Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ผดร้อนทารก พร้อมวิธีป้องกัน

ผดร้อนทารก พร้อมวิธีป้องกัน

เพราะผิวของทารกนั้นบอบบางมาก ดังนั้น เรื่องของผดร้อนทารกก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย และจะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อน เรื่องนี้ทำเอาคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คนกังวลใจมากทีเดียว วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับผดร้อนทารก พร้อมวิธีการดูแลลูกน้อยกันค่ะ

สาเหตุผดร้อน

ผดร้อน หรือ Heat rash หรือ Prickly heat เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมเหงื่อ อันเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนทำให้ร่างกายของลูกน้อยมีเหงื่อซึมออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้ลูกน้อยร้องงอแง เพราะความที่ไม่สบายตัว ซึ่งหากคุณแม่ลองสังเกตตามเนื้อตัวของลูก โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น ข้อพับหัวเขา ข้อศอก ช่วงคอ รวมถึงแผ่นหลัง จะมีเม็ดตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นมา ผดชนิดนี้เรียกว่า “ผดร้อน” นั่นเองค่ะ มีสาเหตุหลัก ดังนี้

  • ต่อมเหงื่อของลูกน้อยยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่
  • เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
  • เกิดจากต่อมเหงื่อที่มีการอุดตันจากการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เนื้อผ้าหนา และรัดแน่นเกินไป
  • เกิดจากเหงื่อที่ถูกหมักหมมในร่มผ้าเป็นเวลานาน และตลอดเวลา

ลักษณะของผดร้อน

ผดร้อนทารก จะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ใส ๆ ที่ผิวหนัง แต่ลักษณะของตุ่มผดจะแตกต่างกันไปตามระดับความลึกของท่อต่อมเหงื่อที่ถูกอุดตัน ผดร้อนทารกไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของลูกน้อยแต่อย่างใด จะมีเพียงก็แค่ทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัวร้องงอแง ไม่เล่นเหมือนเคย บางรายอาจมีอาการแสบร้อนที่ผิว หากเป็นมาก ๆ

อาการที่เห็นได้เด่นชัดของผดร้อน

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน อากาศจึงร้อนอบอ้าวมาก ผดร้อนในทารกจึงเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • มีตุ่มน้ำใส และผื่นแดงที่ผิวหนังของลูก
  • จุดที่ผิวหนังมีการเสียดสีกับผ้า มักจะมีตุ่มผดร้อนขึ้น อาจทำให้ลูกมีอาการคันได้ หรือบางรายหากมีอาการมาก อาจทำให้ผิวหนังของลูกแสบร้อนได้
  • ผดร้อนมักจะขึ้นตามข้อพับต่าง ๆ ในร่างกาย คอ อก และหลัง

ผดร้อนทารก จะรักษาและป้องกันอย่างไร?

ก่อนจะไปเรื่องของการรักษา คุณแม่ควรรู้ถึงสาเหตุก่อนค่ะว่าเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขอย่างตรงจุด

สวมใส่เสื้อผ้าที่หนา และรัดแน่นเกินไป

หากคุณแม่สังเกตเห็นแล้วว่าเสื้อผ้าที่ลูกน้อยสวมใส่นั้นหนาเกินไป ไม่เหมาะกับสภาพอากาศ ในหน้าร้อน คุณแม่ควรหาเสื้อผ้าแขนกุด เป็นผ้าคอตต้อนที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว เพราะยิ่งทำให้เหงื่อลูกน้อยออกมามากขึ้น

เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อน

หากคุณแม่ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศแล้ว แต่ลูกน้อยก็ยังร้อน ร้องงอแงอยู่ แบบนี้ให้คุณแม่อาบน้ำให้ลูกระหว่างวันได้เลยค่ะ แล้วเช็ดตัวให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ ไม่ให้น้ำเกาะที่ข้อพับ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดการอับชื้นได้อีก

ทาผิวลูกน้อยด้วยโลชั่น

การทาโลชั่นจะสามารถช่วยบรรเทาอาการคันผิวให้ลูกน้อยได้ อย่างคาโมมาย (Calamine lotion) เพียงแค่ทาบาง ๆ บริเวณผดร้อนที่ผิวของลูกน้อย ทาเป็นประจำ ผดร้อนจะค่อย ๆ ฝ่อลง และหายไป

หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวลูกสัมผัสกับเหงื่อ

เนื่องจาก “เหงื่อ” เป็นตัวการที่ทำให้เกิดผดร้อน คุณแม่จึงควรเลี่ยงไม่ให้ผิวของลูกในบริเวณที่เกิดผดร้อนของลูกนั้นสัมผัสกับเหงื่ออีก หรือต้องสัมผัสอยู่ตลอดเวลา เพราะจะยิ่งส่งผลให้เกิดผดร้อนมากขึ้น และอาจถึงขั้นแสบผิวได้

ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบ

หากลูกร้อน และร้องงอแงไม่หยุดให้คุณแม่ช่วยลดความร้อนที่ผิวหนังของลูกน้อยได้ โดยใช้ผ้านุ่ม ๆ สะอาด ๆ ชุบน้ำเย็นมาปิดประคบบริเวณผิวของลูกน้อยที่เกิดผดร้อนจะช่วยระบายความร้อนที่ผิวหนังลูกน้อยได้ดีทีเดียว

ปรึกษาคุณหมอ

หากคุณแม่ได้ลองทำทุกวิถีทางแล้ว แต่อาการของลูกน้อยก็ยังไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างถูกต้องนะคะ

ผดร้อนส่วนใหญ่แล้วจะสามารถรักษาให้หายได้เอง โดยคุณแม่อาจหา “ยาทาผดร้อน สำหรับทารก” มาทาดูก่อนได้ค่ะ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปค่ะ ว่าถ้ายังไม่ดีขึ้น การปรึกษาคุณหมอคือ ทางออกที่ดีที่สุด


ลูกมีผดร้อนขึ้นที่ขาหนีบ มียาทาผดร้อนไหม? หรือใช้อะไรได้บ้าง? รวมยาทาผดร้อนและวิธีอื่น ๆ ที่ใช้กับทารก ที่นี่ คลิกเลย