คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “เงิน” คือ ส่วนสำคัญในชีวิต และนับวันยิ่งหายากมากขึ้นทุกที หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการเห็นลูกมีชีวิตที่ยากลำบากในอนาคต ก็ต้องเริ่มสอนเค้าให้รู้จักการใช้เงิน ออมเงิน หรือสอนให้เค้ารู้จักใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเสียตั้งแต่วันนี้แล้วล่ะค่ะ
เรามาดูวิธีกระตุ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ และวิธีการสอนในแต่ละช่วงวัยกันเลยดีกว่าค่ะ
สอนลูกให้รู้จักค่าของเงิน
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะกำลังมีลูกที่อยู่ในวัยเด็กเล็ก (อาจจะซักประมาณ 5 ขวบ) ในวัยนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังลูกได้แล้วค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องค่าของเงิน
สอนลูกว่าถ้าอยากได้เงินต้องทำอย่างไร
การสอนลูกแม่โน้ตจะยึดไว้อย่างนี้เสมอค่ะว่า “การสอนลูกต้องพูดความจริงเท่านั้น” คุณพ่อคุณแม่บางครอบครัวเวลาที่ลูก ๆ ถามว่าเงินได้มาอย่างไร ก็มักจะตอบเลี่ยง ๆ หรือส่ง ๆ ไป เช่น ก็ได้มาจากนายจ้าง ซึ่งความจริงแล้วการสอนแบบนี้เป็นเรื่องควรเลี่ยงค่ะ
การสอนลูกหรือจะอธิบายกับลูกว่า “เงินได้มาอย่างไร” ควรอธิบายกับลูกไปตามความจริงว่า ทุกคนที่อยากได้เงินต้องทำงาน และควรเป็นงาน เป็นอาชีพที่สุจริต เมื่อเราทำงานเสร็จแล้วเราก็จะได้เงินเป็นค่าตอบแทน
สอนลูกว่าของชิ้นไหนจำเป็น และชิ้นไหนยังไม่จำเป็น
โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีก่อนค่ะ เช่น คุณแม่อยากได้เสื้อผ้าใหม่ ทั้ง ๆ ที่ เพิ่งซื้อมาใหม่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แต่คุณแม่ยับยั้งชั่งใจได้ แบบนี้ก็สามารถสอนให้ลูกฟังได้ค่ะ ว่าคุณแม่พิจารณาแล้วว่ามันยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นในตอนนี้ คุณแม่จึงตัดสินใจไม่ซื้อ เป็นต้นค่ะ
สอนลูกให้ตั้งงบประมาณการใช้จ่าย
คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีนี้ก็ได้ค่ะ เช่น ถ้าวันนี้คุณแม่มีโปรแกรมที่จะต้องออกไปซื้อของที่ตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต
- ก่อนออกจากบ้านให้คุณแม่ตั้งงบประมาณก่อน พร้อมกับลิสต์รายการที่ต้องการซื้อมาให้หมดก่อน โดยให้ลูกมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ลิสต์มาก่อนค่ะทุกรายการทั้งรายการที่จำเป็นและไม่จำเป็น
- มานั่งดูกับลูกทีละข้อ โดยพิจารณากับลูก ให้ลูกได้ตัดสินใจว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่จำเป็น และไม่จำเป็น เพื่อจำกัดให้อยู่ในงบประมาณ
- เมื่อไปจ่ายตลาด หากคุณแม่ได้ของทุกอย่างที่จำเป็น แล้วแต่ยังมีงบประมาณเหลืออยู่ แบบนี้ก็อาจจะซื้อของที่ลูกอยากได้ก็ได้ค่ะ *ข้อนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละครอบครัวนะคะว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ*
การทำแบบนี้ การที่ให้ลูกได้เรียนรู้จากชีวิตจริงนั้น จะทำให้ลูกเข้าใจและจดจำถึงวิธีการได้ และถ้ายิ่งทำแบบนี้เป็นประจำจะทำให้ลูกซึมซับจนกลายเป็นพฤติกรรมและเป็นนิสัยติดตัวไปจนโตได้ค่ะ
สอนลูกให้บริหารเงิน โดยให้เป็นรายสัปดาห์
หลังจากที่คุณแม่ได้มีการบริหารงบประมาณให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว คราวนี้ถึงคราวที่ต้องให้ลูกได้แสดงฝีมือในการบริหารเงินเองบ้างแล้วล่ะค่ะ ด้วยการให้เงินค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ แล้วมาดูกันว่าสุดสัปดาห์นั้น ๆ เขาจะมีเงินเหลือเท่าไหร่ แล้วค่อยนำไปหยอดกระปุกต่อไป ก็จะได้เป็นเงินเก็บของลูกอีกด้วยค่ะ
ให้ดอกเบี้ยลูกเพิ่ม หากลูกออมเงินได้
เมื่อลูกบริหารเงินได้แล้ว ออมเงินในกระปุกออมสินได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองเสนอเงื่อนไขเพิ่ม เช่น ถ้าลูกออมเงินได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็จะให้ดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นตามสัดส่วนของเงินออม เพื่อเป็นแรงจูงใจในการออมอีกทางหนึ่งค่ะ
สอนลูกออมเงินในแต่ละช่วงวัย
วัยเตาะแตะ หรือ วัยหัดเดิน
ก่อนจะสอนให้ลูกออมเงินในกระปุก คุณพ่อคุณแม่อาจพาลูกไปเดินเลือกซื้อกระปุกเองก็ดีนะคะ เพราะเค้าจะกระตือรือร้นในการที่จะหยอดกระปุกที่เค้าเลือก
เริ่มแรก…ให้คุณพ่อคุณแม่นำเงินของตัวเองให้ลูกนำไปใส่กระปุกของเค้าก่อน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พร้อมกับสอนหรืออธิบายลูกไปด้วยในตัว ว่าการออมดีหรือมีประโยชน์อย่างไรกับเค้าในอนาคต แม้ว่าเค้าอาจจะยังไม่สามารถเข้าใจได้ในทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ทำให้เค้าได้รู้จักการหยอดกระปุก การออมแล้วล่ะค่ะ แต่ต้องทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวันนะคะ แล้วเมื่อเค้าอยากได้ของเล่นชิ้นไหน ก็ให้นำเงินที่เค้าออมนี้ไปซื้อให้เค้า เพื่อเค้าจะได้เรียนรู้ว่ากวาจะได้ของเล่นที่เค้าชื่นชอบนั้น ต้องใช้เวลานานขนาดไหน…กว่าจะได้มา
วัย 5-9 ขวบ
เด็กในวัยนี้ ถึงแม้เค้าจะโตขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังเด็กมาก ดังนั้น เค้าอาจจะยังไม่สามารถเรียนรู้หรือเข้าใจในเรื่องการใช้จ่ายเงินแบบจริงจังหรือซับซ้อนได้
แต่…คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเค้าแบบนี้ได้ค่ะ เช่น เวลาไปเที่ยวที่ไหน แล้วบังเอิญลูกเห็นของเล่นที่อยากได้และมีมากกว่า 1 ชิ้น ที่สำคัญ ลูกงอแงจะเอาทั้งหมดให้ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายเหตุผลกับลูกว่า
“โอเค พ่อกับแม่จะซื้อให้ แต่ว่าเงินที่เรามีและสามารถซื้อให้ได้นั้น มีจำกัด สามารถซื้อได้แค่ชิ้นเดียวเท่านั้น ลูกต้องเลือกมาเพียงชิ้นเดียวค่ะ”
หลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจกำชับเค้าโดยชี้ให้เค้าเห็นว่า กว่าจะได้ของเล่นมาแต่ชิ้นนั้นมันไม่ง่าย ดังนั้นลูกต้องถนอมของเล่นด้วย เป็นต้นค่ะ
วัย 10 ขวบขึ้นไป หรือ วัยประถม
วัยนี้คุณพ่อคุณแม่เริ่มให้เงินลูกโรงเรียนแล้ว แต่จะให้เป็นรายเดือนหรือรายวันก็แล้วแต่สะดวกค่ะ ถ้าให้เป็นรายเดือน คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้เค้ารู้จักบริหารเงินในช่วงแรก เช่น เงินค่ารถ ค่าอาหาร กลางวัน ค่าขนม แล้วที่เหลือก็เก็บออม เผื่อว่าลูกอยากได้อะไร ก็ให้เอาเงินออมนี้ไปซื้อ
หากเดือนไหนที่ไม่เหลือเงินออม แต่ลูกเกิดอยากซื้อของเล่นขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเค้าได้ค่ะว่า เพราะลูกใช้เงินจนหมดแล้ว จึงไม่มีเงินเหลือออมก็ทำให้ไม่สามารถซื้อของที่อยากได้ได้ ดังนั้น ก็ต้องรอเดือนหน้าค่ะ
วัยรุ่น
เป็นวัยที่สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องการเงินที่ซับซ้อนได้มากขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อให้เค้าได้เรียนรู้ระบบธนาคารและเพื่อการสร้างวินัยให้กับลูก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องการเงินนี้ยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณพ่อคุณแม่อยู่ เช่น การถอนเงิน จะให้ใช้เอทีเอ็มหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณพ่อคุณแม่ตามความเหมาะสม
แนะนำให้ลูกเก็บออมทุกเดือน จนครบปี แล้วถ้าลูกอยากได้อะไรก็ให้นำเงินที่สะสมในธนาคารนี้มาซื้อ
ข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้ลูกได้ด้วยการออมแบบ Provident Fund ก็ได้นะคะ เช่น ถ้าลูกออมเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่ก็สมทบเพิ่มเท่านั้น
สำหรับการออมแต่ละช่วงวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถตั้งเป้าให้ลูกตามสมควรได้นะคะ ว่าใน 1 เดือนควรออมให้ได้เท่าไหร่เป็นอย่างน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องให้ลูกอดข้าว อดน้ำ มาเพื่อให้เงินเหลือนะคะ ลองนั่งคำนวณเงินกับลูกดูว่า ใน 1 เดือน หักค่าขนม ค่ารถ ฯลฯ แล้ว เงินควรจะเหลือเท่าไหร่ ควรเก็บออมเท่าไหร่ หากลูกทำได้ตามเป้า อาจมีรางวัลหรือขนมตามสมควร เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้เค้าได้รู้จักการออม รู้จักค่าของเงินค่ะ