Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

กรมอนามัยห่วงเด็กเป็นโรคอ้วนช่วงปิดเทอม

กรมอนามัยห่วงเด็กเป็นโรคอ้วนช่วงปิดเทอม

ในทุก ๆ ปี จะมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปีจากสถิติทั่วโลก โดยเพิ่มในอัตรา 2-3 เท่าตัวนับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งโรคอ้วนนี้เมื่อเป็นแล้วจะส่งผลมากมายต่อตัวเด็กเอง ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็ก ๆ ปิดเทอม ผนวกกับทางโรงเรียนกำหนดให้หยุดการเรียนการสอนซัมเมอร์ และกิจกรรมทุก ๆ อย่างที่โรงเรียน เพื่อเลี่ยงโควิด-19 จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องเตรียมอาหารการกินให้กับลูก เรียกได้ว่าตู้เย็นทำงานหนักกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุจึงทำให้ อธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเด็ก ๆ ในเรื่องนี้ รวมทั้งแนะวิธีที่จะทำให้ลูก ๆ ห่างไกลโรคอ้วนในเด็กอีกด้วย

โรคอ้วนในเด็กเกิดจากอะไร

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กมีด้วยกันหลายสาเหตุ แต่โดยมากมักมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เด็กมักจะกินมากกว่าที่ใช้ไป และที่สำคัญ เด็กมักจะชอบอะไรก็จะกินอยู่แบบนั้นในปริมาณที่มากเกินไป

  • ชอบกินแป้ง น้ำตาล และไขมัน
  • ชอบอาหารขยะ หรือ Junk Food
  • ใช้วิถีชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ
  • กินแล้วดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมง/วัน
  • มีการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวน้อย

จากสาเหตุข้างต้น เมื่อเด็กกินอาหาร หรือขนมเข้าไป แล้วไม่ได้นำออกไปใช้ก็จะทำให้เกิดการสะสมของไขมัน ทำให้เป็นโรคอ้วนได้ในที่สุด

ปัญหาอันเกิดจากโรคอ้วนในเด็ก

เด็ก ๆ เมื่อเป็นโรคอ้วนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ เด็กจะมีปัญหาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

  • มีไขมันในเลือดสูง เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • เบาหวานอันเกิดจากโรคอ้วน
  • มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
  • ภาวะไขมันพอกตับ
  • ร่างกายขาดวิตามินดี
  • ลูกจะขาดความมั่นใจในตัวเอง ถูกเพื่อนล้อ เคลื่อนไหวเชื่องช้ากว่าเพื่อน อาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้
  • ลูกไม่อยากไปโรงเรียน
  • ถ้าในเด็กผู้หญิงจะเสี่ยงต่อภาวะ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) หรือที่เรียกกันว่าภาวะที่รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศชายออกมามากเกินไป ทำให้ไข่ไม่ตก โดยสังเกตได้จากเด็กที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ ขนดก และสิวเยอะ

พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างไรให้ห่างไกลโรคอ้วน

  • ควรจัดอาหารที่มีคุณค่า และถูกหลักโภชนาการ
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย
  • ควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย
  • เน้นทานผัก ผลไม้ที่มีกากใยอาหาร
  • นมสดรสจืด และไข่ เพื่อเสริมสร้างในเรื่องการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย และสมอง
  • เลี่ยงอาหารไขมันสูง และของทอด
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ทุกวัน กิจกรรมที่เลือกเล่นกับลูก อาทิ การวิ่ง กระโดดเชือก และกระโดดโลดเต้น เป็นต้น เพื่อสร้างความแข็งแรง และอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ คุณพ่อคุณแม่ควรร่วมออกกำลังกายไปพร้อมลูกด้วยนะคะ จะทำให้ลูกรู้สึกมีเพื่อน และสนุกมากขึ้น
  • ควรให้ลูกหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 9-11 ชั่วโมง
  • ทำความตกลงให้เข้าใจ และตรงกันกับคนในครอบครัว เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งตามใจเด็ก เมื่อเด็กอ้อนขอขนม
  • จำกัดเวลาที่เล่นอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นทีวี แทปเล็ต หรือมือถือ เพราะจะทำให้เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งเด็กอายุ 2-5 ขวบ ไม่ควรอยู่กับหน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง/วัน
  • ฝึกลูกเข้านอนให้เป็นเวลาเดียวกันในทุกวัน เพราะการนอนดึกก็เป็นเหตุให้เกิดโรคอ้วนได้
  • เปลี่ยนเมนูกลางโต๊ะอาหารจากเดิมที่เป็นขนมหวาน ขนมถุงกรุบกรอบเป็นผลไม้แทน และเมื่อถึงเวลาของว่างก็ให้ลูกกินผลไม้แทน

ก่อนที่ลูกจะอ้วนก็ต้องใช้เวลาในการสะสมไขมันฉันใด เวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกลดน้ำหนักก็ใช้เวลาฉันนั้น ลองนึกภาพตามนะคะ หากลูกอ้วนแล้วต้องโดนเพื่อนที่โรงเรียนล้อ จนส่งผลต่อจิตใจลูก คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราจะทนไหวหรอ เพราะฉะนั้นก่อนที่ถึงวันนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกได้นะคะ ก่อนที่โรคอ้วนจะเข้ามากระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของลูก ๆ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

อ้างอิง
กรมอนามัย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์