ปฏิกิริยาสะท้อนกับเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองของทารก ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 ด้าน คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ทดสอบระบบประสาทของลูกน้อยได้นะคะ
สารบัญ
6 Reflexes ปฏิกิริยาสะท้อนกลับของทารก
ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ หรือ Reflex เป็นลักษณะการเคลื่อนไหวของทารกที่ควบคุมไม่ได้ สามารถเกิดขึ้นได้เอง หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่ปกติของทารกเอง รวมถึงเป็นการตอบสนองต่อการกระทำ หรือการที่ทารกได้รับการกระตุ้นทางใดทางหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำการตรวจ Reflex นี้ เพื่อเป็นการทดสอบดูว่าระบบสมองและระบบประสาทของทารกนั้นปกติหรือไม่ ซึ่ง Reflex บางอย่างที่เกิดสามารถหายไปได้เองเมื่อโตขึ้น
6 Reflexes ปฏิกิริยาสะท้อนกลับของทารก มีอะไรบ้าง
ปฏิกิริยาการหา (Rooting Reflex)
ปฏิกิริยาการหา จะเกิดขึ้นเมื่อลูกน้อยอายุได้ 2-3 เดือน และจะหายไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่เอานิ้วแตะหรือเขี่ยเบา ๆ ที่แก้มหรือมุมปากทั้งสองข้าง ลูกน้อยก็จะหันไปตามทิศทางของนิ้วที่เขี่ยนั้น และจะอ้าปาก พยายามงับ ซึ่ง Reflex ชนิดนี้จะใช้ช่วยทารกให้หาเต้านมของคุณแม่ เพื่อการดูดนมและเพื่อการอยู่รอด
ปฏิกิริยาการดูด (Sucking Reflex)
ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องจากปฏิกิริยาการหา (Rooting Reflex) โดยหลังจากเพดานปากของลูกน้อยได้รับการสัมผัส ก็เท่ากับลูกน้อยถูกกระตุ้นให้เกิดการดูดตามมา ซึ่งไม่ว่าจะเอาอะไรเข้าปากลูกน้อยก็ตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถทดสอบได้โดยการเอานิ้วเขี่ยที่ริมฝีปากลูกน้อยเบา ๆ ลูกก็จะอ้าปากและทำท่าดูดปากทันที
ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์คุณแม่แล้วค่ะที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และจะพัฒนาไปได้เต็มที่เมื่ออายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ ซึ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก ๆ ในช่วงแรกที่คลอดออกมาอาจจะมีความสามารถในด้านการดูดไม่ดีนัก เนื่องจากขาดการพัฒนาที่สมบูรณ์ของ Reflex นี้
แม่โน้ตคลอดน้องมินตอนอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ซึ่งก่อนออกจากโรงพยาบาล คุณหมอและพยาบาลมีการฝึกให้ลูกเข้าเต้าเพื่อทดสอบการดูดก่อน น้องมินทำได้ค่ะ แต่เขาจะกินได้ไม่อิ่ม เพราะมีอาการเหนื่อยก่อน จึงต้องออกมาป้อนนมแม่จากถ้วยต่อด้านนอก
ปฏิกิริยาโมโร (Moro Reflex)
ปฏิกิริยาโมโรนี้คือปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้นเมื่อทารกได้ยินเสียงดัง โดยปฏิกิริยาของทารกที่เกิดขึ้นก็คือ ทารกจะสะดุ้ง หรืออาจมีการผงกศีรษะไปด้านหลัง เหยียดแขนออกสุด แล้วดึงกลับเข้ามาเหมือนจะกอดตัวเอง ซึ่งหลังจากนั้นอาจมีการร้องไห้ตามมา
Moro Reflex นี้จะค่อย ๆ ลดลง เมื่อลูกน้อยอายุได้ 2-3 เดือน ซึ่งถ้าหากคุณแม่ไม่พบ reflex นี้ในทารกแรกเกิด เป็นไปได้ว่าอาจเกิดภาวะสมองได้รับอันตราย หรือเส้นประสาทเป็นอัมพาต
ปฏิกิริยาของคอ (Tonic Neck Reflex)
เช่นเมื่อทารกนอนหงาย และคุณแม่จับศีรษะหันไปด้านใดด้านหนึ่ง แขนด้านนั้นจะเหยียดออก ในขณะที่แขนอีกข้างจะงอ บริเวณข้อศอก reflex ชนิดนี้จะพบได้ในทารกอายุ 2-3 เดือน แต่ในบางราย reflex นี้อาจอยู่นานจนทารกอายุ 5-6 เดือนเลยก็มีค่ะ
ปฏิกิริยาการกำมือ (Palmar Grasping Reflex)
ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่อาจพบเห็นได้บ่อย ปฏิกิริยาการกำมือ หรือ Palmar Grasping Reflex จะเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่เอานิ้วเข้าไปสอดที่มือลูกหรือใช้นิ้วแตะบริเวณฝ่ามือ ลูกน้อยก็จะกำมือและจับนิ้วคุณแม่ไว้ชั่วครู่แล้วก็ปล่อย reflex ชนิดนี้พบได้เมื่อลูกน้อยอายุ 2-3 เดือน หรือบางรายอาจพบได้ถึง 5-6 เดือนค่ะ
ปฏิกิริยาการก้าวเท้า (Stepping Reflex)
ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่จับลูกให้ยืนขึ้น และเท้าสัมผัสกับพื้นที่เรียบแข็ง คุณแม่สามารถทดสอบได้โดยการจับลูกให้ยืนขึ้น ศีรษะยื่นไปด้านหน้าเล็กน้อย ทารกจะก้าวเท้า ทำท่าเหมือนเดินทีละก้าว โดยวางเท้าข้างหนึ่งไว้ข้างหน้า อีกข้างไว้ข้างหลัง reflex นี้สามารถได้ตั้งแต่แรกคลอด ไปจนถึงอายุ 5-6 เดือน
ลูกน้อยที่มีพัฒนาการที่สมบูรณ์หรือเป็นเด็กปกติจะมี reflex ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ค่ะ และจะค่อย ๆ หายไปเมื่อโตขึ้น แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าปฏิกิริยาบางอย่างยังไม่หายไป เมื่อถึงวัยอันควร แนะนำควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำนะคะ
ข้อมูลอ้างอิง รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังสี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน