Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เล่นอย่างไรให้ลูกฉลาด หัวไว ตั้งแต่ขวบปีแรก

เล่นอย่างไรให้ลูกฉลาด หัวไว ตั้งแต่ขวบปีแรก

การเล่นกับลูกเป็นสิ่งสำคัญนะคะ เพราะลูกจะได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ จากคุณพ่อคุณแม่ และถ้าการเล่นนั้นเป็นการเล่นที่เหมาะสม เสริมทักษะให้ลูก และช่วยกระตุ้นให้ลูกมีพัฒนาการทางสมองที่ดีแบบนี้จะเยี่ยมมากเลยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขวบปีแรก หากคุณพ่อคุณแม่มีการวางพื้นฐานให้ลูกได้ดีแล้วล่ะก็ รับรอง…เมื่อลูกโตขึ้น เขาจะมีพัฒนาการทางสมองที่ไวทีเดียว

เล่นอย่างไรให้ลูกฉลาด หัวไว ตั้งแต่ขวบปีแรก

อายุ 1-3 เดือน

ช่วงนี้จะเรียกได้ว่าเป็นช่วงทีค่อนข้างเหนื่อยหน่อยทั้งคุณแม่และลูกนะคะ เพราะลูกเพิ่งจะออกมาจากท้องคุณแม่ จึงต้องการเวลาในการปรับตัวเช่นกัน ในขณะที่คุณแม่ก็ต้องปรับตัวไม่ต่างกัน ไหนจะทั้งดูแลตัวเอง และดูแลลูกน้อยอีก

และด้วยความที่ลูกเพิ่งออกจากท้องคุณแม่นี่เอง จึงทำให้ลูกต้องการ “การสัมผัส” การอุ้มจากคุณแม่ให้มากที่สุด เขาจะได้รู้สึกถึงความปลอดภัยและอบอุ่นที่มีคุณแม่คอยดูอยู่ใกล้ๆ และเมื่อใดก็ตามที่ลูกร้อง คุณแม่ควรตอบสนองทารกด้วยการอุ้มเช่นกัน ทั้งนี้ คุณแม่อาจใช้ตัวช่วยอย่างโมบายที่มีสีสันสดใส มาแขวนไว้ที่เตียง หรือเปลลูกก็ได้ค่ะ เพื่อเป็นการกระตุ้นสายตา หรือจะเป็นโมบายที่มีเสียงเพลงคลอเบา ๆ แบบนี้ก็สามารถกระตุ้นพัฒนากาของทารกได้ดีค่ะ

อายุ 4-5 เดือน

ทารกจะเริ่มจำหน้าคนที่ใกล้ชิดและคุ้นเคยได้แล้วค่ะ คอแข็ง เริ่มอยากพลิกตัว บางคนสามารถพลิกคว่ำตัวได้แล้ว ส่วนมือก็จะพยายามไขว่คว้าสิ่งที่ของที่ตัวเองต้องการได้ (ถ้าอยู่ใกล้มากพอ) และมักจะเอาของเข้าปาก (เป็นพัฒนาการที่ปกติของทารกนะคะ ที่เขาจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยปาก ไม่ใช่เพราะเขาอยากกินนะคะ เรื่องนี้แม่โน้ตเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันต์ ฟรอยด์ ลองอ่านดูนะคะคุณแม่
ทีนี้เมื่อลูกชอบไขว่ขว้า ให้คุณแม่หาของเล่นที่ใช้มือจับ เมื่อเขย่าจะมีเสียงแต่อย่าดังเกินไปนะคะ เดี๋ยวลูกตกใจ แต่ของเล่นคุณแม่ควรพิจารณามากเป็นพิเศษนะคะ เช่น สามารถเอาเข้าปากได้หรือไม่ มีสารอันตรายหรือเปล่า และมีส่วนไหนที่คมบ้าง เป็นต้นค่ะ

อายุ 5-6 เดือน

วัยนี้ทารกจะเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น คล่องขึ้น เริ่มสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น อยากรู้อยากลอง เห็นอะไรใกล้ตัวไม่ได้เลยค่ะ ถ้าคว้าได้ก็จะคว้าทันที (บางทีขนาดคุณแม่นั่งข้าง ๆ ยังห้ามไม่ทันเลย^^)

เริ่มสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว” จากตรงนี้เองให้คุณพ่อคุณแม่หาของเล่นที่เมื่อแตะหรือจับแกว่งแล้วมีเสียงดัง อาทิ กล่องดนตรี หรือลูกแซ็คที่เป็นของเล่นก็ได้ค่ะ เป็นการเสริมพัฒนาการให้ลูกได้ค่ะ

อายุ 6-7 เดือน

พัฒนาการของทารกช่วงนี้คือ จะเริ่มนั่งเองได้ เริ่มเล่นแรงมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจหาตุ๊กตาล้มลุก ของเล่นไขลาน หรือของเล่นที่มีเสียงเพลง เพื่อให้ลูกได้เต้นตาม เป็นการได้ออกกำลังกล้ามเนื้ออีกด้วยค่ะ กิจกรรมและของเล่นเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเป็นเด็กยิ้มแย้มแจ่มใส และอารมณ์ดีได้ค่ะ

อายุ 7-8 เดือน

ทารกเริ่มคลานได้คล่องขึ้น จนบางทีถ้าคุณพ่อคุณแม่เผลอคลาดสายตานิดเดียว ลูกก็คลานไปไกลแล้ว ความอยากรู้อยากลองจะมีมากขึ้น เริ่มมีการเกาะสิ่งของเพื่อจะยืน หรือปีนป่ายเก้าอี้ โซฟา คลานขึ้นบันได รื้อของเล่น ชอบโยนของเล่น เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็จะเอามือปัดของเล่นให้กระจาย และช่วงนี้ทารกจะเริ่มมีฟันขึ้นแล้วนะคะ จนบางครั้งสาเหตุที่ทำให้ลูกหงุดหงิดก็มาจากการเจ็บเหงือกเพราะฟันจะขึ้นนี่เองค่ะ

วัยนี้ของเล่นที่เมื่อเขย่าและมีเสียง กับของเล่นที่มีเพลงยังเล่นต่อไปได้ค่ะ นอกจากนี้ลูกจะเริ่มสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น ซึ่งช่วงนี้แหล่ะค่ะที่คุณพ่อคุณแม่ท่านใด อยากให้ลูกพูดสองภาษา สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ตอนนี้ พาไปเดินที่สวนสาธารณะแล้วชี้ชวนให้ลูกดูสัตตว์หรือต้นไม้ต่าง ๆ พร้อมคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นต้นค่ะ

อายุ 8-9 เดือน

ช่วงนี้ลูกเริ่มออกเสียงเป็นคำ ๆ ได้ และเข้าใจความหมายของคำที่พูดมากขึ้น แต่แบบสั้น ๆ นะคะ เช่น ไม่ ไป บาย หรือจุ๊บ เป็นต้น การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เพื่อให้ลูกมีปฏิกิริยาตอบสนอง

อายุ 9-10 เดือน

หลังจากที่เริ่มเกาะสิ่งของยืน มาช่วงนี้ลูกจะเริ่มเกาะเดินได้ เรื่องซนเป็นเรื่องปกติของเด็กเลยค่ะ แต่จะซนมากขึ้นเมื่อเขาโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษนะคะ จากของเล่นเดิม ๆ ลูกจะไม่เล่นแล้ว แต่จะเล่นพวกเครื่องครัว สายชาร์จ ปลั๊กไฟ กล่องรองเท้า ฯลฯ เรียกได้ว่าอะไรที่ใกล้ตัวเล่นได้หมด ยกเว้นของเล่น ช่วงนี้ต้องเพิ่มความเอาใจใส่ให้มากขึ้นเลยทีเดียว

อายุ 11-12 เดือน

ทารกเริ่มก้าวเท้าเดินได้ พูดเป็นคำมากขึ้น กิจกรรมที่ควรเล่นกับลูกในวัยนี้คือ พาไปเดินสวนสาธารณะ เล่นม้าโยก หรือกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเยอะหน่อย เป็นต้น

พัฒนาการสมองของลูกนอกจากจะต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ในครรภ์แล้ว หลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยกระตุ้นและเสริมพัฒนาการให้ลูกได้เช่นกันตามวัยที่ได้กล่าวไป เพราะพื้นฐานที่ดีตั้งแต่ต้น จะทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นได้ทั้งเด็กเก่งและเด็กดีค่ะ