Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เช็คพัฒนาการลูกวัยแรกเกิด – 1 ปี ระเอียดยิบ เดือนต่อเดือน

เช็คพัฒนาการลูกวัยแรกเกิด – 1 ปี ระเอียดยิบ เดือนต่อเดือน

เรื่องของ “พัฒนาการ” จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจนะคะ แต่ไม่ใช่เพื่อความกดดันตัวเอง กดดันลูก แต่เพื่อให้เป็นไกด์ไลน์ว่าเมื่อถึงวัยนั้น ๆ แล้วลูกของคุณพ่อคุณแม่ควรทำอะไรได้บ้างแล้ว หรือถ้ายังค่อนข้างช้า คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ แต่ก่อนที่เราจะไปเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาการ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าค่ะว่าลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่นั้น เค้ามีพัฒนาการอย่างไรบ้างในแต่ละเดือน

พัฒนาการเด็ก 0 – 1 เดือน

  • ทารกสามารถมองเห็นหน้าของคุณพ่อคุณแม่ หรือคนอื่นได้ชัดในระยะ 1 ฟุตโดยประมาณ
  • เริ่มจดจำใบหน้าของคนที่คุ้นเคยได้
  • เมื่อได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่หรือคนคุ้นเคยก็จะสามารถหันตามเสียงได้อย่างถูกต้อง
  • พยายามมองหน้าตามคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่เคลื่อนไหวอยู่
  • ตอบสนองต่อเสียงพูดได้ ด้วยการทำเสียงอืออาลำคอ
  • พลิกคอซ้าย-ขวาได้

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ครึ่ง

  • ทารกจะยิ้มให้คุณพ่อคุณแม่หรือคนคุ้นเคยได้
  • มองตามของเล่นที่เคลื่อนที่ได้แบบช้า ๆ เช่น โมบายสีสันสดใส หมุนช้า ๆ มีเสียงเพลงกล่อม

พัฒนาการเด็ก 2 เดือน

  • เมื่อคุณแม่เล่นด้วยหรือจะเดินเข้ามาอุ้ม ลูกจะแสดงอาการดีใจได้
  • มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ช้า ๆ
  • ยิ้มทักทายคนอื่นได้
  • รับรู้และหันตามทิศทางของเสียงได้แม่นยำมากขึ้น
  • มองตามของเล่นที่มีเสียงกรุ๋งกริ๋งได้ ในขณะที่เด็กบางคนสามารถถือของเล่นกรุ๋งกริ๋งชิ้นเล็ก ๆ น้ำหนักเบาได้
  • เริ่มหัดชันคอในท่าคว่ำได้

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน

  • ลูกจะยิ้มให้กับคุณพ่อคุณแม่และคนอื่น ๆ ที่มาเล่นด้วย
  • สามารถส่งเสียงโต้ตอบอ้อแอ้ในลำคอได้
  • สามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ช้า ๆ ได้อย่างสุดทาง
  • แสดงความรู้สึกต่าง ๆ ได้ เช่น ดีใจ เสียใจ ไม่ไป ไม่เอา เป็น
  • ลูกจะเริ่มเอื้อมมือคว้าสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวได้มากขึ้น หยิบจับสิ่งของได้มากขึ้น

เพื่อเป็นการฝึกการออกเสียง และเรียนรู้คำศัพท์ของลูกน้อย ให้คุณพ่อคุณแม่ชี้ชวนลูกดูสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วบอกว่าสิ่งนั้น ๆ คือ อะไร แต่สิ่งที่ไม่ควรทำเลยก็คือ ไม่ควรออกเสียงอ้อแอ้ตามลูก เพราะลูกจะเข้าใจว่า ภาษาของแม่ก็ใช้แบบนี้เหมือนกัน ลูกจะไม่พยายามเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม เพราะคิดว่าการพูดอ้อแอ้ พ่อแม่ก็เข้าใจได้

พัฒนาการเด็ก 4 เดือน

  • ลูกหยิบจับของเล่นได้คล่องขึ้น แม้จะเป็นชิ้นเล็ก ๆ
  • หัวเราะได้เสียงดัง เมื่อมีคนมาเล่นด้วย
  • เริ่มพลิกคว่ำได้ เริ่มชันคอได้
  • เบื่อการนอนแล้ว ชอบจะให้คุณพ่อคุณแม่จับประคองนั่ง

พัฒนาการเด็ก 5 เดือน

  • ถ้าลูกนอนคว่ำ ลูกจะสามารถเหยียดแขนยันตัวเองให้อกพ้นพื้นได้
  • เคลื่อนไหว หมุนตัวไปรอบ ๆ ที่นอนได้
  • เมื่อจับลูกลุกขึ้นยืน ขาและเท้าทั้งสองข้างเตรียมตัวจะยืน จะเดิน หรือไม่ก็กระโดด (เพราะมีคุณพ่อคุณแม่ประคองอยู่)

พัฒนาการเด็ก 6 เดือน

  • เด็กบางคนสามารถนั่งได้แล้ว แต่อาจมีเอนล้มบ้างบางครั้ง
  • ชอบเล่นกระจกเงา
  • ชอบเล่นริมฝีปาก
  • ชอบเล่นน้ำลายทำให้เป็นฟอง ๆ

พัฒนาการเด็ก 7 เดือน

  • เด็กจะนั่งได้มั่นคงขึ้น และจะมีความสุขกับการเอื้อมมือหยิบนั่น หยิบนี่รอบตัว
  • เด็กบางคนกลัวคนแปลกหน้า

การที่ลูกคว้าสิ่งของต่าง ๆ ได้รอบตัวนั้น บริเวณที่ลูกเล่น ควรทำให้แน่ใจนะคะว่าไม่มีของมีคมที่เป็นอันตรายต่อลูก รวมไปถึงของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ที่สามารถคว้าเข้าปากได้ เหล่านี้ควรเก็บให้ไกลมือ ยิ่งไกลยิ่งดีค่ะ

พัฒนาการเด็ก 8 เดือน

  • เริ่มคลานได้
  • รู้จักชื่อตัวเอง และหันตามเมื่อมีคนเรียกได้อย่างถูกต้อง
  • เริ่มเข้าใจเรื่องของการ “ห้ามทำ” หรือ “หยุดทำ
  • ผูกพันกับคนเลี้ยงดู
  • แสดงท่าทางที่อยากให้อุ้มได้ เช่น ชูแขนทั้งสองข้างขึ้น เป็นต้น
  • เริ่มหัดพูด

เรื่องของการอุ้ม ไม่ต้องกลัวลูกติดมือนะคะ เพราะการอุ้มจะทำให้ลูกรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นและปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ของลูกได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง EF – Executive Function ให้ลูกค่ะ

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน

  • เริ่มบอกความต้องการของตัวเอง เช่น ชี้บอกว่าจะไปที่โน่น หรืออยากจะได้ของชิ้นนี้ เป็นต้น
  • เริ่มออกสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยเฉพาะในตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของ ลิ้นชัก หรือแม้แต่กล่องรองเท้า
  • เหนี่ยวเฟอร์นิเจอร์ เพื่อพยุงตัวลุกขึ้นยืน

เมื่อลูกเริ่มเหนี่ยวเฟอร์นิเจอร์ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังมากเป็นพิเศษนะคะ ต้องมั่นใจว่าเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นมั่นคงแข็งแรงมากพอที่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายกับลูก

พัฒนาการเด็ก 10 เดือน

  • เริ่มเลียนแบบท่าทางได้ เช่น ปรบมือ บ๊ายบาย และส่ายหัวไม่เอา เป็นต้น
  • เข้าใจคำพูดสั้น คำถามสั้น ๆ ได้
  • เกาะยืนได้คล่องขึ้น เริ่มเกาะแล้วค่อย ๆ ก้าวเดินตามเฟอร์นิเจอร์นั้น ๆ

พัฒนาการเด็ก 11 เดือน

  • ชอบโยนของเล่น
  • เริ่มตั้งไข่
  • หัวเราะเสียงดังเมื่อมีคนมาเล่นด้วย

พัฒนาการเด็ก 12 เดือน

  • เริ่มเดินได้
  • สื่อสารได้เป็นคำมากขึ้น แบบสั้น ๆ
  • สนใจฟังเสียงที่สูง ๆ ต่ำ ๆ
  • ชอบดูภาพในหนังสือ หรือหนังสือนิทาน
  • เข้าใจประโยคคำถามสั้น ๆ โต้ตอบได้

คุณพ่อคุณแม่ลองหาหนังสือนิทานมาอ่านกับลูกดูนะคะ พร้อมกับพากย์เสียงตัวละครให้ต่างกัน เพื่อเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการค่ะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องของ Quotient (Creative Quotient คือ ความฉลาดในด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการ หรือการมีแนวความคิดใหม่ ๆ)