Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เตรียมความพร้อมลูกวัยหัดเดิน

เตรียมความพร้อมลูกวัยหัดเดิน

การเดินของลูกน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่ดี แต่คุณแม่อาจจะยังไม่ทราบถึงผลที่ดีในอนาคตของลูก แล้วการฝึกให้ลูกเดินนั้นควรฝึกอย่างไร ต้องรับมือเตรียมพร้อมการหัดเดินของลูกน้อยอย่างไร

คุณแม่อาจจะเห็นว่าลูกบ้านนั้นเดินได้แล้วทั้งที่อายุน้อยกว่าลูกเรา แต่ลูกเรายังเพิ่งยืนได้ตรงและเกาะเดิน ส่วนใหญ่เด็กจะสามารถตั้งไข่ หรือยืนเกาะ เกาะเดินได้ใน วัย 9 – 12 เดือน และเดินได้ใน วัย 1 ขวบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกาย และพัฒนาการของเด็กแต่ละคนว่าสามารถเดินได้ช้า หรือเร็ว

วิธีสอนลูกหัดเดิน

จับยืน

คุณแม่ลองจับตัวลูกให้ยืนตรง ๆ ก่อนเป็นขั้นแรก หากลูกยืนนาน ๆ แล้วไม่ก้าวเดินลูกนั่งลงเอง ซึ่งลูกอาจจะยังไม่พร้อมกับการยืน คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลบ้างที่ลูกอาจจะยังไม่พร้อม เมื่อลูกก้าวเดินแล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันพาเดิน และจับมือลูกเดินช้า ๆ คอยประคองกันล้ม

จัดสถานที่หัดเดิน

การฝึกเดินต้องการพื้นที่กว้าง โดยจัดเฟอร์นิเจอร์สูงระดับที่ลูกจับเกาะได้ เช่น พนัง ขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ แต่ต้องคอยระวังเหลี่ยมมุมของเฟอร์นิเจอร์ที่มีความแข็ง ความคม และเฟอร์นิเจอร์ต้องมีน้ำหนังเพื่อรับแรงจับของลูก

ใช้ของเล่นล่อ

ขณะลูกกำลังเริ่มเดินเตอะแตะ เกาะบ้าง นั่งและลุกเดินบ้าง ลองหาของเล่นสุดโปรดของลูก ล่อให้ลูกเดินมาหาจากที่ไกล ๆ ขึ้นจะช่วยได้

ใช้อุปกรณ์ช่วย

รถเข็นหัดเดินก็เป็นตัวช่วยอีกอย่างที่ช่วยในการฝึกยืน และเดินไปข้างหน้า ทั้งยังพยุงตัวให้ไม่ล้ม ควรเลือกรถเข็นหัดเดินที่มีความแข็งแรง คงทน และมีที่จับ

การเดินเท้าเปล่า

ฝึกเดินโดยเท้าเปล่าดีที่สุด คุณแม่ไม่จำเป็นต้องลงทุนรองเท้าหัดเดิน เพราะจะเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อขา และข้อเท้า รวมถึงการทรงตัว และประสานการทำงานของร่างกาย นอกเสียจากการฝึกเดินข้างนอกบ้านที่ต้องสวมรองเท้า รองเท้าจะต้องยืดหยุ่นดี น้ำหนักเบา ไม่แน่นและรัดข้อเท้า เพราะเด็กจะเดินได้ช้า

รับมือการฝึกเดินของลูก

เมื่อลูกเดินเตอะแตะได้แล้ว แน่นนอนว่าคุณแม่จะต้องเตรียมการไล่จับลูกน้อยให้ทัน และยิ่งเดินเก่งจนเริ่มวิ่งคุณแม่จะต้องเตรียมรับมืออะไรบ้าง

  1. ไม่ต้องกังวลหากลูกยืนนาน เดินบ่อย เพราะจะเป็นการสร้างกล้ามเนื้อขา และการทรงตัวให้แข็งแรง
  2. ฝึกลูกเดินในบ้านแล้ว ให้ลูกได้เดินเท้าเปล่านอกบ้าน สัมผัสพื้นดิน และหญ้าเป็นการให้ลูกก้าวเดินในโลกใหม่ ๆ
  3. การฝึกเดินลูกจะต้องสัมผัสกับสิ่งของภายในบ้าน เช่น ลิ้นชัก ตู้ กระดาษทิชชู ส่วนนี้ไม่ใช่ความซนแต่เป็นการสำรวจ ปล่อยให้ลูกลองเล่น แต่ต้องคอยระวังหากเจอสิ่งมีคม ซึ่งคุณแม่ต้องเก็บสูง และพ้นการเอือมของลูกน้อย
  4. หาของเล่นฝึกทักษะ ของเล่นที่ต้องให้ลูกหยิบจับขยับตัวลุกขึ้นเดิน เพื่อหยิบสิ่งนั้นมาเล่น เช่น บล็อกต่อ เลโก้ อุปกรณ์เล่นกับทราย หรือรถลาก เป็นต้น
  5. จัดมุมบ้านให้เป็นพื้นที่เล่นของลูก เช่น มุมของเล่นที่มีบริเวณให้ลูกได้เล่นอย่างพอดี มุมอ่านหนังสือนิทาน หรือหากมีบริเวณบ้าน อาจทำบ่อทรายให้ลูก

การฝึกเดินให้ลูกน้อย ไม่ได้จำกัดเพียงการเดินในบ้าน การเดินข้างนอกบ้านก็สามารถฝึกเดินได้เช่นกัน เพราะเมื่อลูกกำลังหัดเดินอยู่ ลูกอาจจะไม่อยากให้พ่อแม่อุ้มแล้ว ลูกจะแสดงอาการต่อต้านการอุ้มโดยการดิ้นร้องให้ปล่อยเดิน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยระวังให้ลูกและเดินตามให้ทัน

สถานที่ฝึกเดินใหม่ ๆ ของลูก

บ้านญาติ หรือบ้านเพื่อน

แม้จะเป็นบ้านเหมือนกัน แต่การไปพบสถานที่ใหม่ของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น ลูกที่เกิดและโตที่คอนโดกลางเมือง มาเที่ยวบ้านญาติ เจอสนามกว้างเจอพื้นดินพื้นหญ้า เด็กจะสนุก และวิ่งเล่นไม่เบื่อ

ห้างสรรพสินค้า

พื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนใช้ทุกเพศทุกวัย อาจจะดูไม่เหมาะหากลูกเพิ่งหัดเดิน หรืออาจเดินเก่งแล้ว แต่ลูกอาจเดินเร็วจนหาย หาสายลากจูงให้ลูกเพื่อป้องกันการพลัดหลงก็ช่วยได้

สวนสาธารณะ

สวนสาธารณะส่วนใหญ่จะมีจุดเล่นสำหรับเด็ก เป็นสถานที่ที่มีทั้งพื้นดินพื้นหญ้า บ่อทราย ของเล่น และลูกคุณแม่อาจจะได้เพื่อนใหม่ ๆ เป็นการฝึกลูกเล่นกับเด็กรุ่นเดียวกัน และการปฏิสัมพันธ์ไปในตัว

สวนสัตว์ หรือพิพิธภัณฑ์

เด็กสามารถเรียนรู้นอกบ้านได้โดยพ่อแม่ ให้ลูกได้เห็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกจากภาพ หรือรูปการ์ตูน โดยการพาเดินช้า และคอยสอน อธิบายสิ่งต่าง ๆ แก่ลูก ทั้งยังเป็นการฝึกให้ลูกยืนได้นาน และสร้างความสนุกสนานแปลกใหม่

การเดินของลูกไม่ควรจำกัดพื้นที่ แต่ต้องมีความปลอดภัย และคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลลูกวัยหัดเดินให้อยู่ในสายตาตลอดค่ะ