Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลมชักในเด็ก รู้ทัน ป้องกันได้

ลมชักในเด็ก รู้ทัน ป้องกันได้

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นกังวลอย่างแน่นอน หากลูกมีไข้ตัวร้อนและเกรงว่าลูกจะมีอาการชัก ซึ่งอาการไข้ตัวร้อนก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะให้เด็กเกิดเป็นโรคลมชักได้ อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยเป็นสาเหตุที่เกิดลมชักในเด็ก ดังนั้น หากคุณแม่รู้ว่าคนในครอบครัวมีประวัติอยู่แล้วก็สามารถที่จะป้องกันได้ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดกับลูกได้โดยเฉพาะวัย 5 ขวบปีแรก

ลมชักในเด็ก คืออะไร?

ลมชักเกิดจากการชักซ้ำตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เป็นความผิดปกติในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของเกลือแร่ ภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง หรือเกิดจากอาการไข้สูงที่ไม่สามารถควบคุมได้จนเกิดมีการชักขึ้นบ่อย ๆ

ที่สำคัญ มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็กในช่วงอายุ 5 ปีแรกและความเสี่ยงดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลง จากนั้นจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นอีกครั้งในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งหากมีอาการชักที่เกิดขึ้นในครั้งแรกก็จะมีโอกาสเกิดซ้ำได้ขึ้นอีก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน

กลุ่มเสี่ยงโรคลมชัก

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องคอยสังเกตลูกด้วยในแต่ละวัน โดยเฉพาะอาการลมชักมักจะเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว หรือแรกเริ่มของเด็กหรือคนไข้แต่ละคนจะแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หากเกิดขึ้นก็อาจเกิดความเสี่ยงต่อโรคลมชักได้

เคยมีประวัติจากคนในครอบครัว

มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชักมาก่อน หรืออาจจะเกิดจากพันธุกรรมได้

มีประวัติชักโดยไม่สัมพันธ์กับไข้

นั่นหมายถึงแม้จะอาการเจ็บป่วยธรรมดามีไข้ต่ำก็มีอาการชักได้

มีประวัติชักซ้ำจากไข้

ซึ่งเกิดจากการละเลยและปล่อยให้เด็กมีไข้สูงบ่อย ๆ ทำให้มีอาการชักซ้ำ

มีการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ

ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยยังมีสติอยู่บ้าง แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้

มีประวัติพัฒนาการล่าช้าแต่กำเนิด

ซึ่งอาจจะเกิดจากคนในครอบครัวมีประวัติเคยชัก หรือเกิดจากคุณแม่เอง

อาการลมชักในเด็ก มีกี่ประเภท

เด็กที่มีอาการชักเฉพาะส่วน

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ที่มีการเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งในสมอง แล้วทำให้เกิดอาการแสดงต่าง ๆ โดยที่เด็กจะมีความรู้สึกตัวหรือไม่ก็ได้ เป็นได้ทั้ง 2 อย่าง ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกระตุกแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาการชักที่จะทำให้ศีรษะหันไปด้านใดด้านหนึ่ง

เด็กที่มีอาการชักทั้งตัว

เกิดจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าสมองออกเป็นบริเวณกว้างมีผลทำให้สมองทั้งสองข้างเกิดความผิดปกติอย่างรุนแรง และมักจะทำให้เด็กหรือผู้ป่วยหมดสติหรือไม่รู้สึกตัว เช่น การชักเกร็ง กระตุกเป็นจังหวะทั้งตัว อาการเหม่อลอยหรืออาจล้มลงแบบไม่รู้ตัวเพราะสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลัน

การวินิจฉัยโรคลมชัก

จำเป็นจะต้องมีการซักประวัติ และทำการตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด รวมไปถึงประวัติการชักจากญาติพี่น้องที่เป็นสายเลือดเดียวกัน รวมไปถึงการตรวจเช็คพัฒนาการและวัดขนาดรอบศีรษะของเด็กเพื่อหาความผิดปกติ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย

ตรวจเลือด

จำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือด เพื่อเช็กดูระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในร่างกายของคนไข้ว่าผิดปกติมากไม่

การตรวจน้ำไขสันหลัง

สำหรับกรณีนี้จะทำได้เมื่อสงสัยว่าเกิดภาวะการติดเชื้อในระบบประสาทหรือสงสัยอาการชักจากโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)

เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มาก เพื่อเป็นการช่วยในการยืนยันการวินิจฉัย และสามารถจะจำแนกชนิดของโรคลมชัก เพื่อที่จะให้เป็นแนวทางในการรักษาและสามารถจะทำการทำนายโรคได้

การตรวจทางรังสีวิทยา

เช่น CT scan และ MRI จะให้สำหรับเด็กที่มีอาการชักเฉพาะที่ โดยต้องการจะหาสาเหตุว่ามีความผิดปกติของระบบประสาท หรือในกรณีที่ไม่สามารถจะควบคุมอาการชักได้

การรักษาโรคลมชัก

การรักษาโรคลมชัก สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

  • การปฐมพยาบาลขณะที่เด็กมีอาการชักจนถึงมือแพทย์
  • จะต้องจัดเด็กหรือผู้ป่วยอยู่ในท่าที่เหมาะสมมากที่สุด
  • ให้การดูแลการหายใจและการไหลเวียนเลือด
  • ให้ยาหยุดชัก กรณีที่เด็กหรือผู้ป่วยมียาประจำตัวอยู่แล้ว
  • แพทย์จะทำการเจาะเลือดหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของอาการชัก
  • แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้สารน้ำเพื่อสะดวกในการให้ยา สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีสติ
  • การป้องกันอาการชักซ้ำในเด็ก

สำหรับยากันชักมักจะมีผลข้างเคียงซึ่งในครอบครัวที่มีเด็กที่เป็นลมชักมักจะต้องตัดสินใจเพื่อรักษาอาการให้ลูกในปัจจุบัน โดยจะมีการให้ยาต่อเนื่องประมาณ 2 ปีขึ้นไป หรือบางรายหากอาการรุนแรงก็อาจจะต้องใช้ยาไปเรื่อย ๆ จนเด็กโตได้เลย โดยช่วงแรก ๆ จะมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และมีการเจาะเลือดดูระดับยา พร้อมกับตรวจเช็คผลข้างเคียง หากระหว่างนี้ไม่มีอาการชักอาจมีการลดขนาดยาลง หรือมีโอกาสที่จะได้รับการหยุดยากันชักได้ ซึ่งจะพบได้มากถึง 70% จากคนไข้ที่มีลมชักในเด็ก

ลมชักในเด็กสามารถจะป้องกันได้ หากคุณพ่อคุณแม่รู้ถึงสาเหตุต่าง ๆ ก็จะต้องเฝ้าดูเพื่อไม่ให้เกิดกับลูกได้ หากไม่ต้องการที่จะให้ลูกต้องรับยากันชักติดต่อกันไปเป็นระยะเวลานาน ๆ