Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ระวัง! เพราะอะไรแม่ไม่ควรแคะหูลูก ประโยชน์ของขี้หู

ระวัง! เพราะอะไรแม่ไม่ควรแคะหูลูก ประโยชน์ของขี้หู

เพราะความที่เป็นคุณแม่ ต้องดูแลลูกน้อยอย่างดี ทุกอย่างต้องสะอาดหมดจด เห็นขี้หูลูกก็อยากแคะ เพราะกลัวลูกรำคาญหรืออึดอัด แต่เดี๋ยวก่อน! ก่อนที่จะแคะขี้หูลูกนั้น อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจในเรื่องขี้หูลูกกันสักหน่อยค่ะ เพราะขี้หูลูกนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด

ขี้หู เกิดจากอะไร?

เกิดจากต่อมในหูสร้างขี้หูออกมา โดยขี้หูมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ไม่ละลายน้ำ ขี้หูจะมีกลิ่นและลักษณะเฉพาะตัว รวมถึงมีสีที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล อาทิ สีเหลือง สีเหลืองอมส้ม หรือสีน้ำตาล

ขี้หูมีกี่ประเภท?

ขี้หูแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

  • ขี้หูชนิดแห้ง
  • ขี้หูเปียก คล้ายขี้ผึ้ง

ประโยชน์ของขี้หู

ขี้หูมีประโยชน์ดังนี้

  • ทำหน้าที่ปกป้องผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณผิวหูชั้นนอก
  • ทำหน้าที่ช่วยป้องกันแมลง
  • ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าถึงหูชั้นใน

ทำไมจึงไม่ควรแคะหูลูก

นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค คอ หู จมูก ประจำสถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ไม้แคะหู รวมถึงการใช้ไม้พันสำลีเช็ดในรูหูหลังอาบน้ำหรือสระผมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจาก…

ดันขี้หูเข้าไปข้างใน

เพราะการใช้คอตตอนบัดที่มีขนาดใหญ่เท่ารูหู ใส่เข้าไปในรูหูก็เท่ากับเป็นการดันขี้หูเข้าไปข้างใน ซึ่งจะส่งผลให้การได้ยินไม่ชัดเจนนัก ซึ่งอาจต้องมาพบแพทย์เพื่อนำขี้หูออก ซึ่งทางโรงพยาบาลบำราศนราดูร พบเคสดังกล่าวนี้กว่า 100 รายในแต่ละเดือน

หูติดเชื้อ

การใช้คัตตอนบัดแคะหู หากคัตตอนบัดไม่สะอาดอาจส่งผลให้หูเกิดการติดเชื้อได้ เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือหากแคะลึกไป อาจทำให้แก้วหูทะลุได้

รูหูแห้ง

บางคนอาจใช้แอลกอฮอล์มาช่วยในการทำความสะอาดภายในรูหู ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะแอลกอฮอล์ไม่ได้สามารถฆ่าเฉพาะเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ผิวหนังบริเวณหูนั้นแห้งเกินไปอีกด้วย

เกิดแผลในรูหู

เนื่องจากผิวหนังในรูหูนั้นบางมาก อาจทำให้เกิดแผลถลอกในรูหูได้ เสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบ และอาจเป็นหูน้ำหนวกได้

วิธีทำความสะอาดหูลูกอย่างถูกวิธี

นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข ได้ให้คำแนะนำหากต้องการแคะหูหรือทำความสะอาดหูอย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้

ทำความสะอาดเฉพาะใบหู

การทำความสะอาดควรทำเฉพาะใบหูและบริเวณปากรูหูเท่านั้น ด้วยการใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ชุบสบู่หรือน้ำ เช็ดทำความสะอาดเบา ๆ บริเวณหู ใบหู

ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู

หากกลัวว่าจะมีน้ำเข้าหู ให้ใช้สำลีก้อนอุดหูลูกไว้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก

การใช้ยาหยอดหูกับลูกน้อย

  • ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการทำความสะอาดหูลูก
  • อ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องก่อนการหยอดให้ลูก
  • ให้เช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหู ด้วยการใช้ผ้านุ่ม ๆ ชุบน้ำเช็ดบริเวณใบหู
  • ให้กำขวดยาในอุ้งมือ 2 – 3 นาที โดยประมาณ เพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิของน้ำยาใกล้เคียงกับร่างกายลูก
  • หากน้ำยาที่ใช้หยอดหูลูกเป็นลักษณะแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อน 10 วินาทีโดยประมาณ
  • จัดท่าให้ลูกนอนตะแคงหรือนอนเอียงหู ให้ด้านที่หยอดอยู่ด้านบน
  • ก่อนจะหยอดให้คุณแม่จับที่ใบหูลูกดึงออกเล็กน้อย เบา ๆ ในทิศทางที่ลงด้านล่างและเยื้องไปด้านหน้าเล็กน้อย
  • ใช้มืออีกข้างค่อย ๆ หยอดยา ตามจำนวนที่กำหนดที่กำหนด และระวังไม่ให้ปลายหลอดหยดสัมผัสกับหูลูก
  • หลังจากหยอดให้เอียงหูข้างนั้นทิ้งไว้ก่อน 2 – 3 นาที รอให้น้ำยาไหลลงไปถึงแก้วหูก่อน หรืออาจใช้สำลีอุดไว้ก่อนก็ได้ค่ะ
  • ปิดขวดยาให้สนิท คุณแม่ล้างมือให้สะอาดอีกรอบค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ขี้หูมีประโยชน์มากกว่าที่คิดใช่ไหมล่ะคะ ซึ่งจากนี้ไปหากคุณแม่ต้องการทำความสะอาดหูลูก ให้เช็ดเฉพาะด้านนอกเท่านั้นนะคะ ไม่ต้องแคะเข้าไปในรูหูกันแล้วนะคะ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และหูลูกอาจเกิดแผลได้

อ้างอิง babimild.com, mgronline.com