Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกเดินเขย่งเท้า ผิดปกติไหม แก้ได้หรือเปล่า

ลูกเดินเขย่งเท้า ผิดปกติไหม แก้ได้หรือเปล่า

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคนพอเห็นลูกในวัย 1 – 3 ขวบหัดเดินก็ดีใจ แต่เมื่อสังเกตดี ๆ เห็นลูกเดินเขย่งปลายเท้าก็ตกใจ เกิดความกังวลว่าลูกเดินแบบนี้จะผิดปกติไหม สาเหตุเกิดจากอะไร แก้ไขได้หรือเปล่ามีคำถามผุดขึ้นในใจมากมาย วันนี้เราจะมีดูรายละเอียดในเรื่องนี้กันค่ะ

สาเหตุที่ลูกเดินเขย่ง

โดยธรรมชาติของเด็กแล้ว เด็กที่เดินเขย่งปลายเท้าจะสามารถหายเป็นปกติได้เองเมื่ออายุย่างเข้า 4 – 5 ขวบ ซึ่งการเดินเขย่งนี้ไม่ได้มีผลใด ๆ กับพัฒนาการหรือระบบประสาทนะคะ ทั้งนี้ เรามาดูสาเหตุกันบ้างดีกว่าค่ะว่าเด็กในวัย 1 – 3 ขวบที่มักเดินเขย่ง (Toe Walking) นั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง

นิสัยของเด็กเอง (Habit)

ซึ่งไม่มีความผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างใด

เส้นเอ็นของส้นเท้าสั้นมาตั้งแต่กำเนิด (Congenital short heelcord)

ทำให้เด็กมีความยากลำบากในการที่จะยืดเท้า และไม่สามารถเดินได้เต็มฝ่าเท้าได้

กล้ามเนื้อน่องตึงผิดปกติ (Overactive tricep surae หรือ Idiopathic toe walking)

เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการทำงานที่หนักเกินไป

โรคออทิซึม (Autism)

เด็กออทิสซึ่ม โดยทั่วไปจะมีอาการผิดปกติในด้านพัฒนาการ ดังนี้

  • พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ไม่ยอมพูด ไม่หันตามเสียงเรียก และไม่ทำตามคำสั่ง
  • พัฒนาการด้านสังคมผิดปกติ คือ เด็กจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น ไม่สบตากับผู้อื่น ไม่มองหน้า ไม่มีจินตนาการ เล่นบทบาทสมมติไม่เป็น มีความสนใจและหมกมุ่นอยู่เฉพาะอย่าง ชอบกริยาซ้ำ ๆ เล่นซ้ำ ๆ อาทิ หมุนตัวเอง หมุนล้อ หรือนั่งเรียงของ เป็นต้น

โรคสมองพิการ

เนื่องจากทารกบางรายอาจมีการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งระบบเส้นประสาทของลูกน้อยได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ และเรื่องการเดิน

อัมพาต

เนื่องจากสมองได้รับบาดเจ็บ เด็กมีประวัติในการคลอดยาก และพัฒนาการล่าช้า จึงส่งผลในเรื่องของการหัดยืน และการเดิน

การแก้ไขลูกเดินเขย่งเท้า

การปรับแก้ไขลูกเดินเขย่งเท้าสามารถแก้ไขได้ตามสาเหตุ ดังนี้

  • หากสาเหตุนั้นเกิดจาก นิสัยเด็กเอง ส่วนใหญ่แล้วจะหายได้เองเมื่ออายุย่างเข้า 4 – 5 ขวบ แต่ถ้าหากเลยอายุนี้ไปแล้ว แต่ลูกน้อยยังคงเดินเขย่งอยู่ แนะนำปรึกษาคุณหมอค่ะ
  • ลองยืดน่องให้ลูก (กรณีที่ลูกอายุต่ำกว่า 6 ขวบ) ให้เริ่มจาก จัดท่าลูกให้นอนหงาย เหยียดขาตรง งอปลายเท้าขึ้น เอาขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นสลับข้าง ทำสลับกันไปทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 5 – 10 ครั้ง เริ่มจากทีละน้อยก่อนก็ได้ค่ะ
  • ยืดเอ็นร้อยหวาย (กรณีที่ลูกอายุต่ำกว่า 6 ขวบ) ให้ลูกนอนหงาย ยกขาขึ้น งอเข่าเข้ามา พยายามเกร็งปลายเท้าให้ชี้ขึ้น ช้า ๆ เบา ๆ ค้างไว้ประมาณ 15 – 30 วินาที หรือพยายามค้างไว้ให้นานที่สุดเท่าที่ลูกน้อยจะทนได้ จากนั้นเอาเท้าลงกับมาท่านอนหงายท่าเดิม และทำซ้ำกันไป 2 ข้าง ข้างละ 5 – 10 ครั้ง

ลูกเดินเขย่งเท้า เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

หากคุณพ่อคุณแม่ลองทำทุกวิถีทางแล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น ควรพาลูกไปปรึกษาคุณหมอ หากลูกมีอาการที่เข้าข่าย ดังนี้

  • หากก่อนหน้านี้ลูกน้อยเดินปกติมาก่อนและลูกอายุมากกว่า 3 ขวบแล้ว แบบนี้อาจเป็นเพราะสาเหตุกล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากเซลล์ประสาทผิดปกติ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม
  • คลำเจอก้อนบริเวณหลังเข่า ซึ่งคือเนื้องอกที่ไปรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อขา
  • มีประวัติในการคลอดที่คลอดยากหรือขาดออกซิเจนขณะคลอด ข้อนี้ลูกน้อยมักจะมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย
  • พบว่ากระดูกสันหลังมีความผิดปกติ มีปานตามร่างกายเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีเนื้องอกที่ผิวหนัง
  • เอ็นร้อยหวายมีความตึงมากผิดปกติ ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด และมักจะมีอาการเจ็บบริเวณเอ็นร้อยหวาย ซึ่งอาจมีประวัติการถ่ายทอดได้ในครอบครัวอีกด้วย
  • ลูกมีอาการทางจิตเวช อาทิ ออทิสติก หรือจิตบกพร่อง

ข้อมูอ้างอิง thaichaildcare.com , amarinbabyandkids.com

จากที่กล่าวมาถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกเดินเขย่ง หากลูกน้อยของคุณแม่ไม่เข้าข่ายก็ไม่จำเป็นต้องกังวลนะคะ เพราะอาการเดินเขย่งนั้นสามารถหายได้เอง จะไม่เหมือนกับ “ลูกเดินปลายเท้าบิดเข้าใน ภาวะที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง” ที่เป็นความผิดปกติของร่างกายลูกอย่างชัดเจน


ลูกอายุ 3 ขวบ เดินเท้าบิดเข้าข้างใน? แบบนี้ต้องผ่าตัดหรือเปล่า? เท้าบิดเข้าข้างในเป็นอาการที่เกิดเองตามธรรมชาติ การรักษามีหลายรูปแบบ ติดตามเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย