ขึ้นชื่อว่า “เด็ก” โดยเฉพาะเด็กเล็ก ต่อให้คุณพ่อคุณแม่จะบอกว่าเล่นระวังนะลูก หรืออย่างวิ่งนะลูก เชื่อเถอะค่ะว่าอย่างไรแล้วลูกก็จะหยุดได้แค่แป๊บเดียว เรียกได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ทันหายใจออกเลย ลูกวิ่งเล่นอีกแล้ว สำหรับเรื่องการระวังตัวคงไม่ต้องถามถึง เด็กจะหยุดเล่น หยุดวิ่งได้ก็ต่อเมื่อเขาเหนื่อย หรือไม่ก็เจ็บตัว มีรอยฟกช้ำดำเขียว หรือไม่ก็มีรอยถลอก หรือบางรายอาจหนักกว่านั้น แล้วถ้าหากลูกมีรอยช้ำจะดูแลอย่างไร อาการไหนที่ต้องไปพบแพทย์ ไปดูกันค่ะ
สารบัญ
รอยฟกช้ำ
รอยฟกช้ำเกิดจากการแตกของเส้นเลือดฝอยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการคั่งของเลือดที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ทำให้มองเห็นได้จากภายนอกว่ามีสีของผิวบริเวณนั้นที่คล้ำขึ้น โดยปกติแล้วจะสามารถหายไปได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ รอยฟกช้ำสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยค่ะ และมีทั้งแบบที่หายได้เองกับแบบที่ต้องไปพบแพทย์
สาเหตุลูกมีรอยช้ำ การเกิดรอยช้ำ
รอยช้ำสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
เกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรง
รู้ตัวว่าเดินกระแทกกับของแข็งบางอย่าง เช่น เดินชนเก้าอี้ ชนโต๊ะ ตกบันได หรืออาจเกิดจากการเจาะเลือด เหล่านี้ก็เป็นเหตุให้เส้นเลือดฝอยแตกได้
การกระแทกอย่างเบา
ข้อนี้จะเป็นกรณีกระแทกเบา ๆ แบบที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้หญิง เนื่องจากผิวหนังของผู้หญิงบอบบางกว่าผู้ชาย การกระแทกเพียงเล็กน้อยหรือเบา ๆ ก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้
ได้รับสารอาหารบางอย่างไม่เพียงพอ
อาทิ วิตามินซี และวิตามินเค ทั้งสองตัวนี้เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อเส้นเลือด เพราะหากขาดสารอาหารเหล่านี้จะส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่บางอยู่แล้วจะยิ่งบางลงไปอีก
เกิดจากการใช้ยาบางชนิด
เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้เกล็ดเลือดไม่สามารถจับตัวกันได้ไม่ดี ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน รวมถึงยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมียาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบจิตประสาท อาทิ ยาที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น
เกิดจากอายุที่มากขึ้น
ด้วยอายุที่มากขึ้น ไขมันใต้ผิวหนังน้อยลงทำให้เหลือแต่ผิวหนังที่บอบบาง เมื่อถูกกระแทกหรือถูกบีบรัดเพียงเล็กน้อย จึงทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิง
พบได้จากผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดเป็นประจำ แต่จะเป็นเฉพาะบางชนิดเท่านั้นนะคะ
ป่วยเป็นโรคเลือดบางชนิด
เพราะผู้ป่วยโรคเลือดจะมีเกล็ดเลือดต่ำ (เกล็ดเลือดจะช่วยเลือดแข็งตัว) ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติไป มีเลือดซึมอยู่ตลอดเวลา จะหยุดเหมือนกันแต่จะช้ากว่าปกติ จึงทำให้เกิดการคั่งของเลือดนั่นเอง
ติดเชื้อไวรัสบางชนิด
อาทิ ไวรัสเดงกี่ ไวรัสที่ทำให้เป็นโรคไข้เลือดออก จะพบรอยจ้ำเลือดปรากฎอยู่ตามร่างกายของผู้ป่วย
ป่วยเป็นโรคตับอักเสบ
หรือมีอาการตับวาย ซึ่งส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด
ออกกำลังมากเกินไป
หรือมีการใช้แรงมากเกินไป ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกได้
อาการช้ำ
อาการช้ำมักต่างกันไปตามสาเหตุ แต่โดยรวมแล้วมีอาการดังนี้
- บริเวณผิวหนังมีรอยช้ำ เริ่มต้นมักเป็นสีแดง แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้มภายใน 2-3 ชั่วโมง และอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว หรือสีอื่น ๆ ได้ เช่น สีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน แต่ถ้าผ่านไปแล้วซัก 2-3 วัน อาการก็จะทุเลาลง จนค่อยๆ จางหายไปเอง
- รอยช้ำทั่วไป หากกดแล้วจะมีอาการเจ็บ บางครั้งอาจเจ็บปวดได้ภายในระยะเวลา 2-3 วันแรก แล้วอาการจะดีขึ้น พร้อมกับสีที่ช้ำจะค่อยๆ จางลงเช่นกัน
สีของรอยฟกช้ำ
รอยฟกช้ำ สีแดง
ในช่วงแรกที่ผิวหนังได้รับแรงกระแทก ผิวหนังจะมีสีแดง ซึ่งมาจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตก และเลือดคั่งใต้ผิวหนัง จึงทำให้เรามองเห็นบริเวณที่ถูกกระแทกนั้นเป็นสีแดง
รอยฟกช้ำ สีม่วงน้ำเงิน
หลังจากที่ผิวหนังได้รับแรงกระแทกแล้วเกิดอาการฟกช้ำ บางครั้งสีของรอยช้ำก็เปลี่ยนไปได้แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ นั่นเพราะเลือดที่ออกจากเส้นเลือดนั้นได้สูญเสียออกซิเจนไป ทำให้สีของเลือดกลายเป็นสีที่คล้ำขึ้น
ทั้งนี้ หากเส้นเลือดที่ได้รับบาดเจ็บหรือแรงกระแทกนั้นอยู่ลึก สีของรอยฟกช้ำอาจไม่ใช่สีแดงหรือสีม่วงน้ำเงินก็ได้ สีของรอยช้ำที่เข้มข้นแสดงว่าเส้นเลือดที่ได้รับบาดเจ็บนั้นอยู่ลึก บางครั้งอาจเป็นสีดำก็ได้ค่ะ
รอยฟกช้ำ สีเขียว
ไม่กี่วันหลังจากที่ผิวหนังได้รับแรงกระแทก สีของรอยช้ำจะกลายเป็นสีเขียว เพราะหลังจากที่เซลล์เม็ดเลือดแตกก็จะมีการผลิตเฮโมโกบิลออกมา ซึ่งในช่วงนี้ร่างกายจะเปลี่ยนเฮโมโกบิลจะผลิตสารเคมีใหม่ ส่งผลต่อสีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เราจึงเห็นรอยช้ำรอบนอกเป็นสีเขียว และด้านในเป็นม่วงน้ำเงิน
รอยฟกช้ำ สีเหลือง
เมื่อเราเห็นรอยช้ำกลายเป็นสีเหลือง นั่นแสดงว่าเฮโมโกบิลได้สลายตัวเสร็จเรียบร้อยและกลายเป็นบิลิรูบินแล้ว เราจึงเห็นสีของรอยฟกช้ำเป็นสีเหลือง ในขั้นนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ร่างกายจะขจัดเซลล์ที่ออกมาจากเส้นเลือดที่แตก เมื่อขจัดเสร็จเมื่อไหร่ รอยฟกช้ำนี้ก็จะจางหายไปด้วยค่ะ
วิธีดูแลรอยช้ำให้ลูก
โดยปกติร่างกายจะรักษาอาการฟกช้ำได้เอง โดยต้องผ่านขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น แต่วันนี้ผู้เขียนจะขอพูดรวมไปถึงบางรายที่มีอาการเจ็บ หรือปวดบวมด้วย ลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการดูนะคะ
ประคบเย็นที่รอยฟกช้ำ
ภายใน 48 ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงการประคบร้อนที่รอยฟกช้ำ หรืออาบน้ำด้วยน้ำอุ่น หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ให้ใช้วิธีประคบเย็นทันที จะช่วยลดความปวดได้ค่ะ การประคบเย็นที่รอยฟกช้ำนี้ ควรทำวันละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10-20 นาที
ยกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้น
หากมีอาการแผลฟกช้ำขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะแขนหรือขา ให้พยายามยกให้สูงเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งประคบเย็นบริเวณที่ช้ำนั้นร่วมด้วย จะช่วยลดพื้นที่ของรอยฟกช้ำให้น้อยลงได้
ประคบร้อนที่รอยฟกช้ำ
การที่จะประคบร้อนได้นั้น ต้องรอให้อาการบวมหายเสียก่อนถึงจะสามารถประคบร้อนได้ โดยทำเช่นเดียวกับประคบเย็น คือ ให้ประคบร้อนตรงรอยฟกช้ำ ทำวันละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10-20 นาที เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น รอยฟกช้ำก็จะหายไวค่ะ
รอยฟกช้ำแบบใดควรไปพบแพทย์
ถ้าเวลาผ่านไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ รอยช้ำก็ยังไม่จางหาย แถมยังมีอาการ
- ปวดศีรษะ
- มีไข้
- มีรอยนูนบวม เจ็บและปวด
- ปัสสาวะและอุจจาระมีเลือดปน
- มีเลือดออกในดวงตา
- มีเลือดออกปาก จมูก ไรฟัน
- มีรอยช้ำอยู่ แต่ผิวหนังบริเวณนั้นกลับมีสีซีด หรือเป็นรอยช้ำที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่แค่รอบช้ำธรรมดา แต่อาจเกิดจากเส้นเอ็นพลิก กระดูกหัก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเลือด หรือระบบการไหลเวียนของเลือด หรือเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคร้ายแรงบางอย่าง หากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
อย่างที่บอกว่ารอยฟกช้ำสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพียงแต่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตความรุนแรงของอาการ เพื่อที่จะได้ดูแลลูกอย่างถูกวิธีค่ะ