Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สังเกตอาการเมื่อลูกฟันขึ้น?

เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งของทารกน้อย เขาก็จะเริ่มมีฟันขึ้น ซึ่งอาการหรือผลข้างเคียงของเด็กแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนมีไข้ ร้องโยเย บางคนไม่มีไข้ก็มีค่ะ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพื่อให้คุณแม่เข้าใจลูกน้อยมากขึ้น วันนี้เรามาทำความรู้จักฟันชุดแรกวิธีสังเกตอาการของลูกน้อย และวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือกกันดีกว่าค่ะ

ฟันซี่แรกเริ่มขึ้นตอนกี่เดือน?

ฟันชุดแรกของลูกน้อยจะเรียกว่า “ฟันน้ำนม” ซึ่งเฉลี่ยโดยทั่วไปแล้วฟันซี่แรกของลูกจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุได้ 6 เดือนขึ้นไป และทยอยขึ้นจนครบเมื่ออายุได้ 2 ขวบ แต่ก็มีทารกหลายคนค่ะที่พบว่าขึ้นก่อน 6 เดือนก็มี ขึ้นหลัง6 เดือนก็มีคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจนะคะ แต่หากอายุครบ 12 เดือนแล้ว ฟันของลูกน้อยยังไม่ขึ้นเลย แนะนำว่าควรไปปรึกษาทันตแพทย์เด็กค่ะ

อาการที่บ่งบอกว่าฟันขึ้น

ชอบเอามือเข้าปาก

หากคุณพ่อคุณแม่บางท่านไม่ทันสังเกตว่าลูกน้อยมีอาการเจ็บเหงือกเพราะฟันจะขึ้น ก็อาจทำให้เข้าใจลูกน้อยผิด คิดว่าเอะอะก็ชอบเอามือเข้าปาก ดุลูกน้อย อย่างแรกหากลูกน้อยเริ่มมีพฤติกรรมที่ชอบเอามือเข้าปาก ลองสังเกตดูนะคะว่าลูกเอานิ้วจิ้มที่เหงือกหรือเปล่า เพราะฟันซี่แรกอาจจะขึ้นก็เป็นได้ค่ะ

น้ำลายเยอะ

เพราะเหงือกได้รับการกระตุ้นจากฟันที่กำลังจะขึ้นจึงส่งผลให้มีน้ำลายออกมามากกว่าปกติ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมผ้าอ้อมไว้เลยค่ะ ซึ่งถ้าหากลูกน้อยกลืนน้ำลายเข้าไปเยอะอาจทำให้ลูกท้องเสียได้

มีผื่นแห้ง

เด็กบางคนอาจมีผื่นแดง แห้ง บริเวณปากและลำคอ เพราะน้ำลายที่ไหลออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดน้ำลายลูกน้อยบ่อยๆ หากไหลเยิ้มออกมา

ตื่นกลางดึกบ่อย

ลูกน้อยอาจตื่นบ่อยในกลางดึก ร้องไห้เพราะเจ็บเหงือก คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นๆ นะคะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ลูกน้อยรู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายตัว

กัดทุกอย่างที่เอาเข้าปาก

ไม่ว่าจะเป็นของเล่น มือ เท้าของตัวเองหรือแม้แต่เวลาที่เข้าเต้า และแน่นอนค่ะ…เป็นอีกช่วงหนึ่งของคุณแม่ที่ต้องใช้จะความอดทนสูงมาก

เหงือกบวม

อาการนี้มีตั้งแต่เหงือกที่บวมแดงไปจนถึงม่วงอ่อนๆ แต่อีกไม่นานฟันก็จะขึ้นและอาการบวมจะหายไป

ไอ

ไอเพราะเกิดจากการสำลักน้ำลาย ไม่ใช่อาการที่ไอเพราะไข้หวัด โดยจะมีลักษณะการไอที่ต่างกันซึ่งคุณแม่ที่คลุกคลีกับลูกน้อยจะสามารถแยกได้ไม่ยากค่ะ

ไม่ยอมกินอาหารหรือกินได้น้อยลง

ข้อนี้เป็นเรื่องปกติค่ะ เมื่อลูกเจ็บเหงือก เขาก็คงไม่อยากจะทานอะไร ไม่ว่าอาหาร หรือนม (ทั้งนมแม่หรือนมผง) คุณแม่อย่าเพิ่งเครียดไปนะคะ เราใช้วิธีทานน้อยแต่ทานบ่อยแทนก็ได้ค่ะ

มีไข้

ลูกน้อยอาจมีไข้ต่ำ สังเกตง่ายๆ ค่ะ หากเป็นไข้ที่เกิดจากฟันจะขึ้นจะเป็นอยู่ไม่เกิน 2-3 วัน แต่หากนานกว่านั้น ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ท้องเสีย

เพราะลูกน้อยกลืนน้ำลายของตัวเองเยอะเกินไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกท้องเสียมากจนผิดสังเกต ควรไปพบแพทย์ค่ะ

ช่วยลูกอย่างไรให้บรรเทาปวด?

คุณพ่อคุณแม่คงสงสารลูกแน่นอน เมื่อเห็นลูกคันเหงือกหรือเจ็บจนร้องโยเย ไม่สบายตัว เรามี 2วิธีที่จะช่วยลดอาการคันเหงือกหรือเจ็บเหงือก ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ

ใช้ยางกัด

ควรเป็นยางกัดชนิดที่ปลอดสาร BPAเลือกเนื้อยางที่ค่อนข้างแข็ง ยืดหยุ่นได้ดี ไม่มีชิ้นส่วนที่สามารถจะกัดขาดแล้วหลุดลงคอได้

ใช้ความเย็น

ข้อนี้คุณแม่หลายท่านนิยมใช้กันเยอะ เพราะความเย็นจัดจะช่วยทำให้เหงือกชาและลดอาการเหงือกบวมได้ดี คุณแม่อาจใช้ “ยางกัดแช่เย็น” หรือหากเป็นเด็กโตขึ้นมาซักหน่อย คุณแม่อาจหา“เมนูผลไม้แช่เย็น”ให้ลูกน้อยได้เคี้ยวเล่น (แต่กินจริง) ได้นะคะ แถมได้ประโยชน์จากผลไม้อีกต่างหาก

มีคุณแม่บางท่านถนัดที่จะ “ใช้นิ้วนวดเหงือก” ให้ลูก ก็สามารถทำได้ค่ะ เพียงแต่ต้องล้างนิ้วให้สะอาด แล้วนวดเบาๆ แต่บางท่านก็อาจใช้ “ผ้าชุบน้ำแช่เย็น” แล้วค่อยนำมานวด ข้อนี้ไม่แนะนำนะคะ เพราะเหงือกที่เย็นเกินไปมาบวกกับการนวดผ่านผ้า อาจทำให้เหงือกลูกยิ่งช้ำและเจ็บมากขึ้นค่ะ