ความกังวลใจของคุณแม่เกี่ยวกับลูกมีไม่กี่อย่างหรอกค่ะ ก็แค่ทำไมลูกกินนมน้อย ลูกร้องไห้ไม่หยุดเพราะอะไร ลูกไม่ถ่ายมา 2 วันแล้วลูกท้องผูกหรือเปล่า ทำไมลูกนอนหลับได้นานมากกว่าปกติ ทำไมลูกชอบตื่นกลางดึก ตลอดจนพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก เช่น ทำไมลูกเดินช้า เป็นต้น
สารบัญ
พัฒนาการด้านการเดินแต่ละช่วงวัย
โดยทั่วไปในแต่ละวัยของเด็กจะมีพัฒนาการด้านการเดิน ดังนี้
ช่วงวัย 3 – 4 เดือน
ให้คุณแม่สังเกตขณะที่ลูกนอนคว่ำ ลูกน้อยจะใช้แขนทั้งสองข้างยันตัวเองขึ้นมา ให้หน้าอกห่างจากพื้นได้เล็กน้อย ซึ่งถือเป็นการฝึกกล้ามเนื้อลำตัวให้แข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาการขั้นถัดไป นั่นก็คือ การนั่ง และการยืนนั่นเอง
ช่วงวัย 5 เดือน
ขณะที่คุณพ่อคุณแม่อุ้มประคองลูกน้อยไว้ในท่าที่พยุงลูกน้อยยืน เขาจะถีบตัวเองขึ้น-ลงจากพื้น ดูเหมือนการกระโดด ซึ่งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
ช่วงวัย 6 – 10 เดือน
ลูกน้อยจะเรียนรู้เรื่องการนั่งได้เอง ต่อมาก็จะคลานได้ ที่สำคัญเป็นการฝึกระบบการทรงตัวของร่างกาย รวมทั้งฝึกการเคลื่อนไหวที่ต้องมีการทำงานประสานกันของแขนทั้งซ้ายและขวา
ช่วงวัย 9 – 15 เดือน
มาในช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มมีการหัดยืน ด้วยการเหนี่ยวตัวเองกับสิ่งของต่าง ๆ เริ่มมีการตั้งไข่ และเดินไต่สิ่งของนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งลูกน้อยจะเริ่มปล่อยมือและค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง
ช่วงวัย 14 – 15 เดือน
ลูกน้อยเริ่มเดินได้เอง แต่บางครั้งคุณแม่อาจเห็นว่าลูกน้อยชอบเดินเร็ว และล้ม นั่นเป็นเพราะว่าเขายังควบคุมกล้ามเนื้อขาได้ไม่ดี (ซึ่งก็อยู่ในช่วงการฝึกนี้) ผนวกกับใจที่ไปไวกว่าตัว อยากจะเรียนรู้สิ่งนั้น อยากจะเห็นสิ่งนี้นั่นเองค่ะ
สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับพัฒนาการด้านการเดินของลูก
เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการด้านการเดินของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมสิ่งต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
แผ่นรองคลาน
โดยเฉพาะบริเวณที่ลูกหัดเดินเป็นประจำ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของลูกน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญ เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้สบายใจด้วยนั่นเองค่ะ ว่าลูกจะไม่เจ็บมากหากต้องล้ม
เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสม
จากประสบการณ์ การที่ลูกน้อยหัดเดินเค้าจะใช้ปลายเท้า (ช่วงนิ้วเท้า) ในการจิก เพื่อช่วยในการทรงตัว ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เลือกเสื้อผ้าหรือชุดสูทที่คลุมเท้าแบบนี้จะทำให้ลูกน้อยหัดยืนและเดินได้ยาก แถมลื่นอีกต่างหากนะคะ
เลือกผ้าอ้อมให้เหมาะสม
ให้คุณแม่เลือกผ้าอ้อมที่นุ่มใส่สบาย แผ่นบาง เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวของลูกเป็นไปได้อย่างสะดวก และผ้าอ้อมจะได้ไม่เสียดสีกับขาด้านในของลูกจนเกิดเป็นแผล
หายางกันมุมโต๊ะหรือตู้
เมื่อลูกน้อยหัดเดิน ให้คุณพ่อคุณแม่เช็คสิ่งของต่าง ๆ ในบ้านให้ดีว่ามีส่วนไหนที่เสี่ยงอันตรายต่อลูกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นมุมโต๊ะ ตู้ หรือของเตียง ควรหายางกันมุมโต๊ะมาติดไว้ กันลูกล้มชนจนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
จะช่วยกระตุ้นให้ลูกเดินได้อย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกฝึกเดินได้ ดังนี้
โอกาสทองในช่วงขวบปีแรก
หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมที่จะตั้งไข่ หรือจะยืน ให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยอุ้มลูกน้อยด้วยการพยุงที่ไต้วงแขนทั้งสองข้าง และพาลูกค่อย ๆ เดินไป เพื่อฝึกความเคยชินของลูก
บริหารร่างกาย
ให้คุณพ่อคุณแม่บริหารร่างกายของลูกน้อย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา อาจเป็นท่าที่หดขาเข้าและยืดออก ค่อย ๆ ทำอย่างนุ่มนวลนะคะ
เป็นไกด์ไลน์ให้ลูก
เพราะลูกน้อยยังไม่รู้วิธีที่นั่งจากท่ายืน ดังนั้น ในการฝึกเดินลูกอาจติดขัดปัญหา และร้องให้คุณแม่ช่วย คุณแม่ควรช่วยลูกน้อยด้วยการที่มือข้างหนึ่งประคองที่หน้าอกลูกก่อน (ป้องกันการที่ลูกน้อยปล่อยมือจากสิ่งของที่เกาะกะทันหัน แล้วคางอาจกระแทกได้) และใช้มืออีกข้างค่อย ๆ งอเข่าลูกช้า ๆ เพื่อให้เขารู้ว่าก่อนนั่งควรงอเข่าก่อน หลังจากนั้นลูกก็จะเรียนรู้ได้ค่ะว่าจากท่ายืนจะไปท่านั่งควรทำอย่างไร
พยุงลูกให้ลูกตั้งไข่
เพื่อให้ลูกน้อยได้หัดตั้งไข่ได้นานขึ้น ระหว่างที่พยุงลูกน้อยให้ตั้งไข่อยู่นั้น ให้คุณพ่อคุณแม่หาของเล่น หรือคุยเล่นกับลูกน้อย ให้ลูกน้อยได้เพลิน ๆ ซึ่งก็จะทำให้เขายืนได้นานขึ้น
ฝึกให้ก้าวเดินออกมา
เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจยืนฝั่งตรงข้ามกัน จับมือของลูกไว้ทั้งสองข้าง จากนั้นค่อย ๆ ถอยหลังจากลูก ปล่อยมือจากลูก และกระตุ้นให้เขาเดินไปหาอีกฝั่ง
**ข้อควรรู้ หากลูกน้อยมีอายุ 15 เดือนแล้ว แต่ลูกยังไม่มีวี่แววว่าจะหัดเดิน แบบนี้ควรปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ
พัฒนาการด้านการเดินของเด็กแต่ละคนนั้นอาจมีช้าและเร็วต่างกัน แต่จากข้อมูลด้านพัฒนาการด้านการเดินของแต่ละช่วงวัยที่ได้กล่าวมา คุณแม่สามารถกระตุ้นเรื่องการหัดเดินของลูกได้นะคะ พร้อมกับหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก เพราะถ้าหากมีอะไรที่ผิดปกติ ก็จะได้เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที