Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ล้างจมูกทารก 6 เดือน และมากกว่า 6 เดือนอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่สำลักลงปอด

ล้างจมูกทารก 6 เดือน และมากกว่า 6 เดือนอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่สำลักลงปอด

ทุกครั้งที่ลูกน้อยป่วยโดยเฉพาะอาการไม่สบายที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เป็นอันกินอันนอนไปตามกัน เพราะลูกน้อยก็มักจะมีอาการไข้ ไอ และมีน้ำมูก ลูกน้อยหายใจไม่ออกเพราะมีน้ำมูกมาอุดตัน คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็อยากล้างจมูกแต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากอะไรก่อน ต้องใช้อะไรบ้าง ที่สำคัญ ล้างอย่างไรให้ลูกไม่ต่อต้านจนเกิดการสำลักลงปอด วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันค่ะ

หากไม่ล้างจมูก ลูกอาจเสียชีวิตได้

ขนาดนั้นเลยหรือ? ใช่ค่ะ เพราะเมื่อเวลาที่ทารกไม่สบาย มีไข้ เขาจะรู้สึกไม่สบายตัว สิ่งเดียวที่เขาสามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้ก็คือ “การร้องไห้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกมีน้ำมูกมาอุดกั้นระบบทางเดินหายใจ สิ่งนี้เองค่ะอาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้ เพราะลูกหายใจไม่ออก ซึ่งเด็กเล็ก ๆ นั้นเขายังไม่สามารถหายใจทางปากได้

การล้างจมูกทารกในแต่ละช่วงวัย

ทารกวัยแรกเกิด – 6 เดือน

ถ้าในเด็กอ่อนมาก ๆ จะไม่ใช้วิธีการสวนล้างค่ะ แต่จะใช้วิธีการเช็ดจมูกหรือการน้ำขี้มูกที่เกรอะกรังออกมาแทน แต่ถ้าหากมีน้ำมูกมาก ๆ แนะนำควรให้แพทย์หรือพยาบาลเป็นผู้ดูดออกให้ด้วยเครื่องมือแพทย์จะดีที่สุดค่ะ เพื่อลดการระคายเคืองของเยื่อบุโพรงจมูกของลูกได้ แต่ถ้าน้ำมูกไม่มาก คุณแม่สามารถทำเองได้ที่บ้านค่ะ

อุปกรณ์ล้างจมูกทารกแรกเกิด – 6 เดือน

  • น้ำเกลือนอร์มอลซาไลน์
  • ไซริงค์ 3 – 5 ซีซี
  • ลูกยางแดงสะอาด
  • ผ้าห่อตัว

วิธีการล้างและดูดน้ำมูกทารก

  • นำผ้ามาห่อตัวทารก เพื่อป้องกันการดิ้น
  • อุ้มในท่าที่ศีรษะสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย หยดน้ำเกลือ หรือสเปรย์น้ำเกลือลงในจมูก 2 – 3 หยด ต่อข้าง ทิ้งไว้ 5 – 10 นาที รอจนกว่าน้ำมูกจะอ่อนตัวลง
  • ใช้ลูกยางแดงสะอาด ดูดน้ำมูกในโพรงจมูกออก
  • ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือแล้วเช็ดทำความสะอาดรูจมูกอีกครั้ง

** ควรทำวันละ 1 – 2 ครั้ง หากยังพบว่ามีปริมาณน้ำมูกที่เพิ่มมากขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอค่ะ **

ทารกวัย 6 เดือน ขึ้นไป

วัยนี้กระดูกคอเริ่มแข็งแล้ว ลูกน้อยเริ่มคว่ำเองได้ คุณแม่สามารถอุ้มลูกในท่าคว่ำได้ค่ะ การล้างจมูกของเด็กวัยนี้ แนะนำให้ล้างวันละ 2 ครั้ง หากพบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น และยังมีน้ำมูกมากขึ้น แนะนำควรไปปรึกษาคุณหมอค่ะ เพราะหากลูกมีอาการหวัดเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์ และเป็นหวัดบ่อย ลูกอาจมีอาการของภูมิแพ้ได้

อุปกรณ์ล้างจมูกทารก 6 เดือน ขึ้นไป

  • น้ำเกลือนอร์มอลซาไลน์
  • ไซริงค์ 10 ซีซี หรืออาจเป็นลูกยางแดงสะอาด
  • ผ้าห่อตัว

วิธีการล้างและดูดน้ำมูกทารก

  • ห่อตัวลูก หากลูกดิ้นมาก
  • อุ้มลูกในท่าที่เหมือนถือลูกฟุตบอล โดยให้หน้าลูกคว่ำลง มือประคอลใต้คางลูกไว้ให้กระชับ และมั่นคง
  • ดูดน้ำเลือกให้เต็มไซริงค์หรือลูกยาง
  • ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกข้างหนึ่ง โดยฉีดอย่างต่อเนื่องทั้งไซริงค์ น้ำมูกจะไหลออกมาพร้อมน้ำเกลือ พักให้ลูกได้หายใจและค่อยทำซ้ำจนกว่าน้ำเกลือที่ไหลออกมาจะสะอาด

วิธีฉีดสเปรย์น้ำเกลือทารก

  1. พ่อสเปรย์น้ำเกลือเข้าที่รูจมูกข้างละ 2 – 3 ครั้ง
  2. รอประมาณ 5 – 10 นาที หรือจนกว่าขี้มูกหรือน้ำมูกอ่อนตัวลง
  3. ให้คุณแม่เช็ดใช้ลูกยางแดงดูดออกมา

คุณแม่จะใช้ลูกยางแดง หรือคัดเติ้ลบัตเล็กสำหรับเด็ก ค่อย ๆ เช็ดออกก็ได้นะคะ แต่…ต้องทำอย่างเบามือนะคะ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าดันน้ำมูกเข้าไปลึกกว่าเดิม

การล้างจมูกลูกเมื่อเวลาลูกจะทำให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน จะทำให้หลับยาวมากขึ้นไม่มีน้ำมูกย้อยไปรบกวนระบบทางเดินหายใจ เพราะเวลานอนน้ำมูกจะไหลย้อยไปที่คอ รบกวนระบบทางเดินหายใจทำให้ลูกไอได้ค่ะ ครั้งแรกของการล้างจมูก คุณแม่อาจดูเก้ ๆ กัง ๆ นิดหน่อย แต่ไม่เป็นไรค่ะ ทำบ่อย ๆ เดี๋ยวก็คล่องเอง