Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พังผืดใต้ลิ้น (Ankyloglossia หรือ Tongue-tie) สิ่งเล็ก ๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับลูก

พังผืดใต้ลิ้น (Ankyloglossia หรือ Tongue-tie) สิ่งเล็ก ๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับลูก

ต้องบอกว่ายังมีอีกหลายครอบครัวที่ยังไม่รู้จักกับเรื่องของ “พังผืดใต้ลิ้น” ซึ่งความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ซึ่งยังถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่เป็นจำนวนมากที่รู้ว่าลูกเป็นแล้วแต่ไม่รีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงส่งผลให้มีปัญหาตามมาในหลาย ๆ ด้าน ว่าแต่โรคนี้จะต้องสังเกตอย่างไร? มีอาการอย่างไร? รักษาอย่างไร? รวมถึงถ้าไม่รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะมีผลอย่างไร? ทุกคำถามมีคำตอบรออยู่แล้วค่ะ ไปติดตามกันเลย

ภาวะพังผืดใต้ลิ้น หรือภาวะลิ้นติดคืออะไร?

ภาวะพังผืดใต้ลิ้น (Ankyloglossia หรือ Tongue-tie) คือ เยื่อบางที่ติดยึดอยู่บริเวณด้านล่างระหว่างโคนลิ้นและพื้นด้านล่างของช่องปาก ซึ่งใกล้ ๆ กับบริเวณนี้จะมีส่วนของกล้ามเนื้อ เส้นเลือด และระบบน้ำเหลืองที่ส่งไปเลี้ยงที่ลิ้น ถ้าเยื่อดังกล่าวมีความหนาหรือสั้นเกินไป จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะกับทารกแรกเกิด ทำให้การดูดนมแม่นั้นยากขึ้น เนื่องจากการดูดนมแม่นั้นต้องใช้ลิ้นแลบออกมาพร้อมกับรีดน้ำนมจากจากลานนมออกมา
ซึ่งถ้าลูกดูดนมแม่ได้ลำบาก ก็จะส่งผลให้น้ำหนักตัวขึ้นน้อย และไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ลูกก็จะดูดนมแม่ไปหลับไปเพราะเหนื่อยที่ต้องใช้แรงเยอะในการดูด (เมื่อยลิ้น) หรือไม่ลูกอาจขอดูดนมตลอดเวลา เพราะลูกได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนคุณแม่เองก็ต้องเผชิญกับปัญหาเจ็บหัวนม เพราะหัวนมแตก (เพราะลูกงับไปไม่ถึงลานนมของแม่)

วิธีสังเกตว่าลูกมีภาวะพังผืดใต้ลิ้นหรือไม่?

มีวิธีง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

  1. ลูกจะแลบลิ้นได้แต่จะไม่พ้นริมฝีปากหรือเหงือกบน
  2. ลูกไม่สามารถกระดกปลายลิ้น เพื่อขึ้นไปสัมผัสกับเพดานปากด้านบนได้
  3. ไม่สามารถบังคับลิ้นให้ไปด้านข้างได้
  4. ขณะที่ลูกแลบลิ้น ปลายลิ้นจะไม่มนเหมือนคนทั่วไป แต่จะแบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมแทน
  5. ปลายลิ้นจะเป็นร่องหยักเข้ามา (เพราะการดึงรั้งของเยื่อใต้ลิ้น) คล้ายกับรูปหัวใจ

อาการที่บ่งบอกว่าลูกควรได้รับการรักษา

  1. คุณแม่มีอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก หรือมีรอบฟกช้ำ
  2. หัวนมเบี้ยว หรือผิดรูปไปหลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จเรียบร้อย
  3. พบรอยกดหรือรอยเป็นริ้ว ๆ บนหัวนมหลังจากที่ลูกดูดนมแล้ว
  4. ลูกดูดนมไม่ได้ หรือดูดแล้วแต่ก็หลุด หลุดบ่อย ถ้าเป็นอย่างนี้ลูกจะดูดได้แต่ลม อาจทำให้ลูกท้องอืดได้
  5. จะมีเสียงคล้ายกระเดาะลิ้นจากปากลูกขณะที่ดูดนมแม่ (เพราะหลุดบ่อย)
  6. น้ำหนักตัวลูกไม่ขึ้น ขึ้นช้า และไม่เป็นไปตามเกณฑ์ปกติที่ควรจะเป็น

การรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้น หรือภาวะลิ้นติด

อดีต

ใช้การผ่าตัดที่เด็กทุกคนต้องดมยาสลบ แต่วิธีการนี้สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก แม้ทางคณะแพทย์เองมีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยต่อเด็กแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบได้ ซึ่งหลังผ่าตัดนั้น เด็กจำเป็นที่จะต้องนอนพักเพื่อดูอาการ และติดตามผลการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 2 – 3 วัน

ปัจจุบัน

คณะแพทย์ได้ประยุกต์วิธีการรักษาใหม่โดยใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการรักษาด้วยยาสลบ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ หลังผ่าตัด ลูกน้อยสามารถดูดนมแม่ได้ทันที และไม่ต้องกังวลใจเรื่องแผลผ่าตัด แผลนี้จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

ถ้าไม่เข้ารับการรักษาจะเป็นอย่างไร?

  1. ภาวะพังผืดใต้ลิ้นมีแนวโน้มที่จะยืดออกเองได้เมื่อลูกโตขึ้น หากลูกไม่มีปัญหาในเรื่องการดูดนมแม่ แพทย์จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ
  2. น้ำหนักลูกจะขึ้นน้อย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าที่ควร
  3. เมื่อโตขึ้นจะมีปัญหาในเรื่องการออกเสียงควบกล้ำ เพราะมีพังผืดยึดมาถึงที่ปลายลิ้น ในบางรายอาจพูดไม่ได้ หรือพูดช้า ทำให้เกิดปมด้อยในเด็กได้

ภาวะพังผืดใต้ลิ้นเป็นมักถ่ายทอดมาจากพันธุกรรม ไม่สามารถป้องกันได้ แต่หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเข้ามากวนใจ

อ้างอิง
ผศ.นพ.มงคล เลาหเพ็ญแสง โรงพยาบาลศิริราช
Mamaexpert.com