Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทารกมีผื่นแพ้ตามตัว ควรรอให้หายเองหรือไปรักษา มีวิธีดูแลอย่างไร

ทารกมีผื่นแพ้ตามตัว ควรรอให้หายเองหรือไปรักษา มีวิธีดูแลอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจพบว่าลูกมีอาการผื่นแพ้ตามร่างกาย แต่ไม่แน่ใจว่าควรปล่อยไว้ รอให้หายเองดี หรือจะพาลูกไปหาหมอดี บางทีก็เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาการผื่นภูมิแพ้ในเด็กนี้ส่วนใหญ่มักพบกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ เหตุนี้จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ชะล่าใจไม่ได้พาลูกไปหาคุณหมอ จนทำให้เมื่อมีเกิดอาการก็จะเกิดการลุกลามกลายเป็นผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง อาจติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียได้

สาเหตุที่ส่งผลให้ลูกเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

จากข้อมูลหลังการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ เพิ่มขึ้น 3 – 4 เท่า ภายในระยะเวลา 40 ปี และเด็กไทยมากกว่า 50% พบว่ามีภาวะผื่นภูมิแพ้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแสดงอาการแพ้มากขึ้นจากปัจจัยอันได้แก่

  • กรรมพันธุ์ : หากคุณพ่อคุณแม่มีประวัติเคยเป็นโรคนี้ ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคในสัดส่วน 50 – 80%
  • สิ่งแวดล้อม : ได้แก่ สารเคมี สภาพอากาศ มลภาวะ อาหาร เสื้อผ้า เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ไร แมลง ฝุ่น แบคทีเรีย เชื้อรา บุหรี่ ซึ่งจะมีผู้ป่วย 10% ที่พบว่าเกิดจากอาหารบางชนิด เช่น ไข่ ถั่ว และนมวัว เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้

ประเภทของผื่นภูมิแพ้ที่พบบ่อยในทารก พร้อมวิธีการดูแล

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

สาเหตุ : เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ เหงื่อออกเพราะอากาศร้อน อากาศแห้งในฤดูหนาว สารเคมีที่ระคายเคืองต่อผิว (แชมพู สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม) รวมไปถึงอาหาร เช่น นมวัว ไข่ อาหารทะเล ไรฝุ่น
อาการ : มีผื่นขึ้นเป็นตุ่มใสหรือตุ่มแดงคัน พบมากบริเวณใบหน้า ด้านนอกของแขนและขา
วิธีดูแล : เมื่อหาสาเหตุได้แล้วว่าแพ้จากอะไร ให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น แพ้จากอาหารทะเลก็ควรงดอาหารทะเล เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่อ่อนโยนต่อผิวลูก แต่หากยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปปรึกษาคุณหมอค่ะ

กลากน้ำนม

สาเหตุ : เกิดจากผิวลูกโดนแสงแดดนาน จึงทำให้ผิวแห้ง
อาการ : ลักษณะเป็นผื่นวงกลมหรือวงรี สีขาวซึ่งจะดูจางกว่าสีผิวปกติ บางรายอาจมีขุย ๆ เล็กน้อย พบมากบริเวณใบหน้า ลำคอ ไหล่ และแขน กลากน้ำนมนี้ไม่มีอันตราย และหายได้เองเมื่อลูกโตขึ้น
วิธีดูแล : หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกถูกแสงแดดจัด ๆ เป็นเวลานาน ไม่อาบน้ำหรือล้างหน้าบ่อย ๆ เลือกใช้สบู่หรือแชมพูสูตรอ่อนโยนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

คราบไขมันที่หนังศีรษะ

อาการ : คราบไขมันจะดูคล้ายรังแค บางรายอาจลามไปที่หน้า ลำคอ และรักแร้
วิธีดูแล : ใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวของลูก ทาเบา ๆ บาง ๆ บริเวณคราบไขมัน ทิ้งไว้ 5 – 10 นาที แล้วค่อยสระออกด้วยแชมพูสำหรับเด็ก

ผื่นผ้าอ้อม

สาเหตุ : เพราะความอับชื้น เหงื่อ หรือปัสสาวะ อุจจาระที่สะสมในผ้าอ้อมสำเร็จรูป
อาการ : พบปื้นแดง เป็นตุ่มบริเวณต้นขาด้านใน ก้น อวัยวะเพศ
วิธีดูแล : ในช่วงที่อาการน้อย ๆ ควรทาขี้ผึ้งหรือครีมเคลือบผิว เพื่อป้องกันการเสียดสีกับผิวหนัง ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกทุกครั้งที่พบว่าเปียกชื้น

โรคผื่นภูมิแพ้

สาเหตุ : เกิดจากการแพ้นมวัว คุณแม่บางท่านไม่สามารถให้นมตัวเองได้จึงจำเป็นต้องใช้นมผสม หรือคุณแม่บางท่านให้นมแม่ได้แต่เกิดทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว เมื่อลูกกินนมแม่ก็ทำให้เกิดการแพ้อาหารที่แม่กินเข้าไปก็ได้ค่ะ
อาการ : มีผื่นแดงอักเสบอย่างรุนแรง คัดจมูกเรื้อรัง และน้ำหนักขึ้นช้า
วิธีดูแล : หากเกิดจากนมผงดัดแปลง ควรไปปรึกษาคุณหมอค่ะ แต่หากเกิดจากอาหารที่แม่กินเข้าไป คุณแม่ก็ควรงดอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว เช่น นมวัว คุกกี้ อาหาร และขนมทุกชนิด

วิธีป้องกันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง?

จากการศึกษาของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันของประเทศไทย พบว่า เด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพราะฉะนั้นจึงมุ่งเน้นในเรื่องการดูแลตัวเองของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์มากที่สุด แบ่งได้เป็น 4 วิธี ดังนี้

  • กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ คุณแม่ไม่ควรดื่มนมวัวในปริมาณที่มากกว่าปกติที่เคยทานก่อนการตั้งครรภ์
  • แนะนำให้ทารกกินนมแม่ให้นานอย่างน้อย 6 เดือน เพราะจากผลการวิจัยพบว่า หากลูกกินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 4 – 6 เดือน จะช่วยลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ในเด็กได้
  • ในระยะให้นมลูก คุณแม่ก็ควรทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ต้องเน้นที่อย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ต้องเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น นมวัว ไข่ หรืออาหารทะเล แต่ให้ทานแต่พอดี ไม่มากกว่าปกติที่เคยทาน
  • กรณีที่ครอบครัวมีประวัติการแพ้มาก่อนและไม่สามารกินนมแม่ได้ สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ในการเลือกโปรตีนผ่านการย่อยบางส่วนที่เป็นเวย์ 100% หรือ H.A. (Hypoallegenic) ตามคำแนะนำจากแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

ตามสถิติของโรคนี้ พบว่า ผู้ป่วย 60% จะแสดงอาการก่อนอายุ 1 ขวบ และ 85% แสดงอาการก่อนอายุ 5 ขวบ แต่จะดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าอาการลูกยังไม่ดีขึ้นตามอายุดังกล่าว แนะนำว่าควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็วก็มีโอกาสหายขาดค่ะ

อ้างอิง
สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย
Bangpakokhospital.com
Amarinbabyandkids.com