Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกเดินปลายเท้าบิดเข้าใน ภาวะที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง

ลูกเดินปลายเท้าบิดเข้าใน ภาวะที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง

เนื่องจากในวัยเด็กร่างกายและระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ร่างกายยังต้องพัฒนาเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายลูก อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของลูกได้ในอนาคต ส่งผลให้ลูกมีปมด้อยได้ เรื่องของการเดินก็เช่นกัน แม้ว่าการที่ลูกเดินปลายเท้าบิดเข้าในจะไม่ใช่โรคอะไรที่ร้ายแรง แต่ก็อาจสร้างปมด้อยในใจให้ลูกได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างรอบด้าน

เดินปลายเท้าบิดเข้าใน คืออะไร?

ลูกเดินเท้าบิดเข้าข้างในถือเป็นภาวะความผิดปกติของเท้าที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเกิดความผิดปกติของกระดูก 3 จุด ได้แก่

  • หัวสะโพกที่บิดไปด้านหน้ามากกว่าปกติ
  • กระดูกหน้าแข้งหมุนเข้าด้านในมากกว่าปกติ และสุดท้าย
  • กระดูกเท้าหมุนเข้าด้านในมากกว่าปกติ

ซึ่งมักเกิดได้จากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ทั้งนี้การจะวินิจฉัยได้ว่าลูกมีเท้าบิดเข้าด้านในหรือไม่นั้นต้องทำการตรวจร่างกาย ซึ่งอายุที่มักพบอาการดังกล่าวนี้จะอยู่ช่วง 2 – 4 ขวบ แต่ลูกน้อยจะไม่มีอาการปวดเมื่อยใด ๆ ร่วมด้วยนะคะ

ท้องแรก ลูกปกติดี

โดยทั่วไปแล้ว เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะมีการบิดหมุนของกระดูกขาเข้าด้านใน ทำให้เวลาเดินจะเห็นลูกเดินเหมือนเท้าบิดเข้าด้านใน แต่ก็จะมีอาการที่มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป บางรายอาจเป็นน้อยจนดูไม่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป ซึ่งถ้าคุณแม่อยากให้แน่ใจ ควรให้คุณหมอเป็นผู้ตรวจวินิฉัย

ลูกเดินปลายเท้าบิดเข้าใน รักษาอย่างไร?

การเดินเท้าบิดเข้าข้างในเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ซึ่งสามารถดูแลรักษาได้ ดังนี้

เกิดเองหายเองตามธรรมชาติ

หากคุณแม่พบว่าลูกไม่ได้มีอาการมาก และเป็นเท่ากันทั้ง 2 ข้าง ไม่มีปัญหากระทบในด้านของพัฒนาการทางร่างกาย คุณแม่สามารถเฝ้ารอดูอาการและการเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เมื่อลูกโตขึ้น การบิดหมุนเข้าด้านในของกระดูกแข้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะหายไปเมื่อลูกอายุได้ 4 – 5 ขวบ แต่ถ้าเป็นกระดูกส่วนต้นขา อาจต้องใช้เวลานานสักหน่อย ประมาณ 10 -12 ขวบ

ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่กำเนิด

หากลูกน้อยมีอาการเท้าบิดเข้าหากันซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน และมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกาย ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของข้อต่าง ๆ เช่น เดินกระเผลก ตัวเอียง หรือตัวโยก หรือเท้าบิดเข้าใขเพียงข้างเดียว แบบนี้ควรได้รับการรักษาจากคุณหมอนะคะ

ลูกเดินปลายเท้าบิดเข้าใน ไม่ผ่าตัดได้ไหม?

หากคุณแม่ยังไม่ต้องการให้ลูกเข้ารับการผ่าตัดก็สามารถมีวิธีการรักษาได้หลายวิธี

หลีกเลี่ยงการนั่งท่า W หรือท่าผีเสื้อ

ข้อนี้จะเป็นในกรณีที่ลูกมีอาการเท้าบิดเข้าในจากกระดูกหัวสะโพกหมุนมากผิดปกติ ควรเลี่ยงการนั่งท่า W ไม่ควรให้ลูกนั่งแบะขา อาจเปลี่ยนให้ลูกมานั่งท่าขัดสมาธิแทน ท่านี้เป็นการป้องกันไม่ให้กระดูหัวสะโพกและเท้าบิดเข้าหากันมากขึ้น

ใส่รองเท้าตัดพิเศษ

ข้อนี้เป็นกรณีที่เท้าบิดเข้าหาด้านในมากผิดปกติ สามารถรักษาได้ด้วยการตัดรองเท้าพิเศษก็สามารถช่วยดัดได้ ทั้งนี้ เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 2 – 7 ขวบ ก็ยังสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะการเดินจะยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่จนกระทั่งอายุ 8 – 9 ขวบ หลังจากนี้ลักษณะการเดินจะเข้าที่แล้ว ทั้งนี้หากเกินอายุดังกล่าวไปแล้ว ลูกยังคงมีอาการอยู่ ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อทำการรักษาต่อไป

ลูกเดินนปลายเท้าบิดเข้าในไม่ใช่ภาวะที่อันตราย สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ภายนอกร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว 96% สามารถหายได้เอง ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูกน้อยเท่านั้นค่ะ