Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) จุดเริ่มพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) จุดเริ่มพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) หรือ อาหารแบบแท่ง ชื่อนี้อาจจะคุ้นเคยกับคุณพ่อคุณแม่บางครอบครัว แต่บางครอบครัวที่เป็นมือใหม่อาจจะยังไม่รู้ว่าคืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับพัฒนาการของลูกน้อย วันนี้เรามีเรื่องราวและวิธีการเลือกฟิงเกอร์ฟู้ดมาฝากค่ะ

Youtube : ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) จุดเริ่มพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย

ฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) คืออะไร?

ฟิงเกอร์ฟู้ด คือ อาหารแท่งหรืออาหารที่สามารถใช้มือหยิบเข้าปากได้ เหมาะกับลูกน้อยวัย 8 เดือนขึ้นไป หรือกับลูกน้อยที่สามารถนั่งโต๊ะทานข้าวของเค้าเองได้โดยไม่ต้องมีใครอุ้ม เด็กในวัยนี้เค้าสามารถใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่โป้งหยิบสิ่งของได้แล้ว แถมหยิบเข้าปากได้เอง เพราะเด็กวัยนี้เค้าจะเริ่มเรียนรู้การเรื่องผิวสัมผัสด้วยปากค่ะ

เกี่ยวข้องอย่างไรกับพัฒนาการของลูกน้อย

เพราะเด็กในวัย 8 เดือนขึ้นไปนี้ เค้าสามารถหยิบจับสิ่งของต่างๆ ด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้ง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยเพิ่มเติมด้วยการให้เค้าได้ฝึกจับสิ่งต่างๆ อย่างอาหาร เป็นต้น เพราะเค้าจะได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กทั้งหมด (คือมือและนิ้วมือ) ในการช่วยจับอาหารเข้าปาก และยังเป็นการฝึกให้ลูกน้อยได้ทานข้าวเองด้วยค่ะ
การฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือและนิ้วมือความหมายก็คือ เป็นการฝึกให้ลูกได้สามารถบังคับทิศทางให้ดีนั่นเอง ซึ่งจะมีผลต่อเรื่องของการฝึกเขียน ฝึกวาดของเค้าในอนาคตค่ะ

ข้อดีของฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food)

เด็กในวัย 8 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่มักจะมีฟันขึ้นแล้ว ซึ่งเมนูฟิงเกอร์ฟู้ดนี้จะช่วยบริหารฟัน เหงือก และกราม กระตุ้นให้ฟันขึ้นเร็วขึ้น แถมยังฝึกใช้กรามในการบดเคี้ยว ช่วยบริหารเหงือกไปด้วยในตัวค่ะ แต่อาหารที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ลูกน้อยทานนั้น ควรเป็นอาหารที่ทานง่าย ไม่เสี่ยงต่อการสำลักนะคะ

ตัวอย่างอาหารฟิงเกอร์ฟู้ด

กลุ่มแป้ง ข้าว

ตัวอย่างในอาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ แครกเกอร์กรอบรสดั้งเดิม (ไม่เคลือบน้ำตาล), ขนมปังกรอบ, ขนมปังชุบไข่หั่นเป็นแท่ง ข้าวสวยปั้นเป็นก้อน หรือขนมปังแผ่น เป็นต้น
หรือจะเป็นพวกขนมไทยๆ ก็ได้นะคะ เช่น ขนมกล้วย, ขนมตาล เป็นต้นค่ะ

กลุ่มผัก ผลไม้

สำหรับกลุ่มนี้ต้องเป็นผักหรือผลไม้ที่สุกแล้วเท่านั้น โดยหั่นเป็นชิ้นหรือเป็นแท่งตามความเหมาะสมค่ะ

  • ผัก ได้แก่ แครอท, ฟักทองปอกเปลือกนึ่ง, มันเทศ, ถั่วฝักยาวต้ม (ผ่าเอาเม็ดข้างในออกก่อนนะคะ), ดอกกะหล่ำปลีนึ่ง หรือบรอกโคลี เป็นต้น
  • ผลไม้ ได้แก่ แคนตาลูป, กล้วยน้ำว้า, มะละกอ, มะม่วงสุก, อะโวคาโดหั่น หรือส้มที่แกะเอาเม็ดออกแล้ว) เป็นต้น

วิธีเลือกอาหารฟิงเกอร์ฟู้ด

ถึงแม้ลูกน้อยเริ่มจะมีฟัน เริ่มจะเคี้ยวได้บ้างแล้ว แต่รสชาติอาหารหรือลักษณะของอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรคำนึงถึงนะคะ จะมีวิธีเลือกอย่างไร ไปดูกันค่ะ

  1. ไม่เลือกอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป เพราะลูกจะได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย อาจเกิดอาการบวมได้ เพราะไตต้องทำงานหนัก
  2. ไม่เลือกหวานเกินไป เพราะจะทำให้ลูกทานนมหรือทานอาหารมื้อหลักได้น้อย และอาจทำให้ลูกเป็นเด็กติดหวานได้ค่ะ ยกเว้นว่าจะเป็นความหวานที่ได้จากธรรมชาติ
  3. ไม่มีสารกันบูด เพราะจะส่งผลเสียต่อตับ
  4. อาหารไม่ควรมีสีสันฉูดฉาด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกได้รับสารตะกั่วหรือโลหะหนักจากสีผสมอาหารค่ะ แต่ควรเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ
  5. เลือกอาหารไขมันต่ำ เพราะอาหารประเภททอดจะทำให้เด็กได้รับไขมันสูง หากเกิดการสะสมนานๆ จะทำให้ลูกกลายเป็นโรคอ้วนได้ค่ะ เว้นเสียแต่ว่าคุณแม่ทำให้ทานเอง เพราะเราสามารถควบคุมปริมาณน้ำมันได้ (เดี๋ยวนี้เค้ามีหม้อทอดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วนะคะ อันนี้ก็ใช้ได้ค่ะ)

อาหารฟิงเกอร์ฟู้ดนี้ คุณแม่สามารถทำให้ลูกน้อยทานได้จะเป็นอาหารที่ควบคู่กับมื้ออาหารหลักหรือจะทำเป็นอาหารว่าง หรือพกพาไปข้างนอกก็สะดวกนะคะ รับรองลูกน้อยต้องถูกใจแน่นอน เพราะเค้าจะได้หยิบจับอาหารเอง ได้ทานเอง งานนี้คุณแม่ต้องเหนื่อยหน่อยนะคะ เพราะลูกจะกินเลอะมาก แต่ถ้าแลกกับพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในระยะยาว…ก็โอเคโนะ^^