Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

มาเช็คพัฒนาการลูกน้อยในวัย 4-5 ปีกัน

มาเช็คพัฒนาการลูกน้อยในวัย 4-5 ปีกัน

เด็กในวัยประมาณ 4-5 ปีนั้นถือว่าเป็นวัยที่เพิ่งได้ออกไปเรียนรู้ประสบการณ์นอกบ้านจากการไปโรงเรียน ได้พบปะเพื่อนฝูง และยังได้เจอกับกิจกรรมใหม่ๆ และยังเป็นวัยที่ซุกซนและกำลังเริ่มแบ่งแยกโลกจินตนาการและโลกแห่งความจริง จึงถือว่าเป็นวัยที่มีพัฒนาการในด้านต่างๆ มากมาย แต่คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าพัฒนาการของลูกนั้นพัฒนาไปตามวัยตามความเหมาะสมหรือว่ายังมีพัฒนาการในจุดไหนที่ขาดตกบกพร่องไป

วันนี้เราลองมาเช็คพัฒนาการตามวัยที่ควรจะเป็นและพัฒนาการที่ผิดปกติในเด็กวัย 4-5 ปีกัน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมส่งเสริมลูกให้ถูกทางนั่นเอง

พัฒนาการด้านร่างกายและทักษะต่างๆ

เด็กในวัย 4-5 ปี ช่วงนี้จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและทักษะต่างๆ มากมายแต่หากไม่สังเกตให้ดีเราอาจจะไม่รู้ว่ามันคือพัฒนาการ เอาเป็นว่าถ้าลูกของคุณสามารถยืนขาเดียวได้นานเกิน 10 วินาที สามารถกระโดดได้สูง เล่นชิงช้า และปีนป่ายได้คล่อง รวมไปถึงกระโดดข้ามเส้นหรือเครื่องกีดขวางได้พอประมาณ นี่แหละคือพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัยนี้ที่ถูกต้อง

พัฒนาการด้านภาษา

เด็กๆ เริ่มไปโรงเรียนกันแล้วแน่นอนว่าย่อมมีกิจกรรมและเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นกับเขาและเก็บมาเล่าให้คุณฟังได้ยาวๆ นั่นก็คือพัฒนาการด้านภาษาที่เกิดขึ้นนั่นเองและหากลูกยังสามารถที่จะจดจำเรื่องราวบางตอนของนิทานได้แล้วด้วยนั้นยิ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมกับวัยเลยทีเดียว

รวมไปถึงการสื่อสารสนทนาในชีวิตประจำวันหากสามารถพูดหนึ่งประโยคได้ยาวมากกว่า 5 พยางค์ ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการในด้านภาษาที่ถูกต้องคุณพ่อคุณแม่ยิ้มออกได้แน่นอนแถมถ้าสามารถบอกชื่อตัวเองและที่อยู่ได้เหมือนที่เราชอบเห็นคนถามชื่อเด็กๆ นั่นแหละถือเป็นการเช็คพัฒนาการในเด็กวัยนี้ที่ควรจะสามารถตอบได้แล้วนั่นเอง

พัฒนาการด้านความคิดและความจริง

เริ่มหันไปถามลูกๆ กันได้เลยว่าสามารถนับเลขได้เกิน 10 แล้วหรือยังแล้วลองให้เขาได้แสดงความสามารถและได้รับคำชมจากคุณดูหรืออยากจะถามถึงสีต่างๆ ยกป้ายหรือชี้สีนั้นๆ ให้เขาดูและถามถ้าลูกสามารถตอบได้ถูกต้องอย่างน้อย 4 สี ก็ถือว่าผ่านในวัยนี้แล้ว

เด็กๆ เริ่มตื่นนอน เข้านอน หรือทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นเวลาด้วยความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของเวลาก็จะเป็นพัฒนาการที่เด็กวัยนี้เริ่มมีแล้วเช่นกันและสุดท้ายถ้าเขารู้จักวิธีใช้สิ่งของต่างๆ ภายในบ้านอย่างถูกต้องนั่นถือว่าเริ่มสามารถมีความคิดและแยกแยะความเป็นจริงได้บ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลในเรื่องของความปลอดภัยและสอนสิ่งต่างๆ ที่ถูกต้องให้อยู่เสมอ

พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์

คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองแอบไปสอบถามคุณครูที่โรงเรียนถึงการเข้าสังคมของลูกหากพบว่าลูกมีความต้องการเอาใจเพื่อนๆ ต้องการทำหรือมีสิ่งของต่างๆ เหมือนอย่างเพื่อน แต่ก็ยังทำตามกฎเกณฑ์อย่างเชื่อฟังนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นพัฒนาการตามวัยที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว

ยิ่งถ้าพบว่าลูกชอบร้องเพลง เต้นรำ และเข้าร่วมการแสดงต่างๆ อย่างไม่เขินอาย รวมถึงสัมผัสได้ว่าลูกชอบอิสระและสามารถไปบ้านเพื่อนที่อยู่ใกล้ๆ ได้ด้วยตัวเองถือว่าเป็นสัญญาณของพัฒนาการที่ถูกต้องแต่ก็ต้องคอยดูแลในจุดนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน

เมื่อได้รับคำถามถึงเพศก็สามารถตอบได้การรู้จักเพศอย่างถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่เด็กวัยนี้ควรแยกแยะได้เองแล้วเพราะหมายถึงการสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นโลกแห่งความจริงนั่นเอง

เมื่อเขาเริ่มแสดงความต้องการ อยากให้คุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบๆ ตัวทำอย่างนั้นอย่างนี้ และในบางครั้งก็ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดีนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ควรสนับสนุนและส่งเสริมอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการช่วยเสริมทักษะในการอยู่ในสังคมให้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

พัฒนาการที่ควรสังเกตให้ดีเพราะนี่คือผิดปกติ

บางอาการของลูกอาจไม่ถูกสังเกตเห็นและนั่นอาจจะส่งผลในระยะยาวได้หากคุณสังเกตเห็นลูกมีอาการเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอาการหวาดกลัวและขี้ขลาดมาก ก้าวร้าวมาก ติดคุณแม่หรือคุณพ่อมากๆไม่สนใจเล่นกับเพื่อน ไม่ตอบสนองต่อคนรอบข้างเมื่อได้รับคำถามหรือการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ

ไม่เล่นบทบาทสมมติหรือเล่นตามอย่างเพื่อนๆ ดูเหมือนเป็นเด็กไม่มีความสุขซึมเศร้าตลอดเวลาและไม่ยอมเข้าร่วมทำกิจกรรมอะไรเลย มีการหลีกเลี่ยงที่จะคบกับเด็กคนอื่นๆ และเมื่อถามก็ไม่แสดงอารมณ์ใดๆให้เห็น ไม่ยอมกิน นอน ไม่ยอมใช้ส้วม และยังสังเกตเห็นได้ว่าไม่สามารถแยกโลกแห่งจินตนาการจากโลกแห่งความจริงไม่ได้ เมื่อเวลาสั่งให้ทำอะไรก็ไม่สามารถเข้าใจคำสั่ง ไม่สามารถบอกชื่อและนามสกุลตัวเองได้ พอกลับมาจากโรงเรียนก็ไม่พูดถึงกิจกรรมและประสบการณ์ในแต่ละวันให้พ่อแม่ฟังเลยและเมื่อมีการบ้านแล้วต้องทำยังมีพฤติกรรมจับดินสอไม่ค่อยเป็น ถอดเสื้อเองไม่ค่อยได้ แปรงฟันไม่ได้ดีรวมไปถึงล้างมือและเช็ดมือไม่เป็น

อาการที่พูดมาทั้งหมดนี้แม้จะมีเพียงบางการกระทำก็ควรได้รับความใส่ใจและพาไปปรึกษาแพทย์อย่างรวดเร็วเพื่อกลับมาส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้ถูกวิธีหรือหากไม่ได้มีปัญหาที่พัฒนาการคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ทันว่าลูกต้องไปเจอกับสถานการณ์ไม่ดีที่กระทบต่อจิตใจหรือไม่นั่นเอง