Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อลูกท้องเสีย

วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อลูกท้องเสีย

โดยปกติแล้วอุจจาระของทารกจะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่ม ๆ แต่ถ้ามีอาการท้องเสีย ลักษณะของมันจะต่างไปจากเดิม ซึ่งวันนี้โน้ตมีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีลูกท้องเสีย พร้อมวิธีรับมือมาฝากค่ะ

วิธีสังเกตว่าลูกท้องเสียหรือไม่

ให้คุณแม่สังเกตตามนี้นะคะ ถ้าหากลูกมีอาการดังต่อไปนี้ แสดงว่าท้องเสียชัวร์

  • ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน จนบางครั้งทำให้ก้นลูกแดง ในบางรายลูกอาจร้องงอแง เพราะเจ็บก้น
  • ร้องไห้ งอแง ปวดท้อง แต่ในบางรายก็ซึม ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม หรือลูกกินอาหารได้น้อยลง
  • ถ่ายเหลว คือการถ่ายที่มีปริมาณน้ำมากกว่ากากอุจจาระ หรือลูกถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่า
  • อาจอาเจียนและมีไข้ โดยเฉพาะหากลูกได้รับไวรัสโรต้า ในบางรายอาจมีการอาเจียนร่วมด้วย

ท้องเสียแบบนี้ รีบพาไปหาคุณหมอทันที

แต่ถ้าหากคุณแม่พบว่าลูกมีอาการดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ให้รีบไปปรึกษาคุณหมอทันทีนะคะ

  • ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นมูกหรือมูกเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
  • มีไข้สูง อาเจียน ชัก ริมฝีปาก แห้งตาโหลลึก กระหม่อมบุ๋ม หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ และหายใจเหนื่อยหอบ
  • ไม่ยอมกินนมและอาหาร
  • ให้น้ำเกลือแร่แล้วแต่ก็ยังดูเพลีย ดูซึมอยู่
  • ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม

สาเหตุที่ทำให้ลูกท้องเสีย

ลูกท้องเสียสามารถเกิดได้ในหลายสาเหตุด้วยกันค่ะ

ติดเชื้อไวรัส

อาทิ ไวรัสโรต้า ไวรัสอะดิโน ไวรัสโนโร ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น หากติดเชื้อดังกล่าวนี้ จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น และปวดเมื่อยตามร่างกาย

ติดเชื้อแบคทีเรีย

อาทิ ซาลโมเนลลา ชิเกลลา สแตฟิโลค็อกคัส และอีโคไล เป็นต้น หากติดเชื้อจากแบคทีเรียกลุ่มนี้ จะทำให้ลูกน้อยมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ทำให้ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด อาเจียน และมีไข้ร่วมด้วย

ติดเชื้อที่หู

อาจเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้ทารกมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย คุณแม่สังเกตได้จากการที่ทารกมักจะจับหรือดึงหูตัวเองบ่อย ๆ

ติดเชื้อปรสิต

เชื้อไกอาเดียที่ปกติแล้วอาศัยอยู่ในลำไส้ เป็นตัวทำให้ทารกท้องเสีย ท้องอืด หรือทำให้มีแก๊สในกระเพาะได้

การใช้ยาปฏิชีวนะ

อาจเกิดขึ้นได้จากการที่ทารกต้องทานยาเองหรืออาจมาจากการที่แม่ให้นมลูก ซึ่งอาจเป็นผลมากจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยตรง หรืออาจเกิดจากฤทธิ์ของยาที่ไปทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เป็นมิตรกับลำไส้ถูกกำจัดออกไป หากเกิดจากสาเหตุนี้ คุณแม่ไม่ควรหยุดยาเองนะคะ ทั้งยาของตัวคุณแม่เองหรือยาของทารก แต่ควรให้คุณหมอเป็นผู้วินิจฉัยค่ะ

ดื่มน้ำผลไม้มากเกินไป

โดยเฉพาะน้ำผลไม้มีมีปริมาณฟรุคโตสสูง หรือประกอบด้วยน้ำตาลซอร์บิทอล รวมถึงเครื่องดื่มที่มีรสหวานเกินไป เพราะทำให้ระคายเคืองกระเพาะทารกได้ค่ะ

แพ้โปรตีนจากนมวัว

ทารกที่มีอายุไม่ถึง 1 ขวบ ไม่ควรให้ดื่มนมวัว นมผง หรืออาหารเด็กที่ทำจากนมวัว หรือบางครั้งคุณแม่ที่ดื่มนมวัวหรือทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวก็ควรหยุดเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะระยะที่ให้นมลูก เพราะจะส่งผลให้ทารกท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย

แพ้อาหาร

อาทิ ไข่ ถั่ว ถั่วเหลือง ธัญพืช ปลา หอย และอาหารทะเลต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ในรายที่มีอาการรุนแรงก็จะมีผื่นขึ้นตามตัว หายใจลำบากค่ะ

ได้รับสารพิษ

รวมถึงสารเคมี สารจากพืช ยา หรือแม้แต่ของเล่นต่าง ๆ ไม่ควรให้ลูกนำเข้าปากนะคะ

วิธีรับมือและดูแลลูกเมื่อลูกท้องเสีย

ดื่มผงเกลือแร่

เพราะอาการท้องเสียจะทำให้ลูกสูญเสียของเหลวและเกลือแร่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ลูกเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งหากลูกน้อยไม่ได้มีอาการอาเจียนร่วมด้วย คุณแม่สามารถให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผงได้ตามปกติค่ะ แต่หากลูกน้อยอาเจียนจนไม่สามารถดื่มนมได้ คุณหมออาจให้ลูกดื่มสารละลายอิเล็กโทรไลต์สำหรับทารกค่ะ

งดของหวาน

อาทิ โซดา น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ และยังหมายรวมถึงขนมต่าง ๆ อย่างเยลลี่ด้วยนะคะ เพราะน้ำตาลจะทำให้ทารกท้องเสียหนักกว่าเดิม

ไม่ควรให้ลูกกินยาหยุดถ่าย

เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่ไม่เป็นมิตรกับเรายังอยู่ในร่างกายเรา ไม่ถูกขับออกมา และอาจทำให้เชื้อโรคกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้

หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม

เพื่อป้องกันการอับชื้น ซึ่งจะทำให้ลูกมีผื่นคัน และอาจร้องงอแงได้

กอดลูกบ่อย ๆ

เมื่อลูกมีอาการท้องเสีย แน่นอนว่าลูกจะรู้สึกว่าไม่สบายตัว ร้องไห้ งอแง ทำให้เลี้ยงยาก ทางที่ดีแนะนำให้คุณแม่กอดลูกบ่อย ๆ พาลูกน้อยเดินเล่นในบ้าน แบบนี้ก็จะช่วยทำให้ลูกมาอารมณ์ดีขึ้นได้ค่ะ

ลูกท้องเสียไม่ใช่เรื่องปกติ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตดูว่าก่อนที่ลูกท้องเสียนั้น ได้ทานอะไรเข้าไปบ้าง เผื่อว่าถ้าอาการไม่ดีขึ้น จนต้องไปพบคุณหมอจะได้แจ้งข้อมูลให้คุณหมอทราบเบื้องต้นได้ ซึ่งก็จะทำให้คุณหมอวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องค่ะ

อ้างอิง
Pobpad.com
Nestle.co.th