Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกกินยาก…น้ำหนักน้อย…

เมื่อลูกกินยาก เลือกนั้นเลือกนี้ ไม่ยอมกินบ้าง พยายามสรรหาทุกอย่างให้กิน แต่ก็ไม่ยอมกิน ทำให้พ่อแม่กังวลว่าลูกจะมีอาการป่วย หรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ทั้งที่จริงแล้วลูกอาจน้ำหนักปกติตามเกณฑ์ ถึงจะค่อนข้างน้อยแต่ยังไม่ตกเกณฑ์ ความเครียดหรือความวิตกกังวลของพ่อแม่ อาจจะมาจากความเชื่อ หรือความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องกินและน้ำหนักของลูก

ลูกกินยาก น้ำหนักน้อย แปลว่าพ่อแม่เลี้ยงไม่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวกันเพราะตามธรรมชาติของเด็กจะสนใจการกินน้อยลง ดื้อ ห่วงเล่นมากกว่ากิน สนใจสิ่งรอบข้างไม่ว่าจะโทรทัศน์ ของเล่น พ่อแม่บางคนอาจจะคิดว่าลูกเพลิดเพลินแล้วจะกินข้าวได้ แต่จะยิ่งทำให้วอกแวก และไม่อยากกินข้าวในที่สุด ฉะนั้นไม่ควรหากิจกรรมมาให้ลูกทำขณะกินอาหาร รวมถึงหากทำเป็นกิจวัตร ลูกอาจติดนิสัยการมีกิจกรรมทำขณะกินอาหารได้ และไม่ว่าจะกินที่ไหน สถานที่ไหนลูกจะติดของเล่น ติดโทรทัศน์จนเรียกร้องหาสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรได้

ครอบครัวบางครอบครัวถูกปลูกฝังว่าเด็กอ้วนถึงน่ารัก แข็งแรงสมบูรณ์ ส่วนเด็กผอมจะขี้โรค ป่วยง่าย ทั้งที่จริงเด็กบางคนอ้วนอาจมีอาการป่วย หอบหืด ภูมิแพ้ ส่วนเด็กที่ผอมหรือน้ำหนักเกณฑ์ปกติ จะมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่ป่วย ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ที่ติดตัวมา เด็กที่กินน้อยถึงปกติกลับอ้วน หรือเด็กที่ผอมดูขี้โรค กลับกันอาจจะเป็นเด็กที่กินเยอะแต่ยังคงรูปร่างผอม

การที่เลือกกินคือการตัดสินใจความชอบพอของอาหารแต่ละมื้อ เป็นหนึ่งอย่างที่ตัวพ่อแม่อาจไม่เข้าใจกับพฤติกรรมของลูก กังวลเมื่อลูกหยุดกินอาหารเร็วขึ้น เริ่มที่จะกินน้อยลง พ่อแม่ควรที่จะหมั่นสังเกตลูกจากการกินอาหารร่วมโต๊ะ ลูกกำลังสนใจอะไร อยากได้อะไร สนใจจะกินอาหารของพ่อแม่จนไม่ยอมกิน หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ชอบ หากเห็นเช่นนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ให้ลองเปลี่ยนอาหาร โดยสร้างความจูงใจของอาหารที่แปลกใหม่ ให้ลูกทานอาหารที่มีพลังงานมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากโจ๊ก อาหารบดต่างๆ เป็นมันบด ปลาบด อาหารที่มีแป้ง ไขมัน ที่ให้แคลอรี่ (พลังงานสูงสุด) อาหารทอดอย่าง ผักชุบแป้งทอด เมนูไข่ต่างๆ

สาเหตุอื่นๆ ที่ยังทำให้ลูกกินยาก จนน้ำหนักน้อยรูปร่างผอมไม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ

พ่อแม่บางคนอาจลืมความสำคัญอย่างอื่นอีก นอกเหนือจากพฤติกรรมการกินอาหารของลูก

ไม่ฝึกลูกนั่งกินเป็นที่เป็นเวลา

ควรฝึกลูกให้นั่งกินอาหารตั้งแต่เริ่มป้อนอาหาร และควรกำหนดเวลาที่ชัดเจน

ลูกปวดท้องเวลากินอาหาร

ซึ่งอาจเกิดจากอาการท้องผูก การกินน้ำน้อยไป กินผักผลไม้น้อยไป อุจจาระที่แข็งค้างในลำไส้จะทำให้ไม่สบายตัว พ่อแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดื่มน้ำเปล่า

เด็กบางคนกินอาหารยากเพราะแพ้อาหาร

ซึ่งอาจมีอาการผิดปกติตามมาหลังกินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ถ่ายเหลว

เคยสำลักอาหารหรือเคยถูกดูดเสมหะ

เกิดกับเด็กที่เคยมีประสบการณ์ไม่ดีในช่องปาก ทำให้กังวลหรือกลัวที่จะกินอาหารได้ ป้องกันโดยไม่ให้ลูกเดินหรือวิ่งขณะอาหารอยู่ในปาก หลีกเลี่ยงอาหารที่ลื่นและสำลักง่าย ไม่ป้อนอาหารคำใหญ่เกินไป

บรรยากาศบนโต๊ะอาหารมีแรงกดดัน

มีการบังคับระหว่างคนกินกับคนป้อน ทำให้ไม่กินอาหาร ฉะนั้นพ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศขณะกินให้มีความสุข กินอาหารไปพร้อมกับลูก ไม่กดดัน บังคับลูก ให้ลูกค่อยๆ กินอาหารตามที่ป้อน

อาหารว่างกินแต่ขนมหวาน มันฝรั่งทอด อาหารเหล่านี้มักมีรสหวานหรือมัน

หากกินมากเกินไปก็ส่งผลเสียกับร่างกายลูก พ่อแม่ต้องหลีกเลี่ยงอย่าวางให้ลูกเห็น และนำผลไม้หรือผักมาทำเป็นอาหารว่างให้กินแทน

พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกอาหารด้วยตัวเอง และตักอาหารเข้าปากเอง

จะลดพฤติกรรมการต่อต้านของลูก ที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง อยากควบคุมเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง รวมถึงสิ่งที่จะกินเข้าปาก

หลายครั้งมีการถูกมองและเปรียบเทียบระหว่างเด็กกันเองว่าลูกผอม ดูน้ำหนักน้อย ทั้งจากสายตาพ่อแม่เอง รวมถึงคำพูดของคนอื่นๆ ทำให้พ่อแม่ยัดเหยียดให้ลูกกิน ทั้งที่จริงน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เด็กแต่ละคนกินอาหารได้มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม ของเด็กแต่ละคน ยิ่งพ่อแม่กังวล จนเผลอดุ บังคับ ลงโทษ พยายามกดดันให้ลูกกินเยอะๆ ยิ่งสร้างความเครียดกับตัวเด็ก เด็กจะยิ่งต่อต้านการกินและไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร ต่อมาลูกจะเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น อมข้าว ใช้เวลานานในการกินข้าวแต่ละมื้อ กินไปเล่นไป หรือแม้แต่อาเจียน เท่ากับเพิ่มปัญหาให้ลูกกินยากยิ่งขึ้น