Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกเหงือกบวม ฟันขึ้น และวิธีบรรเทาอาการปวดให้ลูกน้อย

ลูกเหงือกบวม ฟันขึ้น และวิธีบรรเทาอาการปวดให้ลูกน้อย

หากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่อายุได้ประมาณ 6 เดือน แล้วลูกมีอาการร้องไห้งอแง มีอาการเหงือกบวม แบบนี้ให้สันนิษฐานได้เลยว่าฟันซีแรกของลูกกำลังจะขึ้นแล้ว ซึ่งประเด็นก็คือ เมื่อลูกร้องไห้คุณพ่อคุณแม่ก็สงสารลูกไม่รู้ว่าจะช่วยลูกให้หายเจ็บหรือบรรเทาให้ลูกได้อย่างไร วันนี้ไม่ต้องกังวลแล้วค่ะ เพราะแม่โน้ตมีวิธีบรรเทาอาการปวดเหงือกให้ลูกน้อยมากฝาก

ลูกเหงือกบวม ฟันขึ้น มีอาการอย่างไร?

มีน้ำลายเยอะ

นับเป็นอาการแรก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ชัดค่ะ เพราะน้ำลายลูกจะออกมาเยอะมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเหงือกได้รับการกระตุ้นจากฟันที่กำลังจะขึ้น จึงทำให้มีน้ำลายออกมาเยอะนั่นเอง

ชอบกัด

เมื่อเหงือกได้รับการกระตุ้น ลูกน้อยจะรู้สึกรำคาญ ทั้งเจ็บทั้งคัน ก็มักจะชอบกัดทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้าของตัวเอง ของคุณพ่อคุณแม่ หรือของเล่นต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งหัวนมของคุณแม่ซึ่ง…โอย…แม่เจ้า

ผื่นขึ้น

สำหรับเด็กบางคนจะเริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าและลำคอ เนื่องจากน้ำลายที่ออกมามากกว่าปกติของลูกที่ไหลย้อยออกมา คุณแม่ควรใช้ผ้าสะอาดคอยเช็ดน้ำลายให้ลูกบ่อย ๆ พร้อมกับใช้ครีมทา เพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวของลูก

เหงือกบวมแดง และเจ็บ

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตที่เหงือกของลูกน้อยจะพบว่ามีลักษณะบวมแดง ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกน้อยร้องไห้บ่อย เพราะความเจ็บและความไม่สบายตัวนั่นเอง

มีไข้

บางครั้งลูกน้อยอาจมีไข้ขึ้น แต่เป็นไข้ต่ำ ๆ และมักไม่เกิน 3 วัน แต่หากลูกน้อยมีไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) ควรปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ

เอามือับแก้มบ่อย

บางครั้งลูกน้อยไม่ได้เจ็บที่เหงือกอย่างเดียว แต่อาจมีอาการเจ็บที่ข้างหูได้ โดยเฉพาะเมื่อฟันกรามจะขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคืออาจเป็นอาการติดเชื้อในหูได้ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจ สามารถปรึกษาแพทย์ได้ค่ะ

ลูกเหงือกบวม ฟันขึ้น บรรเทาอาการอย่างไร?

เมื่อลูกเจ็บเหงือกเพราะฟันจะขึ้น ลูกก็มักจะร้องไห้ งอแง บางคนอาจถึงขั้นไม่กิน ไม่นอน ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลไปด้วย เพราะฉะนั้นเราไปดูวิธีบรรเทาอาการเจ็บเหงือกของลูกน้อยกันเลยค่ะ

นวดเหงือกลูกเบา ๆ

เบื้องต้นก่อน ถ้าหากลูกน้อยมีอาการปวดไม่มาก และยอมให้คุณพ่อคุณแม่เอามือเข้าปากได้ ก็ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ นวดเหงือกลูกเบา ๆ คลึงเป็นวงกลม จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย และรู้สึกดีขึ้น ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมล้างมือให้สะอาดทุกครั้งนะคะ

เอาความเย็นเข้าช่วย

เพราะความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวดของลูกน้อยได้ดีทีเดียว เมื่อลูกได้กัดของที่เย็นจัดจะทำให้เหงือกชา ซึ่งอาจเป็นยางกัด จุกนมหลอก หรือผ้าสะอาดหมาด ๆ แช่ช่องเย็นไว้ แต่ไม่ควรให้เย็นจัดเกินไป เพราะจะทำให้ของที่แช่นั้นแข็งกลายเป็นยิ่งทำให้เหงือกลูกเป็นแผล และเจ็บมากขึ้น

หาของให้ลูกกัด

เช่น ยางกัดที่ปลอดสาร BPA (Bisphenol A) ให้ลูกได้กัดเพลิน ๆ ซึ่งสามารถลดอาการคันเหงือกได้ดี นอกจากนี้การเคี้ยวแบบนี้จะช่วยให้เนื้อเยื่อของเหงือกแยกออกจากกัน ทำให้ฟันขึ้นง่ายกว่าเดิม

ให้ลูกกินยาลดปวดสำหรับเด็ก

คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกใช้ยาแก้ปวด-ลดไข้สำหรับเด็กได้ ซึ่งควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร กลับกันถ้าอาการไข้ของลูกน้อยยังไม่ลดลง ควรไปพบคุณหมอทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดว่ามีอาการอื่นแทรกซ้อนหรือไม่ อย่างไร เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ

ช่วงเวลาการงอกของฟัน โดยประมาณ

ฟันหน้า กลาง อายุ 6 – 12 เดือน
ฟันข้าง อายุ 9 – 16 เดือน
ฟันเขี้ยว อายุ 16 – 23 เดือน
ฟันกราม ซี่แรก อายุ 13 – 19 เดือน
ฟันกราม ซี่ที่สอง อายุ 22 – 24 เดือน

การที่ลูกร้องไห้งอแง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการเหงือกบวมก็เป็นหนึ่งในสาเหตุนั้น เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ลูกน้อย ลูกน้อยก็จะสบายตัวและอารมณ์ดีขึ้นค่ะ