Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เผยสาเหตุ ลูกโตช้า ตัวเล็ก พร้อมคำแนะนำด้านโภชนาการ

เผยสาเหตุ ลูกโตช้า ตัวเล็ก พร้อมคำแนะนำด้านโภชนาการ

ลูกโตช้า ตัวเล็ก ทั้งที่ก็กินข้าวได้ตามปกติ แน่นอนย่อมเป็นปัญหาหนักอกของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน้ำหนักของเด็กสามารถลดลงได้ตามความสูง แต่ถ้าเด็กสามารถเติบโตไปได้อย่างปกติก็ไม่น่าจะต้องกังวลแต่อย่างใด ยกเว้นว่าหากน้ำหนักของลูกลดลงภายในการวัดเพียงครั้งเดียวอย่างมีนัยสำคัญ อย่างนี้ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ

เกณฑ์การวัดน้ำหนักในแต่ละช่วงวัย

เกณฑ์ในการวัดน้ำหนักและส่วนสูงนั้น องค์การอนามัยโลกได้ออกมาแนะนำให้ใช้เป็นแผนภูมิกราฟในการวัด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการประเมินที่ผิดพลาด ซึ่งเกณฑ์ในการวัด คือ น้ำหนักหรือส่วนสูงต่ำกว่า (เกณฑ์ที่ปกติจะมีค่าอยู่ระหว่าง P25-P75 ซึ่งตารางนี้คุณแม่จะพบได้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ที่ด้านในจะมีประวัติการรับวัคซีนของลูกตั้งแต่แรกเกิด

ตารางเทียบน้ำหนักและส่วนสูง

อายุ น้ำหนัก
ทารกแรกเกิด 3 กิโลกรัม โดยประมาณ
อายุ 4-5 เดือน 4-5 กิโลกรัม
อายุ 1 ปี 9 กิโลกรัม โดยประมาณ (เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากน้ำหนักแรกเกิด)
อายุ 2 ปี 12 กิโลกรัม โดยประมาณ (เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า จากน้ำหนักแรกเกิด)
อายุ 3 ปี น้ำหนักเพิ่มประมาณ 2.3-2.5 กิโลกรัม/ปี

สาเหตุที่ทำให้ลูกโตช้า

ได้รับปริมาณแคลอรี่ไม่เพียงพอ

ข้อนับเป็นปัญหามากที่สุดเรียกได้ว่า 90% เลยทีเดียวที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกน้อยโตช้า หรือน้ำหนักน้อย ลูกน้อยได้รับแคลอรี่ไม่เพียงพอในแต่ละวัน นอกจากนี้ ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับเด็กที่กำลังหัดเดินที่ร่างกายมีความปกติดีทุกอย่าง เพียงแต่ว่าเขาจะห่วงเล่น จนลืมหิว ลืมกิน และกับอีกหนึ่งประเด็นคือ ทารกในช่วง 2-3 เดือนแรก ที่น้ำหนักขึ้นน้อย เป็นไปได้ว่าน้ำนมแม่ไม่เพียงพอหรือสูตรของนมผงไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม

การจำกัดปริมาณอาหาร

บางครั้งลูกอาจได้รับสารอาหารที่ไม่ครบตามที่ควรจะได้รับในแต่ละวัน จึงส่งผลต่อน้ำหนักตัวของลูกได้โดยตรง หรือในกรณีโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นมักจะห่วงเรื่องภาพลักษณ์ตัวเองที่กลัวว่าจะอ้วนเกินไปจึงจำกัดปริมาณของอาหารจนทำให้เกิดโรคความผิดปกติในการกินหรือโรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa)

มีปัญหาทางช่องปากหรือระบบประสาท

หากเด็กมีปัญหาแผลในช่องปากหรือมีความผิดปกติทางระบบประสาทก็สามารถส่งผลให้เด็กไม่สามารถกลืนอาหารได้ ยกตัวอย่างภาวะที่ผิดปกติได้แก่ สมองพิการ หรือเพดานโหว่ ในกรณีนี้ต้องได้รับคำแนะนำและรับการรักษาจากแพทย์เท่านั้น

อาเจียนบ่อย

ในทารกหรือเด็กบางรายร่างกายไม่สามารถเก็บกักสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไว้ได้ เนื่องจากมีการอาเจียนบ่อย ซึ่งอาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อนที่รุนแรง หรืออาจมีปัญหาทางระบประสาทบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการรับประทานอาหาร ทารกบางรายที่มีการอาเจียนบ่อยเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากช่องทางออกของกระเพาะอาหารที่ตีบ (Pyloric Stenosis) ซึ่งเป็นความพอการแต่กำเนิด ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและรักษา

สำหรับทารกบางคนที่มีอาการของโรคกรดไหลย้อนที่ไม่รุนแรง ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีอาการดีขึ้นได้และหายไปเองเมื่อโตขึ้น

ตับอ่อนทำงานผิดปกติ

เด็กบางคนทีตับอ่อนทำงานผิดปกติร่างกายจะไม่สามารถย่อยอาหารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้น้ำหนักขึ้นน้อย ซึ่งในกรณีนี้เด็กอาจมีอุจจาระขนาดใหญ่ มีกลิ่นเหม็น เป็นฟอง ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน

ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ

ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารนี้จะส่งผลต่อเยื่อบุลำไส้ ซึ่งโรคลำไส้อักเสบจะส่งผลให้เด็กมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง อาทิ โรคโครห์น (Crohn’s disease) เป็นต้น

ปัญหาจากต่อมไทรอยด์และระบบการเผาผลาญอาหาร

บางกรณีเด็กบางคนมีการเผาผลาญแคลอรี่มากเกินไปซึ่งเป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ จึงส่งผลให้สารอาหารที่อยู่ในร่างกายนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

ทารกที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะมีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย กินน้อย รวมถึงอาเจียนบ่อย เป็นผลข้างเคียงจากยาในการรักษา ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ และน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์นั่นเอง

ไตทำงานผิดปกติ

ความผิดปกติของไตหรือไตวาย มีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กได้เช่นกัน แต่สาเหตุนี้พบได้ไม่บ่อย

มีความผิดปกติทางพันธุกรรม

สาเหตุนี้มีผลต่อน้ำหนักตัว ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและรักษาค่ะ

ลูกโตช้า กับคำแนะนำด้านโภชนาการ

  • ให้ลูกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ : ข้าว 1-2 ทัพพี/มื้อ โปรตีนคุณภาพ เช่น ไข่ 1 ฟองทุกวัน ผลไม้ เช่น ส้ม หรือมะละกอ และนม ตามแต่ละช่วงวัย
  • ไม่ให้นมมากเกินไป : เด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป สามารถกินข้าวได้ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริม โดยให้นมหลังมื้ออาหารเท่านั้น
  • ชวนลูกปรุงอาหาร : เพราะการที่ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร จะทำให้ลูกตื่นเต้นที่จะกินฝีมือตัวเอง
  • ห้ามดุหากลูกไม่กิน : ด้วยความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ กลัวลูกหิว พอลูกไม่กินก็ดุ ก็ตี แบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินข้าวมากขึ้นไปอีก แต่ควรพูดกับลูกด้วยเหตุผลค่ะว่าถ้าไม่กินจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร
  • ปิดสื่อทุกอย่างขณะกินอาหาร : เพื่อให้ลูกได้โฟกัสกับการกินอาหารอย่างเดียว และคุณแม่จะสามารถควบคุมระยะเวลาในการกินได้อีกด้วย
  • เปลี่ยนเมนูไม่ให้ซ้ำหรือจัดจานให้น่ากิน : เพราะเด็กจะขี้เบื่อ ดังนั้น เรื่องนี้ถือเป็นชาเล้นจ์ของคุณแม่เลยค่ะ ให้คุณแม่นำทัพเลยว่าจะสร้างสรรค์อะไรให้ลูกดี
  • พาลูกออกกำลังกาย : เพราะการให้ลูกได้ออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเล่น หรือการทำสวน ปลูกต้นไม้ ฯลฯ เป็นการให้เด็กได้ออกกำลัง ใช้พลังงาน และจะได้กินข้าวเพิ่มมากขึ้นค่ะ

คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่า หลักการทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นหลักการที่คล้ายกับการปรับพฤติกรรมเด็กกินยาก เพราะวัตถุประสงค์หลักคือ เป็นการกระตุ้นความอยากอาหารนั่นเองค่ะ

เรื่องโภชนาการของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนับเป็นส่วนส่งเสริมพื้นฐานที่จะทำให้ลูกได้เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่พิจารณาดูแล้วว่าลูกกินเยอะ เล่นได้ อารมณ์ดี นอนหลับ ไม่ได้มีเรื่องของน้ำหนักลดลงอย่างมีนัย แบบนี้ก็ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะถือว่าลูกน้อยยังสุขภาพดีอยู่

อ้างอิง health.clevelandclinic.org , bumrungrad.com