Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีเคาะเสมหะทารก ลูกน้อย พร้อม 7 ท่าเคาะปอดที่ถูกวิธี ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน

วิธีเคาะเสมหะทารก ลูกน้อย พร้อม 7 ท่าเคาะปอดที่ถูกวิธี ทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน

ในช่วงที่เปลี่ยนฤดุกาลร่างกายเด็กเล็กมักจะปรับตัวไม่ทัน จึงทำให้มีอาการป่วยได้ โดยทั่วไปอาการป่วยมักเริ่มจากจาม ต่อมาคือ ไอ และมีไข้ หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการมีน้ำมูก ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ลูกมีน้ำมูกอาการไอก็จะมากขึ้น เนื่องจากมีเสมหะในลำคอมาก
จากอาการที่ว่ามานี้ “อาการไอ” เป็นอะไรที่หายช้าสุด บางรายไอแห้ง บางรายไอแบบมีเสมหะ แต่หากลูกไอแบบมีเสมหะนานๆ คงไม่ดีแน่ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะช่วยอะไรลูกได้บ้าง?

การเคาะปอด” เพื่อช่วยระบายเสมหะให้ลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ที่บ้านนะคะ ผู้เขียนก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน พบว่าตอนกลางคืนจากที่เคยไอแบบนอนไม่ได้กันทั้งบ้าน พอหลังจากเคาะปอดให้ลูก ลูกหลับยาวขึ้นและไอน้อยลง วันนี้ผู้เขียนมีวิธีการและรายละเอียดมาฝากค่ะ

อาการไอเกิดจากอะไร?

การไอเกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายก็จะพยายามกำจัดออกด้วยการไอ แต่เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถบ้วนเสมหะออกมาเองได้ ดังนั้น การเคาะปอดร่วมกับการจัดท่าเคาะปอดให้ถูกต้องก็จะเป็นกันช่วยลูกระบายเสมหะที่ติดออกมาได้

หลักการทั่วไปในการเคาะปอด

  • การจัดท่าเคาะปอดให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากการเคาะปอดเป็นวิธีที่อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกเป็นหลัก โดยจัดให้ส่วนของปอดที่ต้องการระบายอยู่เหนือกว่าหลอดลม และปาก ส่งผลให้เสมหะไหลออกจากหลอดลมเล็กสู่หลอดลมใหญ่ และถูกขับออกได้จากการไอ และจะบ้วนเสมหะออกมา
  • การเคาะ (Percussion) เราจะใช้อุ้งมือไม่ใช่ฝ่ามือ โดยให้ฝ่ามือทำเป็นลักษณะคุ้ม โดยให้นิ้วแต่ละนิ้วชิดกัน แล้วเคาะบริเวณเราจัดท่าไว้
  • ใช้ผ้ารองบนส่วนที่เคาะ
  • การเคาะในแต่ละท่าควรใช้เวลา 1 นาที
  • หากผู้ป่วยไอขณะเคาะ ให้หยุดเคาะ แล้วใช้การสั่นสะเทือนแทน โดยใช้มือวางราบพร้อมทั้งเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน และหัวไหล่ ในจังหวะการหายใจเข้าเต็มที่ และกำลังหายใจออก
  • ควรทำการเคาะปอดก่อนการทานอาหาร หรือขณะท้องว่าง หรือหลังทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักหรืออาเจียน

ข้อมูลอ้างอิง symphaet.co.th

เมื่อไหร่ที่ควรเคาะปอด?

  • ไอบ่อย มีเสมหะมาก หายใจครืดคราด
  • จากภาพรังสีทรวงอก พบว่าปอดแฟ่บ เหตุจากการอุดตันของเสมหะ
  • ผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรัง ที่มีภาวะเสมหะคั่งค้าง
  • ผู้ป่วยเด็กหลังผ่าตัด ที่ยังคงมีปัญหาเสมหะคั่งค้างในปอดและหลอดลม
  • ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาด้านระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยยังมีปัญหาการคั่งค้างของเสมหะในหลอดลม

7 ท่าทางเคาะปอดที่ถูกต้อง

ขอบคุณคลิปจาก Thirathat Thongkaew

ท่าที่ 1 : ปอดกลีบซ้ายบน ส่วนยอด

จัดท่าให้ลูกน้อยอยู่ในท่านั่ง เอนตัวมาด้านหลังเล็กน้อย หรือประมาณ 30 องศา แล้วให้เคาะบริเวณด้านบนเหนือทรวงอกด้านซ้าย ระหว่างไหปลาร้าและกระดูกสะบัก

ท่าที่ 2 : ปอดกลีบซ้ายบน ด้านหลัง

จัดท่าให้ลูกน้อยนั่งคร่อมคุณแม่โดยให้หันหน้าเข้าหาคุณแม่ เอนตัวลูกไปประมาณ 30 องศา บนแขนของคุณแม่ แล้วเคาะบริเวณด้านหลังตอนบนเหนือกระดูกสะบัก ระหว่างกระดูกต้นคอ และหัวไหล่

ท่าที่ 3 : ปอดกลีบซ้ายบน ด้านหน้า

จัดท่าให้ลูกนอนหงายราบ เคาะบริเวณเหนือราวนมต่ำจากกระดูกไหปลาร้าเล็กน้อย

ท่าที่ 4 : ปอดกลีบซ้ายส่วนกลาง

จัดท่าลูกน้อยโดยให้ศีรษะต่ำลงมาประมาณ 15 องศา และตะแคงด้านซ้ายขึ้นมาประมาณ ¼ จากแนวราบ และเคาะบริเวณราวนมด้านซ้าย

ท่าที่ 5 : ปอดกลีบซ้ายล่าง ส่วนชายปอดด้านหน้า

จัดท่าลูกน้อยให้นอนตะแคงกึ่งคว่ำหน้า ให้ศีรษะต่ำลงมาเล็กน้อยประมาณ 30 องศา ให้คุณแม่ประคองทรวงอกบริเวณชายโครงด้านซ้ายหงายขึ้นมาเล็กน้อย แล้วเคาะบริเวณเหนือชายโครงดด้านข้างตอนหน้าต่ำจากราวนมลงมาเล็กน้อย

ท่าที่ 6 : ปอดกลีบซ้ายล่าง ส่วนชายปอดด้านข้าง

จัดท่าลูกน้อยให้ศีรษะต่ำลงมาประมาณ 30 องศานอนตะแคงเกือบ ๆ คว่ำ เคาะบริเวณด้านข้างเหนือชายโครง ให้อยู่ในระดับเดียวกับท่าที่ 5 ใต้ต่อมรักแร้ของเด็ก

ท่าที่ 7 : ปอดกลีบซ้ายด้านล่าง ส่วนหลัง

จัดท่าลูกน้อยให้ศีรษะต่ำลงมาประมาณ 30 องศา ในท่าคว่ำ แล้วเคาะบริเวณด้านหลังต่ำลงมาจากกระดูกสะบักลงมาในระดับเดียวกันกับชายโครงด้านหน้า
ข้อมูลอ้างอิง amarinbabyandkids.com

หยุดเคาะทันที หากลูกมีอาการดังนี้

  • ลูกบอกว่าเจ็บ หรือปวดบริเวณที่ถูกเคาะ
  • ลูกหอบเหนื่อยมากขึ้น ริมฝีปากซีดคล้ำ หายใจปีกจมูกบาน
  • ร้องไห้ งอแงมากกว่าเดิมจนผิดสังเกต

ข้อห้ามสำหรับการเคาะปอด

  • เคยมีประวัติกระดูกหักบริเวณทรวงอก
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง วัณโรคปอด
  • มีอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว
  • มีแผลเปิด หรือมีแผลหลังผ่าตัดที่ยังไม่หายดี
  • มีภาวะกระดูกผุ
  • มีภาวะเสี่ยงต่อการที่เลือดจะออกง่าย โดยสังเกตได้จากสีผิวที่เปลี่ยนไป สีปากคล้ำ หน้าซีด สัญญาณชีพผิดปกติ เช่น ไข้ขึ้นสูง หายใจเร็ว และมีความดันโลหิตสูง
  • ความถี่ในการเคาะปอด

ความถี่ในการเคาะปอด

ช่วงเช้า

เพราะเป็นช่วงที่เสมหะคั่งค้างมาตลอดคืน เมื่อลกตื่นมาตอนเช้า จึงทำให้ลูกไอมาก การเคาะในช่วงเช้าจะเป็นการช่วยระบายเสมหะให้ลูกได้

ก่อนเข้านอน

เพื่อให้ลูกได้หลับยาวขึ้น หายใจโล่งขึ้น
หรือหากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้อีกครั้งในช่วงบ่ายก่อนลูกหลับกลางวันก็จะดีค่ะ จะช่วยให้เค้าไม่หายใจครืดคราด จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

รู้ได้อย่างไรว่าเคาะปอดได้อย่างถูกต้อง

สังเกตได้ง่ายมากค่ะ หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่เคาะปอดให้ลูกน้อยแล้ว หากมาถูกทาง ลูกน้อยจะหลับได้นานขึ้น ไอน้อยลง ซึ่งของผู้เขียนเห็นได้ชัดเลย จากที่คืนก่
อนไอแบบแทบจะไม่ได้นอน แต่พอลองมาเคาะปอดดู เค้าหลับได้นานขึ้น ไอน้อยลง คุณพ่อคุณแม่ก็ได้พักมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
การเคาะปอด หากเรารู้วิธีที่ถูกต้องก็สามารถทำได้เองที่บ้านนะคะ เพื่อความสุขของคุณพ่อคุณแม่เอง เวลาที่เห็นลูกนอนหลับได้นานขึ้นค่ะ