Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

Heat Stroke หรือ โรคลมแดด ในเด็ก คืออะไร? ภัยร้ายที่พ่อแม่ควรรู้เท่าทัน

Heat Stroke หรือ โรคลมแดด ในเด็ก คืออะไร? ภัยร้ายที่พ่อแม่ควรรู้เท่าทัน

คุณพ่อคุณแม่คิดเหมือนกันไหมคะว่าทุกวันนี้โลกเราร้อนขึ้น แดดก็แร๊ง แรง ส่วนหนึ่งนั่นเพราะโลกเราที่เจอกับภาวะเรือนกระจก เป็นเหตุทำให้โลกเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี จึงมีหลายคนที่ตกอยู่ในภาวะ “Heat Stroke หรือ โรคลมแดด” โรคนี้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะลูกน้อย

Heat Stroke หรือโรคลมแดด คือ?

คือ ร่างกายอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิร้อนมาก ๆ ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้อุณหภูมิลดลงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ร่างกายจึงอยู่ในภาวะที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต หากได้รับการปฐมพยาบาลหรือรักษาไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคลมแดด คือภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่ที่อุณหภูมิร้อนมาก ๆ และร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
ข้อมูลอ้างอิง โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่

สาเหตุของโรคลมแดด

เกิดจากการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนที่เกิดจากการใช้พลังงานได้ตามปกติ โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะสามารถรับมือและจัดการกับความร้อนที่เกิดกับร่างกายได้ดี แต่หากปัจจัยรอบตัวยังคงมีอุณหภูมิที่สูงเกินร่างกายจะรับไหว และไม่สามารถปรับสมดุลได้ทัน ก็จะเกิด “ภาวะลมแดด” ขึ้น

“โรคลมแดดสามารถเป็นได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา และหญิงตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้”

ข้อควรระวัง

หน้าร้อนคุณพ่อคุณแม่อาจมองว่าการพาลูกน้อยไปเล่นน้ำ หรือว่ายน้ำในสระ น่าจะเย็นสบาย แต่รู้หรือไม่ การเล่นน้ำในช่วงเวลาที่แดดแรง อาจเกิดตะคริวได้ อันตรายถึงชีวิต ทางที่ดี ควรเล่นแต่พอควรและคอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิดนะคะ

การจัดกลุ่มโรคลมแดด

โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกาย (Exertional Heat Stroke : HES)

พบมากในกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงมาก่อน เช่น เด็กโต วัยรุ่น นักกีฬา และทหารเกณฑ์ เป็นต้น

โรคลมแดดทั่วไป(Non-Exernational Heat Stroke : NHES)

พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดัน ผู้ที่ใช้สารเสพติด ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือในเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

อาการของโรคลมแดด

เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส
  • ร่างกายไม่ขับเหงื่อออก แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้น
  • เนื่องจากอุณหภูมิสูง ส่งผลให้ผิวหนังแดง แห้ง และร้อน แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยออกกำลังกายมา ผิวหนังอาจมีความชื้นอยู่บ้าง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เป็นตะคริว
  • วิงเวียนศีรษะ ไม่สามารถทรงตัวได้ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ
  • กระสับกระส่าย พูดไม่ชัด เพ้อ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจถี่และตื้น
  • ปวดศีรษะตุบๆ
  • ชัก
  • คลื่นไส้ อาเจียน

วิธีการช่วยเหลือจากโรคลมแดดเบื้องต้น

โรคลมแดดเป็นโรคที่เกิดอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการช่วยเหลือในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อวัยวะสำคัญต่างๆ อย่างสมองได้รับความกระทบกระเทือน ด้วยการที่ต้องทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเป็นปกติโดยเร็ว วิธีการมีดังนี้

  • นำผู้ป่วยไว้ในร่มหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดหรือคลายเสื้อผ้าที่คับแน่นออก
  • คุณหมอบางท่านใช้วิธี “การระเหย” คือ ใช้น้ำเย็นชโลมตามผิวหนังของผู้ป่วย และใช้พัดลมเป่าให้เกิดการระเหย
  • ใช้แพคน้ำแข็งประคบไปที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ คอและหลัง เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีเส้นเลือดที่ใกล้กับชั้นผิวหนังอยู่เป็นจำนวนมาก
  • เฝ้าดูให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเหลือประมาณ 38.3 – 38.8 องศาเซลเซียส ในขณะที่ยังคงทำการรักษาอยู่
  • หากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเย็นที่ “ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
  • ระหว่างการรักษาเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการหนาวสั่น อาจส่งผลให้อุณหภูมิกลับเพิ่มขึ้น คุณหมออาจให้ยาช่วยคลายกล้ามเนื้อ เช่น เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)เพื่อบรรเทาอาการหนาวสั่น
  • คุณหมออาจให้น้ำเกลือหรือเกลือแร่ กับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ

การป้องกันภาวะโรคลมแดด

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแดด
  • อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ แต่ไม่ควรดื่มน้ำที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้
  • หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ให้ใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่รัดแน่น ระบายอากาศได้ดี สีอ่อน สวมหมวกปีกกว้าง และใช้ครีมกันแดดที่มี SPF15 ขึ้นไป
  • รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น สลัดและผลไม้
  • ใช้น้ำพรมเสื้อผ้าหรือผิวหนัง หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ วางไว้ที่คอเพื่อช่วยลดอุณหภูมิได้
  • ปลูกต้นไม้หรือวางอ่างน้ำไว้ในบริเวณที่พักอาศัยจะช่วยลดความร้อนได้
  • ควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เพราะถือเป็นแหล่งกำเนิดความร้อนชนิดหนึ่ง
  • อย่าปล่อยให้เด็กหรือผู้สูงอายุอยู่ในรถที่จอดไว้ ถึงแม้จอดแค่ 10 นาที ความร้อนสามารถขึ้นมาได้ถึง 6 องศาเซลเซียส อันตรายถึงชีวิตได้
  • เฝ้าดูเด็ก และผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เพราะจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่าย

ด้วยความที่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราแทบจะแยกไม่ได้แล้วว่าช่วงไหนคือหน้าร้อน เพราะร้อนเกือบทั้งปี เพราะฉะนั้นเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ เพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยของลูก ๆ เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า “โรคที่มากับหน้าร้อน 2563 โรคที่มักเป็นในเด็ก” ที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวังมีอะไรบ้าง


ลูกปวดหัว ท้องเสีย มีไข้ สรุปแล้วลูกเป็นโรคอะไรกันแน่? อาการเหล่านี้มักเกิดได้กับเด็กโดยเฉพาะในหน้าร้อน หากเป็นหนักอาจเสียชีวิตได้ โรคหน้าร้อนในเด็ก 2563 มีอะไรบ้าง คลิกที่นี่