Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีดูแลบาดแผลจากความซนของเจ้าตัวเล็ก

ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกน้อยในวัยกำลังโตของคุณจะซุกซนวิ่งเล่นแล้วมีการพลาดพลั้งเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ จนมีบาดแผลต่างๆ มาฝากให้คุณต้องเป็นห่วงกัน แต่ทำใจให้สบายถือว่าให้เขาได้เรียนรู้และถือโอกาสสอนให้เขาระมัดระวังตัวให้มากขึ้น แล้วมาเรียนรู้วิธีดูแลรักษาบาดแผลประเภทต่างๆ ที่ได้มาจากความซุกซนของเจ้าตัวเล็กกันดีกว่า

แผลแต่ละประเภทดูแลแตกต่างกัน

แผลฟกช้ำ

เป็นไปได้มากที่จะเกิดแผลฟกช้ำเพราะลูกอาจจะพลาดไปโดนของแข็งหนีบ กระแทก นั่นเองและก็จะไม่มีบาดแผลหรือว่ามีเลือดออกมาภายนอกแต่ภายใต้ผิวหนังนั้นยังเกิดการฉีกขาดอยู่จึงทำให้เป็นสาเหตุของการฟกช้ำที่ทำให้เกิดอาการบวมและทำให้สีผิวเปลี่ยนไปได้นั่นเอง

โดยวิธีดูแลรักษานั้นก็ไม่ยากเริ่มต้นจากการประคบเย็นในช่วง 24 ชั่วโมงแรกที่เกิดแผลผกช้ำเพื่อเป็นการห้ามเลือดหลังจาก 24 ชั่วโมงแรกแล้วนั้นค่อยเปลี่ยนมาเป็นประคบด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดอาการบวมช้ำ และที่สำคัญอย่าคลึง ขยี้ หรือนวดด้วยความร้อนจากพวกยาหม่อง ยาแก้เคล็ดขัดยอก เพราะว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีเลือดออกใต้ผิวหนังมากขึ้นอีกด้วย

แผลถลอก

การหกล้ม สะดุดไถล และการลื่น มักจะเป็นสาเหตุของแผลถลอกแต่ไม่ต้องกังวลมากไปเพราะแผลถลอกส่วนใหญ่นั้นจะเป็นแผลแบบตื้นๆ มีเลือดซึมออกมาเพียงเล็กน้อย หรือในบางครั้งอาจจะมีเป็นน้ำใสๆ หรือเหนียวออกมาจากผิวหนัง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพวกฝุ่นละอองในบริเวณที่หกล้มที่ติดมากับแผลมากกว่าเพราะอาจจะเป็นสาเหตุของการอักเสบและติดเชื้อได้

ถ้าลูกเกิดแผลถลอกขึ้นมาคุณก็เพียงหาผ้าสะอาดหรือสำลีกดห้ามเลือดเบาๆ ก่อนแล้วค่อยใช้ผ้าหรือสำลีชุบน้ำสะอาดมากำจัดสิ่งสกปรกรอบแผลออกให้หมด ถ้าแผลดูสกปรกมากก็ควรใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อฆ่าเชื้อ แล้วใส่เบตาดีนทาให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่ถลอก และถ้าสังเกตดูแล้วแผลมีความลึกอยู่ก็ขอแนะนำให้นำผ้ากอชมาปิดแผลไว้เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเข้าสู่แผลนั่นเอง

แผลจากการถูกบาด

ไม่ว่าจะเป็นการถูกบาดจากมีด เศษแก้ว โลหะ เข็ม ตะปู ของปลายแหลม ก็มีหลักการป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้นที่ไม่ต่างกันมากนัก เริ่มจากการใช้ผ้าสะอาดกดแผลไว้เบาๆ เพื่อห้ามเลือดแต่ถ้าเป็นแผลถูกบาดที่ยาวและลึกนั้นก็อาจจะเพิ่มความหนาของผ้าที่ใช้กดเข้าไปด้วย และค่อยๆ ใช้น้ำสะอาดล้างแผลแล้วหาผ้าสะอาดมาปิดแผลเอาไว้ ถ้าเกิดทิ้งระยะไว้สักพักแล้วมีลักษณะอาการบวม แดง มีกลิ่น ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบให้ดีว่าแผลลึกจนต้องเย็บหรือควรได้รับยาฆ่าเชื้อใดๆ หรือไม่นั่นเอง

ปากแตกและฟันโยก

นี่อาจจะทำให้ลูกเสียขวัญไม่น้อยเพราะหน้าเขาอาจจะไปฟาดกับอะไรเข้าทำให้เกิดแผลลักษณะนี้แล้วนอกจากปากแตกถ้าแอบสังเกตเห็นว่าฟันหน้าบริเวณเหงือกของเขามีเลือดซึมและโยกเล็กน้อยแล้วด้วยนั้นก็มีวิธีการดูแลรักษากันอยู่

เริ่มจากการใช้ผ้าสะอาดเช็ดซับเลือดบริเวณที่ปากแตกและให้ลูกบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดก่อน และถ้าตรวจดูแล้วเลือดเริ่มหยุดซึมก็ให้ปรับเปลี่ยนในส่วนของอาหารการกินของลูกให้เป็นอาหารอ่อนๆ สักประมาณ 1 อาทิตย์เพื่อให้แผลกลับมาเข้าที่ตามเดิมและพยายามดูแลไม่ให้ฟันซี่นั้นถูกกระทบกระเทือน

แต่ถ้ามีอาการของฟันบิ่นเข้ามาด้วยล่ะก็ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์จะดีกว่าเพื่อให้ได้รับการดูแลและรักษาอย่างถูกต้อง เพราะหากปล่อยเอาไว้อาการฟันบิ่นอาจจะเป็นสาเหตุของฟันผุในอนาคตได้

แผลที่หัว

ในส่วนนี้ถ้าหัวไม่แตกแล้วเลือดออกมาก็อาจจะเป็นอาการปูด บวม หัวโน ที่เกิดจากแรงกระแทกจนทำให้เกิดเลือดคั่งในบริเวณนั้นจริงๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในให้ละเอียดเพราะเด็กที่ยังเล็กเมื่อถูกการกระแทกบริเวณหัวก็ถือว่ายังต้องเป็นห่วงและเฝ้าระวังกันอยู่เพราะกะโหลกของเขายังบอบบาง

แต่ขั้นตอนก่อนจะไปพบแพทย์นั้นคุณสามารถดูแลได้ด้วยการเอาน้ำแข็งประคบบริเวณที่ปูด โน เพื่อให้เส้นเลือดหดตัวลงและลดอาการเจ็บ จากนั้นก็เฝ้าดูอาการของลูกประมาณ 24 ชั่วโมง ถ้าเกิดอาการซึม และอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ พาลูกขึ้นรถและสตาร์ทไปโรงพยาบาลได้เลยเพราะเขาต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์แล้วนั่นเอง

แก้วตาดวงใจมีบาดแผลคงทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลและเป็นห่วงไม่น้อยแต่ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและให้พยายามป้องกันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเป็นการช่วยลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับพวกเขานั่นเอง แต่ถ้าบังเอิญความซนของเขายังพาแผลมาฝากก็ดูแลไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็นและอย่าดุเขาเพราะอาจจะทำให้เขาเครียดและกลัวได้ ควรสอนเขาด้วยเหตุและผลพร้อมทั้งสอนวิธีการป้องกันและดูแลตัวเองให้เขาไว้จะดีกว่า