Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

5 เรื่องพัฒนาสมองลูกน้อยที่พ่อแม่อาจไม่รู้

5 เรื่องพัฒนาสมองลูกน้อยที่พ่อแม่อาจไม่รู้

พัฒนาการด้านสมองของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณพ่อคุณแม่มีการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ก็จะส่งผลให้ลูกน้อยมีรากฐานของการเรียนรู้ที่ดีและมีศักยภาพ ลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งช่วงเวลาที่สำคัญของการกระตุ้นการทำงานของสมองลูกน้อยจะอยู่ในช่วง 3 ปีแรก วันนี้โน้ตจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักกับสมองของลูกน้อยกันค่ะ

5 เรื่องพัฒนาสมองลูกน้อยที่พ่อแม่อาจไม่รู้

สมองของลูกน้อยเริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ในท้องแม่

หืมมม…จริงหรอ? อะไร? ยังไง? มาค่ะ ๆ มาติดตามกันต่อ
จริงอยู่คุณแม่อุ้มท้องเพียง 9 เดือน แต่สมองของลูกน้อยในครรภ์มีการสร้างเซลล์สมองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 2 เดือนแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์แล้วค่ะ นอกจากนี้เมื่อลูกน้อยในครรภ์อายุได้ 2 – 3 เดือน เขายังสามารถรับรถรู้รสชาติของน้ำคร่ำได้อีกด้วย ในเดือนถัดมาที่อายุในครรภ์ประมาณ 4 – 6 เดือน สมองก็จะเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น โดยที่สมองเริ่มที่จะควบคุมการขยับของร่างกายได้บ้างแล้ว ผ่านการดิ้นในครรภ์ของคุณแม่ และเมื่ออายุครรภ์เข้าไตรมาสสุดท้าย คือ เดือนที่ 7 – 9 สมองของลูกน้อยก็จะเริ่มมีรอยหยักเพิ่มขึ้น แถมจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้อีกด้วยค่ะ แม้จะอยู่ในท้องก็ตาม

การสัมผัสช่วยกระตุ้นพัฒนาสมองของลูกได้

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูกสามารถทำได้ง่าย ๆ เลยค่ะ ผ่านการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการกอด การบีบนวดเบา ๆ หรือแม้แต่การให้ลูกเข้าเต้า เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกระตุ้นเซลล์สมองของลูกน้อยให้พัฒนาได้อย่างดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการสัมผัสจะเป็นการกระตุ้นให้สมองส่วนของ “ไชแนปส์ หรือจุดประสานประสาทให้สร้างเซลล์ในช่องว่างที่มีอยู่ในสมอง ทำให้เส้นใยในสมองแตกแขนงเพิ่มมากขึ้นนั่นเองค่ะ

การเชื่อมต่อของไชแนปส์ (Synapse) สามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้ง ภายในระยะเวลา 1 – 5 ปี แรก เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาทองสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะกระตุ้นการทำงานของสมองของลูกได้ดีที่สุดค่ะ

การให้ลูกกินนมแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาสมองของลูกได้

จากผลงานการวิจัยของ Lucas A พบว่า การให้ทารกกินนมแม่นั้นมีผลต่อสมอง ทำให้สมองมีพัฒนาการที่ดีโดยเฉพาะในด้านภาษา ยิ่งให้นมแม่มากเท่าไหร่สมองของลูกก็จะยิ่งมีการพัฒนาได้ดีมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากในน้ำนมแม่มีน้ำตาลแล็กโทสสูงมากเมื่อเทียบกับนมทั่วไป ซึ่งน้ำตาลแล็กโทสจะถูกย่อยไปเป็นน้ำตาลกาแล็กโทส ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองนั่นเอง

ความเครียดเป็นตัวขัดขวางการใช้สมองเพื่อการเรียนรู้

เพราะเมื่อเด็กเกิดอาการเครียด กังวล หรือได้รับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจจนทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวนั้น เด็กก็จะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา อาทิ ต่อต้าน ดื้อ ก้าวร้าว ขาดสมาธิ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความฉลาด อารมณ์ และความจำ

คอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด หากเด็กเกิดความเครียด ร่างกายจะผลิตสารเคมีนี้ขึ้นมา ซึ่งสารนี้จะทำลายสมองส่วนคอร์เท็กซ์ (Cortex) หรือเปลือกสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความฉลาด กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความจำ ทำให้ลูกไม่พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

พัฒนาการของสมองพัฒนามาจากการเคลื่อนไหว

สมองจะถูกพัฒนาได้ก็มาจากกิจกรรมที่ลูกทำ การเคลื่อนไหวของร่างกายทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเกิดการเชื่อมต่อกัน โดยเฉพาะสมองซีกซ้ายที่ทำหน้าที่ในด้านของรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านความคิด ภาษา การพูด รวมถึงด้านการเขียน นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวยังส่งผลต่อ EQ (Emotional Quotient) ของเด็กในอนาคตอีกด้วยนะคะ เพราะทุกครั้งที่ลูกได้เคลื่อนไหว ลูกก็จะเกิดการเรียนรู้ ทำให้ลูกกล้าคิด กล้าทำ และเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองค่ะ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รู้กันอย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมที่จะกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูกกันนะคะ