Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ยาทาผดร้อน สำหรับทารก

ยาทาผดร้อน สำหรับทารก

อากาศร้อน ใคร ๆ ก็ไม่ชอบ เด็กเล็กก็เช่นกันค่ะ เพราะอากาศร้อนเป็นหนึ่งตัวการที่ทำให้เกิดผดร้อนในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กหรือทารก ผดร้อนก็สามารถเกิดได้กับผู้ใหญ่เช่นกัน เพียงแต่ผู้ใหญ่จะมีความอดทนได้มากกว่าเด็กเล็ก ซึ่งทั้งนี้ การแก้อาการผดร้อน สามารถทำให้ด้วยการใช้ยาทาผดร้อน สำหรับทารกค่ะ

ผด-ผื่นในทารก มีกี่ชนิด

ผด-ผื่นในทารกมีหลายชนิด ดังนี้

ผดผื่นที่เกิดจากต่อมไขมัน

โดยเฉพาะทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน รูเปิดของต่อมไขมันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่และทำงานได้ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ผิวหนังเกิดการอุดตันและอักเสบได้ง่ายบริเวณใบหน้า หลังหู คิ้ว ซึ่งจะมีต่อมไขมันมากกว่าส่วนอื่น ทำให้คุณแม่เห็นเป็นคราบไขมันเหลืองหนา หรือแห้งเป็นเกร็ด สักพักจะหลุดร่อนออกไป แต่ของใหม่ก็ขึ้นมาอีก แต่มักจะไม่มีอาการคันอะไร ลูกน้อยจึงไม่มีอาการหงุดหงิดอะไร

ผดผื่นที่เกิดจากต่อมเหงื่อ

ต่อมเหงื่อเกิดการอุดตัน เนื่องจากต่อมเหงื่อยังพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดเป็นผดผื่นได้ง่าย ได้แก่ ผดใส ผดแดง และผดลึก ทั้งหมดนี้มักเกิดในฤดูร้อน ผดแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความลึกของการอุดตันของต่อมเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง ถ้าอุดตันเกิดบนผิวหนังตื้น ๆ ก็จะเห็นเป็นตุ่มใส ๆ ถ้าอุดตันที่ผิวหนังระดับกลางจะเห็นเป็นผดแดง หรือถ้าอุดตันที่ผิวหนังชั้นล่าง ก็จะเห็นเป็นผดสีขุ่น ๆ

ผื่นจากภูมิแพ้ผิวหนัง

ข้อนี้เป็นกรรมพันธุ์ที่ส่งต่อมาจากคุณพ่อหรือคุณแม่ เด็กที่เป็นภูมิแพ้จะมีความไวต่อสิ่งเร้ามากและเร็วกว่าคนปกติ หากลูกน้อยได้รับมาจากกรรมพันธุ์ ผิวหนังก็จะมีความไวและแพ้ได้ง่าย แม้แต่เหงื่อของตัวเอง กรณีนี้พบได้ 14 – 15% โดยประมาณ

ผื่นแพ้ผ้าอ้อม

เพราะผิวหนังลูกน้อยบอบบาง หากปล่อยให้เกิดการหมักหมมเพียงเล็กน้อย หรือเปียกชื้น ก็จะสามารถเกิดผื่นผ้าอ้อมได้แล้วค่ะ โดยเฉพาะขาหนีบ ปลายอวัยวะเพศชาย และลูกอัณฑะ ซึ่งอาจเกิดอาการระคายเคืองได้

ผื่นลมพิษ

ลักษณะของผื่นลมพิษจะมีลักษณะบวมแดง มีขอบนูนชัดเจน เป็น ๆ หาย ๆ มีอาการคัน ยิ่งถ้าเกาจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดผื่นมากขึ้น คันมากขึ้น สาเหตุเกิดจากการแพ้สารเคมีหรือแพ้อาหารเป็นส่วนใหญ่

ยาทาผดร้อน สำหรับทารก

น้ำมันมะกอก หรือเบบี้ออยล์

ข้อนี้เหมาะกับผดผื่นที่เกิดจากต่อมไขมันที่ป้องกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่ลูกน้อยได้รับจากคุณแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ได้แต่รอเวลาที่ฤทธิ์ของฮอร์โมนตัวนี้หมดไป ซึ่งมันจะหายไปเอง สามารถดูแล หรือบรรเทาให้อาการน้อยลงได้ ด้วยการใช้น้ำมันมะกอก เช่น น้ำมันมะกอก เบบี้ออยล์ ฯลฯ นวดบริเวณที่เกิดผดทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อให้สะเก็ดนุ่มลง แล้วค่อยล้างหรือเช็ดออก สะเก็ดจะหลุดออกค่ะ เพราะถ้าปล่อยให้สะเก็ดแห้งและแข็งอยู่อย่างนั้น อาจจะยิ่งทำให้ผิวของลูกน้อยแสบมากขึ้นเนื่องจากมันจะไปขูดกับเสื้อผ้า

ยาแก้อักเสบ 0.02% T.A. หรือครีมจำพวก Brand Cream

ใช้กับอาการที่เป็นผื่นแดง บริเวณที่ไม่มีเส้นผมหรือขน อาทิ แก้ม ซอกคอ หลังหู และขาหนีบ เป็นต้น โดยทายาบาง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวลูกเป็นขุย

ข้อควรรู้
คาลาไมน์สามารถใช้ทาได้ในกรณีช่วงแรก ๆ แต่ถ้าเป็นเนื้อแป้งในคาลาไมน์อาจยิ่งทำให้รูของต่อมไขมันยิ่งอุดตันมากขึ้น ทำให้อาการยิ่งหนักขึ้น

ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide)

เป็นสารที่ใช้ในทางการแพทย์ ช่วยลดอาการอักเสบ ลดอาการคัน ส่งผลให้ผื่นผิวหนังแห้งลง สามารถป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยสมานสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ

ทาโลชั่นหรือออยเม้นท์

สามารถใช้โลชั่นหรือออยเม้นท์ในการช่วยเคลือบผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยชโลมที่ผิวหนังบ่อย ๆ บาง ๆ หรือจะทาทันทีหลังอาบน้ำ หรือหลังแช่ในอ่างน้ำ 15 – 20 นาที โดยควรทาภายใน 3 นาที ก่อนที่น้ำที่ผิวหนังลูกน้อยจะระเหยไป

ใช้น้ำเกลือ

ถ้าหากคุณแม่พบว่าบริเวณผดร้อนของลูกมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา ให้ใช้น้ำเกลือที่เป็นน้ำเกลือแบบเดียวกันกับที่ใช้ล้างจมูก ชุบสำลีสะอาดประคบที่แผล ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำเหลืองจะหยุดไหลซึม และแห้งลง วิธีนี้ลูกน้อยจะไม่แสบนะคะ เด็กส่วนใหญ่จะชอบวิธีนี้ค่ะ

ผดร้อนไม่ว่าจะเกิดกับใครก็สร้างความไม่สบายตัวด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะกับทารก เขาอาจร้องงอแงเพราะความไม่สบายตัวหรือเพราะความแสบคัน ดังนั้น คุณแม่ควรหมั่นสังเกตผิวหนังของลูกน้อย และเลือกสวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ ดูแลไม่ให้ผิวหนังลูกอับชื้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดผดร้อนนะคะ