Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกหัวโน อย่าวางใจ พร้อมวิธีปฐมพยาบาล

ลูกหัวโน อย่าวางใจ พร้อมวิธีปฐมพยาบาล

เพราะลูกไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็สามารถประสบอุบุติเหตุศีรษะกระแทกพื้นกันได้ทั้งสิ้น อาจเกิดได้ทั้งจากที่ผู้ใหญ่คลาดสายตา และสามารถเกิดได้ทั้งที่ผู้ใหญ่อยู่ด้วยแต่ไม่สามารถเข้าป้องกันเด็กได้ทัน อาการที่พบมีทั้งอาการฟกช้ำเล็กน้อย หัวโน ไปจนถึงอาการที่ถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง ดังนั้น ถ้าหากลูกน้อยได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวางใจเป็นอันขาด

อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ คืออะไร?

เมื่อศีรษะกระแทกและลูกน้อยได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ เรียกว่า Concussion Syndrome เป็นกลุ่มอาการของสมองที่ได้รับการกระทบกระเทือน จนส่งผลให้การทำงานของสมองนั้นผิดปกติไป โดยทั่วไปแล้วจะดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์

Concussion Syndrome คือกลุ่มอาการของสมองที่ถูกกระทบกระเทือน ซึ่งทําให้เกิดการทํางานผิดปกติ โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะเป็นแค่ชั่วคราว และส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 6 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการ ยาวนานกว่านั้นจะต้องกลับมาพบแพทย์
อ้างอิงจาก: โรงพยาบาลสมิติเวช

อุปกรณ์ที่ใช้ในการปฐมพยาบาลลูกหัวโน

ก่อนที่จะไปดูวิธีปฐมพยาบาลกรณีลูกศีรษะกระแทก ลูกหัวโนนั้น เรามาเตรียมอุปกรณ์กันก่อนดีกว่าค่ะ ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

  • น้ำเกลือ
  • เจลประคบเย็น หรือ ถุงประคบเย็น
  • ยาแก้ปวดสำหรับเด็ก
  • บาล์มแก้ฟกช้ำสำหรับเด็ก

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกหัวโน

คราวนี้เรามาเริ่มกันเลยค่ะกับวิธีปฐมพยาบาลลูกหากลูกศีรษะกระแทก

  1. หากศีรษะลูกได้รับการกระแทกอย่างแรง มีรอยแดง บวม ปูด ให้คุณแม่ใจเย็น ๆ ก่อน ค่อย ๆ พยุงลูกขึ้นมาอย่างช้า ๆ ไม่ควรรีบให้ลูกลุกขึ้น จากนั้นใช้น้ำสะอาดหรือน้ำเกลือเช็ดทำความสะอาดในบริเวณที่หัวลูกกระแทกหรือได้รับบาดเจ็บ
  2. นำเจลประคบเย็นหรือถุงประคบเย็นที่เตรียมไว้ มาประคบครั้งละประมาณ 5 นาที เป็นระยะ ๆ เนื่องจากการประคบเย็นเป็นการทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นหดตัว และลดอาการบวมแดงได้
  3. ทาบาล์มแก้ฟกช้ำสำหรับเด็ก ทาบาง ๆ บริเวณที่หัวโน เป็นการช่วยลดอาการบวมแดงได้เร็วยิ่งขึ้น
  4. กรณีถ้าลูกน้อยรู้สึกปวดบริเวณที่หัวโน หรือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ คุณแม่สามารถให้ลูกน้อยทานยาแก้ปวดสำหรับเด็กได้ โดยปริมาณที่ให้ลูกกินนั้น คุณแม่สามารถอ่านจากฉลากข้างขวดค่ะ
  5. เมื่อผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ให้คุณแม่ประคบร้อนในบริเวณที่ลูกหัวโน หรือบริเวณที่ศีรษะถูกกระแทก คุณแม่สามารถใช้เจลประคบแช่ในน้ำอุ่น หรือจะใช้เป็นผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน บิดหมาดประคบไว้เป็นระยะ ๆ แบบนี้จะช่วยให้ลูกบรรเทาอาการปวดได้ และลดรอยแดงฟกช้ำได้

อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์

ถ้าในกรณีที่ศีรษะของลูกได้รับการกระแทกอย่างแรง หรือตกจากที่สูงในลักษณะที่ไม่ปกติ คุณแม่จำเป็นที่จะต้องเฝ้าดูอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีอาการบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายได้ เนื่องจากลูกอาจมีอาการทางสมอง หรือมีอาการตกเลือด ซึ่งอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกต มีดังนี้

  • ลูกมีอาการเวียนศีรษะ ปวดหัวอย่างรุนแรง ตาพล่ามัว มองเห็นไม่ชัดเหมือนเคย ลุกขึ้นยืนแล้วเสียการทรงตัว พร้อมกับมีอาการอ่อนแรง
  • อาเจียน หรืออาเจียนแล้วมีเลือดออกมาด้วย รวมถึงมีเลือดออกจากปาก จมูก หรือหู
  • ลูกหายใจลำบาก หายใจไม่สะดวก
  • พูดติด ๆ ขัด ๆ พูดไม่ชัด พูดไม่ปกติ
  • หลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ลูกมีอาการหงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า หรือนิ่งเงียบ

เพราะคำว่า อุบัติเหตุ มักเป็นอะไรที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เกิดได้เพียงแค่เสี้ยววินาที สามารถเกิดได้ทั้งในทารกหรือเด็กโตที่มักจะมีพลังเหลือล้น ชอบวิ่งเล่นซึ่งก็เป็นช่วงวัยของลูกที่เขายังรัก และสนุกในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ ดังนั้น เมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุ ศีรษะกระแทก หรือหัวโน ภายใน 24 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าหากมีสัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าสมองของลูกอาจมีความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่จะได้พาลูกไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีนั่นเองค่ะ