Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ปานแดงทารก จะอันตรายไหม ควรเอาออกหรือเปล่า?

ปานแดงทารก จะอันตรายไหม ควรเอาออกหรือเปล่า?

ปานทารก” หากเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กไปจนโต หากเกิดในร่มผ้าคงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อจิตใจเท่าไหร่ แต่หากเกิดนอกร่มผ้าอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้โดยตรง เพราะเด็กอาจขาดความมั่นใจได้ ปานเกิดจากอะไร ควรเอาออกดีไหม วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันค่ะ

ปาน เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดปาน ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด และปานก็ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม อย่างไรก็ตามก็ยังพอที่จะบอกที่มาที่ไปได้บางประการว่า ปานที่เกิดส่วนใหญ่มักมาจากการที่เซลล์มีการเคลื่อนตัวผิดปกติระหว่างการที่ตัวอ่อนเริ่มเติบโตขึ้น เซลล์จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตเนื้อเยื่อตามลักษณะของเซลล์นั้น ๆ ขึ้นมา ซึ่งจุดนี้เองเซลล์อาจมีการผลิตเนื้อเยื่อมากเกินไป และไม่มีการเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งของเนื้อเยื่อนั้น ๆ นั่นเอง

ปานมีกี่ประเภท?

ปานแดง (Vascular Birthmarks)

เป็นลักษณะของปานที่เกิดจากหลอดเลือดที่ผิดปกติ ในกลุ่มของปานแดงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

ปานเส้นเลือดแดง (Stork Bites) หรือ แซลมอน แพตช์ (Salmon Patch)

ปานชนิดนี้จะมีลักษณะที่เป็นสีชมพู เรียบ มักพบได้บ่อย เฉลี่ย 1 ใน 3 ของทารกแรกเกิด พบมากบริเวณท้ายทอย เปลือกตา และหน้าผากบริเวณหว่างคิ้ว ปานชนิดนี้ที่หว่างคิ้วมักหายได้เองในระยะเวลาไม่กี่เดือน แต่ปานที่ท้ายทอยจะไม่หายไป

ปานสตรอว์เบอร์รี (Strawberry Hemangioma)

ลักษณะของปานชนิดนี้จะเป็นจุดสีแดง เล็ก นูน และบีบได้ พบได้บริเวณใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก และหลัง หากเมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไปแล้ว พบว่าปานมีการขยายใหญ่ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการหายใจ การกิน หรือการมองเห็น ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain)

ปานชนิดนี้เป็นปานถาวร มักมีสีแดงหรือสีชมพู และมีสีคล้ำขึ้นเมื่อโตขึ้น ปานนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งครรภ์ หรือเมื่อเข้าสู่วัยทอง

ปานดำ (Pigmented Birthmarks)

ปานดำจะมีลักษณะที่ทั้งเรียบและนูน เกิดจากมีเม็ดสีเมลานินที่ชั้นผิวมากเกินไป มีทั้งสีน้ำตาล น้ำเงิน และดำ บางรายอาจพบเป็นสีเทา แบ่งได้เป็น 3 ชนิด

ปานสีกาแฟใส่นม (Café Au Lait Spots)

จะมีลักษณะที่เป็นสีแทนหรือสีน้ำตาล มีรูปร่างคล้ายไข่ โดยมากจะพบตามร่างกายแค่ 1 หรือ 2 จุด แต่หากพบมากกว่า 6 จุดควรปรึกษาแพทย์ค่ะ

ปานมองโกเลียน (Mongolian Spots)

ปานชนิดนี้จะมีสีน้ำเงินเทา คล้าย ๆ รอยฟกช้ำพบมากในผู้ที่มีผิวสีเข้ม พบได้มากบริเวณส่วนล่างหรือก้น ปานนี้สามารถหายไปได้เองภายใน 4 ปี แต่ถ้าหากไม่หายไปก็ไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด เพราะไม่มีอันตราย

ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi)

ปานชนิดนี้จะเป็นไฝสีดำเข้ม ขนาดใหญ่ ไม่มีการเจ็บปวดใด ๆ ขนาดของปานมีตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดที่ใหญ่กว่า 20 เซนติเมตร ให้สังเกตว่าปานนี้มีการขยายขนาดหรือไม่ หากมีการขยายขนาด เป็นไปได้ว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้สูง

ปานที่หลายคนกังวล

เนื่องจากปานมีหลายชนิด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าปายชนิดไหนที่อันตราย และแบบไหนที่ควรกังวล และต้องไปพบแพทย์ คำตอบคือปานสตรอว์เบอร์รี ค่ะ ซึ่งปานสตรอว์เบอร์รีสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด

ก้อนเนื้อที่อยู่ที่ชั้นตื้น (Superficial Type)

รอยปายจะมีสีแดงสดคล้ายสตรอว์เบอร์รีบน

ก้อนเนื้อที่อยู่ในชั้นลึก (Deep Type)

ลักษณะที่เราเห็นคือจะมีชั้นผิวหนังอยู่ด้านบนตัวก้อนเนื้อที่สีจะออกสีเขียว หรือสีฟ้าอมเขียว คล้ายสีของเส้นเลือดที่ผิวหนังเรา

แบบผสม (Mixed Type)

จะเป็นลักษณะก้อนเนื้องอกอยู่ในชั้นผิวหนังที่ลึก ซึ่งด้านบนของก้อนเนื้อจะเป็นรอยปานสีแดงของชั้นตื้นอยู่

การรักษาปานสตรอว์เบอร์รี

ปานแดงชนิดนี้บางครั้ง บางรายก็สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา หรือบางครั้งอาจยังไม่หายไปจนกว่าอายุ 5 ปี หรือ 12 ปี ซึ่งวัตถุประสงค์ของการรักษาปานประเภทนี้จะเป็นเพียงการดูแลไม่ให้ปานมีขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งระยเวลาที่เหมาะสมในการรักษาจะอยู่ที่ช่วงอายุ 1 – 3 เดือน

จากลักษณะทั้งหมดของปานที่กล่าว เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่พอที่จะเห็นภาพและเข้าใจกันมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ ซึ่งแม่โน้ตเข้าใจค่ะว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กังวลคือ หากปานมีการขยายตัว เพื่อความสบายใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ได้ทันทีค่ะ

อ้างอิง pobpad.com, si.mahidol.ac.th