากเกินไป

สำหรับข้อมูลในการเลี้ยงลูกนั้น โน้ตจะคิดอย่างนี้เสมอค่ะว่า “มันคือไกด์ไลน์เท่านั้น” ไกด์ไลน์คืออะไร? สำหรับโน้ตมันก็คือเป็นแค่แนวทาง เป็นตัวเลือก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ปรับใช้ให้เหมาะกับลูกของคุณพ่อคุณแม่

แต่การที่คุณพ่อคุณแม่เสพข้อมูลในการเลี้ยงลูกมากไปจนทำให้เกิดความเครียดนั่นแสดงว่า คุณพ่อคุณแม่กำลังพยายามทำให้ตรงตามทฤษฎีทุกอย่าง ซึ่งบางอย่างหรืออาจจะหลายอย่างไม่สามารถใช้ได้กับลูกของคุณพ่อคุณแม่ เพราะฉะนั้น เสพข้อมูลเยอะได้แต่ที่สำคัญ คือ การนำไปประยุกต์ใช้กับลูกต่างหากค่ะ

การโพสต์ภาพลูกในโซเชียลมีเดีย

เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพึงระวังค่ะ จริงอยู่ความที่เราเป็นพ่อแม่เด็ก มีรูปลูกที่น่ารัก แม้จะงอแง ร้องไห้ ภาพที่ลูกโป๊ ลูกทำอะไรตลก ๆ แต่ภาพนั้นจะอยู่บนโลกโซเชียลตลอดไป

เมื่อลูกโตขึ้นและมาเห็นภาพดังกล่าว อาจทำให้ลูกอับอายได้ และอาจโดนกลั่นแกล้งจากสังคม ซึ่งกลายเป็นลูกถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวโดยที่เขาเองไม่สามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองได้เลย

ที่สำคัญ ภาพเหล่านั้นอาจนำไปสู่อันตรายใหญ่หลวงที่คุณพ่อคุณแม่อาจคิดไม่ถึงได้ เช่น การลักพาตัว การล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ เพราะอย่าลืมว่าในภาพเหล่านั้นมีรายละเอียดของชื่อโรงเรียน ชื่อเด็ก ที่อยู่ รวมถึงกิจวัตรที่เด็กทำเป็นประจำ

ออกไปหาประสบการณ์จากภายนอก

“ความคิดสร้างสรรค์หาไม่ได้จากโต๊ะทำงานหาไม่ได้ฉันใด ความคิดสร้างสรรค์ของลูกก็หาไม่ได้จากในบ้านฉันนั้น”

การได้ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ข้างนอกในวันหยุดกับครอบครัว ใช้เวลาคุณภาพด้วยกันจะดีกว่าค่ะ

เพราะความสุขที่ได้จากยอดไลค์ไม่ยั่งยืนเท่ากับความสุขที่มีให้กันภายในครอบครัวค่ะ