Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทารกตัวเหลือง อันตรายหรือเปล่า ทำอย่างไรดี

ทารกตัวเหลือง อันตรายหรือเปล่า ทำอย่างไรดี

“ภาวะตัวเหลือง” (Jaundice) พบได้ในเด็กแรกเกิดที่คลอดตามกำหนด 50% และพบมากในเด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดถึง 80% ภาวะนี้อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยเองที่บ้านได้หรือไม่ วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ

ภาวะตัวเหลือง คืออะไร?

ภาวะตัวเหลืองเกิดจากร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน (Bilirubin)” ในเลือดมากกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้วภาวะตัวเหลืองจะเกิดกับทารกแรกเกิดภายใน 2-3 วันหลังคลอด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตรวจค่าจากบิลิรูบิน เพื่อดูค่าความเหลืองและจะให้การรักษาต่อไป

สาเหตุ ภาวะตัวเหลือง

สาเหตุของภาวะตัวเหลือง แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่

ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice)

เนื่องจากตับของทารกยังพัฒนาและทำงานได้ไม่เต็มที่ เมื่อเม็ดเลือดแดงของทารกแตกไปเป็นบิลิรูบิน ซึ่งเม็ดเลือดแดงของทารกจะมีอายุสั้นกว่าของคุณแม่ จึงส่งผลให้มีบิลิรูบินมากเกินกว่าที่ตับจำกำจัดได้ จึงเกิดเป็นภาวะตัวเหลืองได้ แต่ถ้าทารกไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยก็จะสามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน

ภาวะตัวเหลืองผิดปกติจากพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice) ก็แตกออกได้เป็นหลายสาเหตุ ดังนี้

หมู่เลือดคุณแม่กับลูกไม่เข้ากัน

ข้อนี้จะพบในกรณีที่เลือดคุณแม่เป็นโอ ลูกเป็นเอหรือบี หรือคุณแม่มีหมู่เลือด Rh ลบ ส่วนลูกมี Rh บวก

ทารกมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง

หรือเรียกว่าภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็นไซม์ G6PD ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายปกติ

ทารกมีจำนวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ

ข้อนี้จะพบมากในทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวาน

สัมพันธ์กับการกินนมแม่

กลุ่มนี้จะเป็นทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวแต่ในปริมาณที่ไม่เพียงพอ

สาเหตุอื่น ๆ

ได้แก่ ภาวะบกพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน การติดเชื้อในกระแสะเลือด และภาวะตับอักเสบ เป็นต้น

ความรุนแรงของภาวะตัวเหลือง

หากทารกมีระดับของบิริลูบินมากเกินไปจะผ่านเข้าสู่สมองและไปจับที่เนื้อสมอง ส่งผลให้สมองมีความผิดปกติ เรียกว่า “เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus)”
ในระยะแรกทารกจะมีอาการซึม ตัวอ่อน และการดูดนมทำได้ไม่ดี ต่อมาทารกจะมีไข้ กระสับกระส่าย ร้องเสียงแหลม ตัวเกร็ง และหลังแอ่น

การรักษา ภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองสามารถรับการรักษาได้โดย

การส่องไฟ

การส่องไฟนี้ไม่ใช่ไฟตามบ้านหรือไฟ LED นะคะ แต่เป็นหลอดไฟชนิดพิเศษที่ให้แสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสม ขณะที่ส่องไฟต้องถอดเสื้อผ้าทารก ปิดตา ซึ่งแพทย์จะคำณวนระดับบิริลูบิน ว่าถ้าทารกอยู่ระดับที่ปลอดภัยจึงเอาไฟออก แต่ผลข้างเคียงหลังจากการส่องไฟคือ น้ำหนักตัวของทารกจะลดลง เนื่องจากการสูยเสียน้ำในขณะที่ส่องไฟนั่นเอง

ให้ทารกกินนมแม่มากขึ้น

ปรับเพิ่มปริมาณนมให้ลูกน้อย โดยกินอย่างน้อยวันละ 8-12 มื้อ เพื่อเป็นการเร่งให้ทารกขับถ่ายสารสีเหลืองออกมากับอุจจาระ ก็จะช่วยลดอาการตัวเหลืองในทารกได้

การเปลี่ยนถ่ายเลือด

จะทำในกรณีที่ทารกเริ่มมีอาการทางสมอง แพทย์จำเป็นต้องเปลี่ยนเลือดที่มีบิลิรูบินสูงออกและเติมเลือดใหม่ทดแทน

วิธีสังเกตว่าทารกตัวเหลืองหรือไม่

มองด้วยตาเปล่าในสถานที่ที่มีแสงสว่างมากพอ จะเห็นได้ว่าผิวของลูกมีสีเหลืองหรือสีส้ม หรือ
ใช้นิ้วมือกดลงไปที่ผิวหนังทารกสักครู่ แล้วยกนิ้วออก หากลูกมีภาวะตัวเหลือง เราจะสังเกตเห็นว่าจุดที่เรากดลงไปมีสีเหลืองมากกว่าผิวหนังโดยรอบ
ในระยะแรกจะสังเกตเห็นได้จากใบหน้า ไล่ลงไปที่หน้าอก ท้อง แขน และขาตามลำดับ บางรายอาจเห็นว่าดวงตาที่เป็นสีขาวอาจกลายเป็นสีเหลือง

ทารกตัวเหลืองอย่างไรถึงต้องไปพบแพทย์ทันที

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าทารกมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

  • มีอาการตัวเหลืองมาก จนถึงบริเวณที่ต่ำกว่าสะดือ หรือถึงฝ่ามือ ฝ่าเท้า
  • มีอาการซึม กินนมได้น้อยลง ร้องงอแงมาก
  • ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ สะดือมีสีแดง มีหนอง หรือเริ่มมีกลิ่นผิดปกติ
  • อุจจาระมีสีซีดลง
  • หายใจลำบาก เหนื่อย หอบ
  • อาเจียนบ่อย ถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปน
  • น้ำหนักลดลง

อาการตัวเหลืองในทารก ถ้าสังเกตเห็นได้เร็วก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้เร็วค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยด้วยนะคะ ว่ามีอาการอะไรที่ผิดปกติไปหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

อ้างอิง bangkokhospital.com , nakornthon.com , synphaet.co.th