คุณแม่มือใหม่หลายๆ ท่านอยู่ในวัยแบเบาะ อาจกังวลเวลาที่ลูกมีอาการสะอึกบ่อย หรือนอนหลับอยู่ดี ๆ ก็สะดุ้งขึ้นมา จะบอกว่าจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติมากสำหรับเด็กทารกแรกเกิดค่ะ และยังมีอีกหลายอาการที่คุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่รู้ วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่ามีอาการอะไรบ้าง
สารบัญ
- สะดุ้งหรือผวา
- กระตุกขณะหลับ
- บิดทั้งตัว
- สะอึก
- ถ่ายเหลว
- มีเสียงครืดคราดในลำคอขณะหลับตอนกลางคืน
- แหวะนม
- มีฝ้าขาวที่ลิ้น
- ตุ่มขาวในปาก
- ร้องไห้เวลาผายลม
- ร้องไห้เวลาปัสสาวะ
- ไม่ได้ถ่ายอุจจาระทุกวัน
- ผิวหนังลอก
- ริมฝีปากแห้งและลอกเป็นแผ่น
- ผิวหนังลายคล้ายร่างแห
- มีปานเขียวที่ก้น
- ใบหน้าเขียวคล้ำ หรือมีเลือดออกที่ตาขาว
- มีปานแดงชนิดเรียบ
- ภาวะตัวเหลือง
- นมเป็นเต้า
- อุจจาระบ่อย
- มีตุ่มขาวนูนที่หน้า
- มีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากช่องคลอด หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด
สะดุ้งหรือผวา
อาการนี้คุณแม่จะพบได้ในเวลาลูกหลับสนิทถึงแม้คุณแม่จะสัมผัสลูกแบบเบาๆ แล้วก็ตาม ลูกก็ยังมีอาการสะดุ้งหรือผวาง่ายโดยอาจจะแบมือ กางแขน กางขา เป็นต้นค่ะ แต่ลูกจะมีอาการเหล่านี้อยู่จนถึงอายุประมาณ 6 เดือน แล้วอาการจะค่อยๆ หายไปเองค่ะ
กระตุกขณะหลับ
จะเป็นเฉพาะเวลาลูกหลับเช่นกันค่ะ โดยมากจะกระตุกแขน ขา มือ หรือบางทีก็มุมปากเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลให้ขนาดลูกตื่น
บิดทั้งตัว
ข้อนี้ในทางการแพทย์เรียกว่า “เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อของทารก” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายอาการปกติที่ทารกส่วนใหญ่เป็นกัน โดยอาการจะคล้ายผู้ใหญ่บิดขี้เกียจ มีการยกแขน กำมือขึ้นเหนือศีรษะ งอสะโพก งอเข่า งอข้อเท้า บิดตัวหน้าแดงก่ำ ที่สำคัญร้องเสียงดังซะด้วย จนบางครั้งผู้เขียนคิดว่าลูกไม่ได้โวยวายอะไรใช่มั้ยลูก
สะอึก
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังทานนมอิ่ม นั่นเป็นเพราะอวัยวะภายในของลูกน้อยยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กล้ามเนื้อกระบังลมทำงานไม่สัมพันธ์กับการหายใจเข้าออก เมื่อลูกดูดนมจนอิ่มทำให้กระเพาะอาหารเกิดการขยายตัว มีแรงดันไปที่กระบังลม ส่งผลให้กระบังลมหดตัวอย่างรวดเร็วขณะหายใจออก จึงทำให้เกิดอาการสะอึกได้
ถ่ายเหลว
ในทารกแรกเกิดที่ทานนมแม่อย่างเดียวบางรายอาจมีการถ่ายทุกครั้งหลังทานนมได้ไม่นาน ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับอาหารเข้าไปแล้วนั้นก็จะส่งสัญญาณผ่านระบบประสาทเร็วปรื้ดเหมือน 4G ไปที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายให้บีบตัว เพื่อขับถ่ายอุจจาระออกทันที จึงทำให้ทารกแรกเกิดบางรายถ่ายได้วันละ 10-15 ครั้งเลยทีเดียว **หากไม่มีมูกเลือดปนออกมาด้วยนะคะ
มีเสียงครืดคราดในลำคอขณะหลับตอนกลางคืน
เนื่องมาจากหลอดลมของทารกยังพัฒนาได้ไม่แข็งแรง ยังมีการอ่อนตัวอยู่ ดังนั้น เมื่อเวลาที่ทารกหลับในตอนกลางคืน จึงทำให้มีเสียงครืดคราดในลำคอได้ แต่อาการนี้จะหายไปเมื่อทารกอายุได้ 4 เดือน
แหวะนม
เป็นเพราะระบบการทำงานของกล้ามเนื้อร่างกายยังพัฒนาและยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และระบบการย่อยของทารกก็ยังไม่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารยังปิดไม่สนิทหรือยังไม่แข็งแรงพอ ดังนั้นเวลาที่ลูกเรอหรือจับลูกนอนทันที ก็จะทำให้แหวะได้ค่ะ
มีฝ้าขาวที่ลิ้น
อาการลิ้นขาวเป็นฝ้านั้น เกิดจากน้ำนมที่เป็นคราบ เป็นสีขาวกระจายอยู่บริเวณกลางลิ้น เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้ม ซึ่งคุณแม่ต้องคอยทำความสะอาดให้ทั่วโดยใช้ผ้าสะอาด ชุบน้ำอุ่น แล้วใช้มือเช็ดให้ทั่ว แต่อาการนี้ก็จะหายได้เองหลังจากลูกอายุ 6 เดือนค่ะ
ตุ่มขาวในปาก
ตุ่มขาวนี้พบได้ที่เพดานปาก ขนาดเท่าหัวหมุด แต่จำนวนจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน ไม่ส่งผลให้ลูกทานนมได้น้อยลงและจะหายได้เอง คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ
ร้องไห้เวลาผายลม
หลังจากที่ทารกทานนมแม่แล้ว ระบบร่างกายก็จะทำงานส่งสัญญาณไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในแผนกย่อยและขับถ่าย เมื่อไปถึงลำไส้ ลำไส้ก็จะบีบตัวเพื่อขับของเสียออกจึงเกิดการผายลม แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องใหม่ของทารก ทำให้บางครั้งก็ตกใจกับเสียงของตัวเอง
ร้องไห้เวลาปัสสาวะ
เด็กทารกอายุใกล้ถึง 1 เดือน จะสามารถรับรู้ความรู้สึกปวดปัสสาวะได้ จึงทำให้ร้องไห้เวลาปัสสาวะ แต่ทั้งนี้คุณแม่ต้องสังเกตอาการลูกด้วยนะคะ ว่าลูกไม่มีอาการเกร็งหรือเบ่งปัสสาวะ ไม่อย่างนั้นควรพาไปพบคุณหมอค่ะ
ไม่ได้ถ่ายอุจจาระทุกวัน
เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนถ่ายวันละหลายรอบ บางคนถ่ายทุกวัน บางคนถ่ายวันเว้นวัน โดยเฉพาะเด็กที่ทานนมผสม อาจทำให้ 2-3 วัน ถ่ายครั้ง หากลูกดูไม่งอแง ไม่อึดอัด และยังทานนมได้ตามปกติ ก็ไม่มีอะไรน่ากังวลค่ะ
ผิวหนังลอก
อาการนี้พบได้ทั้งในทารกที่คลอดตามกำหนดกับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งหลังจากคลอดแล้ว 48 ชั่วโมง อาจพบว่าทารกบางรายมีอาการหนังลอกที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว โดยจะมีลักษณะเป็นขุยขาว ๆ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลค่ะ เพราะหลังจากคลอดแล้วประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ อาการเหล่านี้ก็จะหายได้เอง
ริมฝีปากแห้งและลอกเป็นแผ่น
อาการนี้เกิดจากการที่ทารกดูดนม หรือที่เรียกว่า “Sucking Reflex” ซึ่งจะส่งผลให้หนังที่ริมฝีปากของทารกลอกออก แต่ที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องดึงหรือลอกออกนะคะ เพราะหนังจะหลุดลอกไปเองค่ะ และจะหายได้เองเมื่อทารอายุได้ 1 เดือน
ผิวหนังลายคล้ายร่างแห
เนื่องจากทารกจะมีผิวที่บอบบาง ดังนั้นเวลาที่ทารกอุจจาระ ปัสสาวะ หรือผิวหนังได้สัมผัสกับอากาศร้อนหรืออากาศเย็น ก็จะทำให้เห็นเส้นเลือดใต้ผิวหนังได้อย่างชัดเจน
มีปานเขียวที่ก้น
ปานเขียวหรือปานสีน้ำเงิน ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะบริเวณหัวไหล่ ก้น หรือที่อื่น ๆ ตามตัว ทางการแพทย์จะเรียกว่า “Mongolian Spot” ซึ่งเกิดจากมีเมลาโนไซต์กระจายอยู่ทั่วผิวหนัง สามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด – 12 ปี หลังจากจากนั้นอาการเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ หายไป
ใบหน้าเขียวคล้ำ หรือมีเลือดออกที่ตาขาว
ส่วนใหญ่อาการนี้จะพบในทารกที่คลอดทางช่องคลอดหรือทารกที่คลอดยาก โดยอาการเขียงคล้ำบนในหน้านี้จะหายได้เองภายใน 1 – 2 วันหลังคลอด ส่วนอาการเลือดออกในตาก็จะค่อย ๆ หายได้เองค่ะ ไม่ต้องรักษา กินยา หรือทายาแต่อย่างใด
มีปานแดงชนิดเรียบ
บริเวณที่เกิดปานแดงชนิดนี้ซึ่งพบได้บ่อย คือ หน้าผาก ผิวหนังใต้จมูก และท้ายทอย ถ้าใช้มือกดลงไปจะจาง ไม่นูน หรือที่เรียกกันว่า “Stork Mark” ปานแดงชนิดนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อลูกร้องไห้ อาการปานแดงชนิดนี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่ออายุประมาณ 1 ปี
ภาวะตัวเหลือง
ภาวะนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ ทารกที่เพิ่งคลอดใหม่ ๆ ภาวะตัวเหลืองนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งถ้าพบในกรณีนี้ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ และอาจทำการส่องไฟรักษา ควบคู่ไปกับแนวทางการรักษาด้านอื่น ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของคุณหมอค่ะ แต่ถ้าหากพบภาวะนี้เมื่อลูกมีอายุเกิน 1 เดือนไปแล้ว และเป็นเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว แต่ก็ยังมีอาการตัวเหลือง ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ถ้าอุจจาระมีสีเหลืองนวล น้ำหนักขึ้นดี กินนมได้ตามปกติ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นอาการทั่วไปที่สามารถพบได้ในเด็กที่นมแม่ อาการนี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่อลูกอายุได้ 4 เดือนค่ะ
นมเป็นเต้า
อาการนมเป็นเต้าตั้งแต่แรกเกิดหรือทางการแพทย์เรียกว่า “Witch Milk” สามารถพบได้ทั้งทารกเพศชายและเพศหญิง ในทารกบางรายอาจพบว่ามีน้ำนมไหลออกมาด้วย แต่ก็ไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจไปค่ะ เนื่องจากอาการนี้จะหายได้เองเมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป
อุจจาระบ่อย
หากทารกเป็นเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว การอุจจาระบ่อยถือเป็นเรื่องปกติค่ะ บางรายอาจจะอุจจาระทุกครั้งหลังกินนม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ต้องไม่มีมูกเลือดปน ต้องมีสีเหลืองนวล เป็นต้น ซึ่งการที่ทารกถ่ายบ่อยในกรณีที่กินนมแม่ อาจเกิดได้จากการที่ทารกกินนมแม่ซึ่งได้แต่นมส่วนหน้า แนะนำเวลาที่คุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าควรให้ลูกกินนมให้หมดทีละข้าง ไม่แนะนำให้สลับเต้าไปมานะคะ
ในน้ำนมแม่นั้นนมที่เป็นนมส่วนหน้าจะมีปริมาณของน้ำเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น หากทารกดูดได้ไม่เกลี้ยงเต้า หรือมีการสลับเต้าไปมาจะส่งผลให้ลูกไม่ได้รับน้ำนมส่วนปลายซึ่งมีสารอาหารและไขมันในปริมาณที่มากกว่านมส่วนต้นค่ะ
มีตุ่มขาวนูนที่หน้า
ตุ่มขาวนูนที่หน้า หรือผื่นมิเลีย (Milia) จะมีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดเล็ก ๆ สีขาวหรือเหลืองขุ่น พบได้มากบริเวณหน้าผาก จมูก แก้ม และคาง ตุ่มนี้เกิดจากการสะสมของเครตินหรือโปรตีนที่ชั้นหนังกำพร้ามากกว่าปกติ แต่ไม่มีอันตรายค่ะ และจะหายไปได้เองเมื่อลูกอายุได้ประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ ในขณะที่บางรายอาจอยู่นานถึง 3 เดือน
มีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากช่องคลอด หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด
สาเหตุเกิดจากฮอร์โมนของคุณแม่ส่งผ่านรกมาให้ทารก ซึ่งตับของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถสลายฮอร์โมนที่ตกค้างในตัวทารกเองได้ จึงทำให้ช่องคลอดของทารกคล้ายวัยสาว คือมีติ่งเนื้อยื่นออกมาก แต่อาการเหล่านี้จะหายได้เองเมื่อลูกอายุประมาณ 1 – 2 เดือน แต่คุณแม่ต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาด โดยการใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดบริเวณที่มีเลือดออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อค่ะ
น้ำสะอาดที่ใช้ควรเป็นน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วนะคะ เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าการทำความสะอาดช่องคลอดนี้สะอาดจริง และลูกน้อยจะไม่ได้ติดเชื้อจากน้ำที่ไม่สะอาดแทนค่ะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นอาการแบบไหนของทารกที่เรียกว่าปกติ และ “ความผิดปกติของทารกแรกเกิด มีอะไรบ้างที่ต้องไปพบแพทย์” ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจมากเกินไปนะคะ ค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ปรับตัวกันไป เพราะการเลี้ยงลูกแม้จะเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่ากับความสุขที่ได้รับค่ะ