Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สีน้ำมูกลูก สัญญาณเตือนให้คุณแม่ตื่นตัว

สีน้ำมูกลูก สัญญาณเตือนให้คุณแม่ตื่นตัว

คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนที่ยังมีลูกเล็ก ๆ อยู่ บอกได้เลยค่ะว่าต้องทำใจ ที่ต้องทำใจก็เพราะว่าเด็กเล็กมักจะป่วยกันบ่อย แนะนำว่าทำประกันไว้เลยค่ะ (บางบ้านทำถึง 2 กรมธรรม์) แต่วันนี้แม่โน้ตไม่ได้มาขายประกันนะคะ 555แต่แค่ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ต้องมานั่งกังวลหรือต้องเหนื่อยกันหลายเรื่องเท่านั้นเอง

เวลาที่ลูกเริ่มมีอาการป่วยมักจะเริ่มจากมีอาการจาม ตามด้วยไอ และมีน้ำมูกใส (แต่ก็ไม่เสมอไปนะคะ บางครั้งก็ไอค่อกแค่กมาก่อนเลยก็มี)ทุกครั้งเวลาที่ลูกมีน้ำมูก แม่โน้ตต้องล้างจมูกให้ลูกเองทุกครั้ง เพราะสงสารเค้าเวลาที่เค้าหายใจไม่ออก การล้างจมูกจะทำให้เราได้เห็นสีของน้ำมูกที่ไหลออกมาพร้อมน้ำเกลือ ซึ่งเจ้าตัวน้ำมูกนี้เอง จะเป็นตัวบอกอาการของลูกได้ดีทีเดียวค่ะ จะมีรายละเอียดอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ

น้ำมูกมาจากไหน?

ร่างกายของคนเราในส่วนของทางเดินหายใจและทางเดินอาหารจะมีเยื่อบุทางเดินหายใจและทางเดินอาหารอยู่ ซึ่งส่วนนี้ก็จะมีต่อมที่สร้างน้ำมูก เมือก หรือเสมหะอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจมูก ไซนัส โพรงหลังจมูก ช่องปาก ช่องคอ กล่องเสียง และหลอดลม เจ้าน้ำมูก เมือก หรือเสมหะนี้มีหน้าที่คอยป้องกันอวัยวะที่อยู่ภายใต้เยื่อบุนี้ ให้ห่างไกลจากสารพิษและสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่าง ๆ ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าชื้นอยู่ตลอดเวลา กลับกันถ้าอวัยวะดังกล่าวแห้ง จะเป็นการเพิ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

สีน้ำมูกบอกอะไรบ้าง?

น้ำมูกสีใส

น้ำมูกหรือเสมหะที่สีใส จะประกอบไปด้วยน้ำ แอนติบอดี้ที่ต่อต้านเชื้อโรค เกลือ และโปรตีน โดยส่วนใหญ่มักจะไหลลงคอและเราก็มักกลืนลงไปในกระเพาะ โดยมีสาเหตุมาจากหวัด (เยื่อบุจมูกอักเสบ) หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรืออาจเกิดจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ซึ่งมีไวรัสมากระตุ้น การให้ยาต้านฮิสตามีนและการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ สามารถบรรเทาอาการน้ำมูกไหลได้

น้ำมูกสีขาว

หากคุณแม่พบว่าลูกมีน้ำมูกที่ข้นเหนียว หนา และขาวขุ่น อาจเป็นเพราะนน้ำมูกถูกขังอยู่ในโพรงจมูกเป็นเวลานานจากเยื่อบุจมูกที่บวม และหมายรวมไปถึงหากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกทานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนมมากเกินไป ก็อาจทำให้น้ำมูกมีสีขาวขุ่นได้ เนื่องจากไขมันที่อยู่ในผลิตภัณฑ์นมนั้น สามารถทำให้น้ำมูกสูญเสียความชุ่มชื้น จึงทำให้น้ำมูกมีลักษณะเหนียว ข้น และขาวนั่นเอง

น้ำมูกสีเหลือง

ถ้าลูกมีน้ำมูกสีเหลือง เป็นไปได้ว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูกหรือไซนัส ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเซลล์ที่ออกมาต่อต้านเชื้อเจ้าเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว และทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวและเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว รวมทั้งเมือกและหนองต่างๆ จะออกมารวมตัวกัน จึงทำให้น้ำมูกมีสีเหลืองนั่นเอง

แต่ก็จะมีอีกหนึ่งกรณี คือ การที่น้ำมูกคั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกเป็นเวลานานมากๆ อย่างในช่วงเวลากลางคืน ก็อาจทำให้น้ำมูกมีสีเหลืองได้ หากเป็นกรณีนี้ ตอนเช้าคุณแม่ล้างจมูกลูกจะมีสีเหลือง แต่ช่วงเวลาอื่นของวัน น้ำมูกจะต้องมีสีใสนะคะ

น้ำมูกสีเทา

น้ำมูกที่มีสีเทาอาจมีอาการของริดสีดวงจมูก มักเกิดจากเยื่อบุจมูกในโพรงจมูกนั้นบวมและเป็นก้อน แต่ไม่ใช่เนื้อร้าย สาเหตุมักมาจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหืด หรือภาวะแพ้ยาแอสไพริน

น้ำมูกสีเขียว

กำลังบ่งบอกว่าระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายกำลังต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เหมือนกับการที่น้ำมูกมีสีเหลือง ส่วนสีเขียวนี้เกิดจากเอนไซม์ซึ่งสร้างโดยเม็ดเลือดขาว ซึ่งน้ำมูกที่มีสีเขียวนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเช่นกันค่ะ

น้ำมูกสีแดง

ส่วนใหญ่เกิดจากเส้นเลือดในโพรงจมูกแตกแล้วปนออกมากับน้ำมูก สาเหตุอาจเกิดจากจมูกแห้ง ซึ่งจมูกแห้งอาจมีหลายสาเหตุ อาทิ ดื่มน้ำน้อย อยู่ในห้องแอร์เปิดพัดลมจ่อหน้าหรือจมูกเป็นเวลานาน อาจต้องใช้วิธีพ่นน้ำเกลือเข้าโพรงจมูกบ่อยๆ

น้ำมูกสีดำ

กรณีนี้มักพบในผู้ที่สูบบุหรี่หรือสูดยานัตถ์ หรือผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศมากๆ หรืออาจมีการติดเชื้อราในโพรงจมูกได้

น้ำมูกเขียวเกิดจากอะไร?

สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ภูมิแพ้ หรือเกิดจากการติดเชื้อทั้งไวรัสและแบคทีเรีย เมื่อมีการอักเสบของโพรงจมูก ก็จะส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวมและมีสารคัดหลั่งหรือน้ำมูกที่มากกว่าปกติ ในเด็กบางคนที่มีการติดเชื้อจะมีเม็ดเลือดขาวมาทำหน้าที่ดักจับเพื่อทำลายเชื้อโรค ซึ่งส่วนที่เหลือของเม็ดเลือดขาวจะมีการออกซิไดซ์ทำให้น้ำมูกเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองนั่นเอง

ระยะเวลาของการมีน้ำมูก

หากลูกน้อยมีน้ำมูกที่เหนียวข้น และมีสีเขียวหรือเหลือง ราว ๆ 2 – 3 วันขึ้นไป อาจเป็นไปได้ว่าลูกน้อยกำลังเป็นไข้หวัดใหญ่ (ชนิดที่ได้รับเชื้อจากไวรัส) ซึ่งถ้าหากหลังจากนี้ลูกมีอาการดีขึ้น น้ำมูกก็จะค่อย ๆ หายไปภายใน 10 – 14 วัน แต่ก็ควรให้ลูกเริ่มกินยา ดื่มน้ำตามมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ เหล่านี้ก็จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้าเกินจากระยะเวลาดังกล่าวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำควรพบแพทย์ค่ะ

โน้ตเองด้วยความที่เราไม่อยากให้ลูกกินยาปฏิชีวนะบ่อย (ซึ่งตอนที่น้องมินอายุประมาณ 2 – 3 ขวบ เขาป่วยอาทิตย์เว้นอาทิตย์เลย) จึงลองล้างจมูกลูกเองวันละ 4 ครั้ง ตอนนั้นน้ำมูกเริ่มเขียวแล้ว สุดท้ายพอลองปล่อยไว้ น้องมินมีอาการหนักขึ้นคือ มีอาการปวดหูร่วมด้วย นี่เป็นอาการเริ่มต้นของหูชั้นกลางอักเสบและเป็นไซนัส ดังนั้น ถ้าน้ำมูกลูกเขียวข้นแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ดีที่สุดค่ะ

เมื่อลูกน้อยไม่สบาย มีน้ำมูกไม่ว่าจะเพิ่มเริ่มมีน้ำมูกหรือว่าน้ำมูกเขียวข้นแล้วก็ตาม คุณแม่ควรหมั่นล้างจมูกให้ลูกบ่อย ๆ อย่างน้อยก็เพื่อให้ลูกไม่อึดอัด หายใจได้สะดวก ลูกก็จะอารมณ์ดีไม่หงุดหงิด ซึ่งถ้าลูกมีน้ำมูกมากและมีสีเขียวข้นเหนียวแล้ว ควรพาลูกไปพบแพทย์นะคะ เพื่อเป็นการป้องกันอาการที่ลุกลามมากขึ้นค่ะ