“ภาวะซีด” เป็นภาวะที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนคิดว่ามันคงไม่เกิดกับลูกของเราหรอก แต่แท้ที่จริงแล้วมันเกิดขึ้นง่ายมากจนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็สังเกตไม่เห็นความปกตินี้จากลูก จนเมื่อได้ไปพบกับคุณหมอและมีการตรวจพบว่า ลูกมีอาการซีดที่บริเวณเปลือกตาล่างและริมฝีปาก ภาวะซีดนี้จะส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะ “สมอง” ทำให้การเรียนตกต่ำ สาเหตุมาจากลูกไม่ได้รับ “ธาตุเหล็ก” ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย วันนี้เราจะมาเข้าใกล้ความสำคัญของธาตุเหล็กกัน
สารบัญ
ประโยชน์ของธาตุเหล็ก
- ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หรือเกิดอาการสับสน
- ป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- มีพัฒนาการทางสมองและมีสติปัญญาดี
- ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง
- เสริมสร้างกล้ามเนื้อและภูมิต้านทาน
ภาวะซีด ในเด็กนอกจากจะทำให้เด็กดูอ่อนเพลียและเบื่ออาหารแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นคือ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2562 ระบุว่า เด็กที่มีภาวะซีดตั้งแต่ช่วงวัยทารกและยังมีการปล่อยให้เรื้อรัง อาจส่งผลต่อค่า IQ ตกต่ำลงในช่วงวัยเรียนได้ถึง 5-10 จุด นั่นก็เท่ากับว่าการขาดธาตุเหล็กโดยเฉพาะในเด็กนั้นจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านสมองเป็นอย่างมาก
เพราะอะไรเด็กถึงมีความเสี่ยงต่อภาวะการขาดธาตุเหล็ก
เป็นที่รู้กันดีว่า “นมแม่” คือ อาหารแรกของลูกที่ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน สารอาหารในน้ำนมแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้น “อาหารเสริม” จึงต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมารณรงค์และแนะนำว่า การให้ลูกทานนมแม่นั้นควรให้ครบ 6 เดือนก่อนหลังจากนั้นค่อยเริ่มให้อาหารเสริมคู่กันไป ซึ่งไม่ใช่นำอาหารเสริมเข้ามาแทนที่ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อาหารมื้อแรกจะเริ่มจากอะไรดี
อาหารมื้อแรกของลูกไม่ใช่ว่าจะกินอะไรก็ได้นะคะคุณแม่ เพราะเด็กในวัย 6 เดือน – 1 ขวบ ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กมากถึง 9.3 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเพื่อให้เห็นภาพก็เทียบเท่าไข่ไก่มากถึง 12 ฟองต่อวัน แต่กระเพาะของลูกมีขนาดที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า เพราะฉะนั้นอาหารแต่ละมื้อที่ลูกน้อยจะได้กินนั้นคุณแม่ต้องเลือกสรรกันหน่อยแล้วล่ะค่ะ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก
อาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เลือดหมู ตับหมู ตับไก่ น่องไก่ ปลาดุก ดาร์กช็อกโกแลต ถั่วดำ ถั่วลิสง งาดำ งาขาว ผักกูด ถั่วฝักยาว ใบกะเพรา เห็ดหูหนู ต้นหอม ข้าวโอ๊ต เต้าหู้ขาว บรอกโคลี คะน้า ผักโขม ถั่วเหลือง (รวมเต้าหู้ด้วย) และไข่แดง
นอกจากอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกน้อยกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงควบคู่กันไปด้วยนะคะ เพราะวิตามินซีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ผลเสียจากการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป
เพราะทุกสิ่งย่อม 2 ด้านเสมอ ธาตุเหล็กแม้จะมีประโยชน์มากแต่หากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็เกิดโทษได้เช่นกัน
- เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะเยื่อบุทางเดินอาหาร ไปจนถึงอาจทำให้มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารได้ อาทิ กระเพราะหรือลำไส้
- ส่งผลต่อการกดภูมิต้านทานโรค หรืออาจทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย
- ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต ปอด หัวใจ และสมอง
- ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ร่างกายเขียวคล้ำ และอาจทำให้เกิดอาการตับวาย ไตวาย ชัก โคม่า และถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะซีดหรือการที่ลูกขาดธาตุเหล็กแม้ว่าคุณแม่อาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากร่างกายเหมือนคุณหมอ แต่คุณแม่ก็สามารถประเมินได้จากอาหารที่ให้ลูกกินในแต่ละมื้อ แต่ละวันได้ เพราะฉะนั้นอาหารเสริมของเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องสำคัญควรให้ลูกกินในปริมาณที่พอดีซึ่งเชื่อเลยค่ะว่าลูกคงไม่กินทุกอย่างที่แม่จัดให้ เป็นอีกด่านที่ท้าทายคุณแม่พอสมควร เป็นกำลังใจให้นะคะ
อ้างอิง
Honestdocs.co
กรมสุขภาพจิต
tmwa
unicef.org