Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกติดเชื้อโควิด19 คุณแม่เตรียมรับมืออย่างไร

ลูกติดเชื้อโควิด19 คุณแม่เตรียมรับมืออย่างไร

สถานการณ์ของโรคระบาดอย่างโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะมีระดับความรุนแรงที่น้อยลง แต่สำหรับครอบครัวที่มีลูกน้อย ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้ลูกติดเชื้อโควิด19 ได้ เพราะหากมีการติดเชื้อของเด็กในการดูแลเกิดขึ้น อาจสร้างความกังวลใจให้แก่คุณแม่ได้เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะมาแนะนำให้แก่คุณแม่ ก็คือการเตรียมตัวรับมือหากลูกมีการติดเชื้อโควิด จะมีวิธีในการปฏิบัติตัวอย่างไรให้มีความปลอดภัยทั้งตัวของคุณแม่และเด็ก

รู้ได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อโควิด19

  • มีไข้สูงหลายวันติดต่อกัน ในบางรายอาจพบมีไข้ต่ำ
  • มีอาการไอแห้ง และเจ็บคอ
  • มีอาการอ่อนเพลียและซึมร่วมด้วย
  • มีอาการเบื่ออาหาร หรือหากพบการติดเชื้อในวัยทารก อาจพบว่ามีการกินนมได้น้อยลง
  • มีอาการท้องเสีย เป็นอาการเด็กติดเชื้อโควิด 19 ที่พบได้น้อย
  • อาจมีน้ำมูกร่วมด้วย หรือในบางรายอาจไม่มีเลย

อย่างไรก็ตาม ในการวินิจฉัยพบว่าลูกติดเชื้อโควิด19 แม้จะไม่มีอาการที่รุนแรงมากนัก แต่ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่ควรเฝ้าระวังอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย ยิ่งถ้าลูกน้อยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับปอดหรือโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบ หรือระบบหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในการสัมผัสในบริเวณแก้มของลูกในระยะนี้โดยไม่จำเป็น

กรณีที่มีผลตรวจ

หากพบว่าลูกติดเชื้อโควิด19 สิ่งที่คุณแม่ต้องทำ สามารถแบ่งออกได้หลายกรณี เช่น

กรณีที่ 1 – มีการติดเชื้อทั้งผู้ปกครองและเด็ก

หากมีการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล จะมีการจัดแยกให้อยู่กันแบบครอบครัว และจะไม่มีการแยกเด็กออกจากคุณแม่

กรณีที่ 2 – เด็กมีการติดเชื้อเพียงคนเดียว

หากมีการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล แพทย์จะให้กักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยจะให้ความดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของจิตใจสำหรับเด็กเล็กที่ยังห่างผู้ปกครองไม่ได้ และให้มีผู้เฝ้าที่มีร่างกายแข็งแรง อายุไม่เกิน 60 ปี และจะต้องไม่มีโรคประจำตัว

กรณีที่ 3 – เกิดโรคระบาดภายในกลุ่มของโรงเรียน

จะมีการใช้พื้นที่ในกลุ่มที่มีโรคระบาดเป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ

วิธีรับมือ เมื่อลูกติดเชื้อโควิด 19

หากมีการดูแลรักษาเด็ก โดยใช้วิธีการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน อุปกรณ์ที่คุณแม่จะต้องเตรียมเพื่อเฝ้าระวังและคอยติดตามอาการของเด็กอยู่เสมอ จะได้แก่

  • ปรอทสำหรับวัดไข้
  • เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • ยาสามัญประจำบ้าน ที่สามารถใช้ในเด็กได้ ได้แก่ ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาแก้ไอ เกลือแร่ และยาลดน้ำมูก
  • อุปกรณ์ที่สามารถบันทึกอาการของเด็กได้

โดยแพทย์จะมีการแนะนำให้เฝ้าระวังอาการของเด็ก ที่มีการแบ่งแยกระดับความรุนแรงของอาการไว้ ดังต่อไปนี้

ความรุนแรงระดับที่ 1

อาการที่วินิจฉัยแล้วว่าสามารถรักษาตัวที่บ้านต่อไปได้ ได้แก่ มีไข้ต่ำ ไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย มีน้ำมูก และเด็กยังคงสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ

ความรุนแรงระดับที่ 2

อาการที่วินิจฉัยแล้วว่าผู้ปกครองจะต้องนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาล ได้แก่ มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศา มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็วผิดปกติ ปากซีดเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วมีน้อยกว่า 95% มีอาการเซื่องซึม งอแง และรับประทานอาหารได้น้อยลง

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากลูกติดเชื้อโควิด 19

  • อาจมีผลกระทบในด้านของจิตใจเด็ก หากมีการกักตัวในสถานพยาบาล และต้องอยู่ห่างจากผู้ปกครอง
  • มีโอกาสที่เชื้อจะลงปอด ทำให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
  • หากหายป่วยจากอาการโควิด อาจทำให้เกิดภาวะ MIS-C ที่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีการพบในเด็กไทยแล้วมากกว่า 20 รายในปัจจุบัน

ทำความรู้จัก MIS-C อาการลองโควิดที่พบได้ในเด็ก

อาการของภาวะ MIS-C มีอาการที่ค่อนข้างเหมือนกับโรคคาวาซากิ แต่มีความรุนแรงกว่ามาก ซึ่งมีการแสดงของอาการผิดปกติที่เหมือนกันจนเกิดความสับสน ได้แก่ อาการไข้สูง ตาแดง มีผื่นขึ้นตามลำตัว รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่คอมีการโตขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจทำให้เด็กเกิดอาการช็อกจนทำให้เสียชีวิตขึ้นได้ เมื่อลูกน้อยในความดูแลของคุณแม่ หายจากอาการโควิดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ควรที่จะมีการเฝ้าระวังอาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรนิ่งนอนใจ

ภาวะ MIS-C ถือว่าเป็นโรคติดต่อหรือไม่

ภาวะ MIS-C ไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะไม่สามารถติดเชื้อจากการสัมผัสไวรัสโดยตรงเฉกเช่นเดียวกับโรคโควิด แต่มักจะเกิดขึ้นหลังจากร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง รวมถึงเกิดจากความผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกายของเด็ก ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีความผิดปกติของระบบในร่างกายมากกว่า 2 ระบบขึ้นไป

ในปัจจุบัน แม้ว่าภาวะ MIS-C จะยังพบได้ค่อนข้างน้อยในประเทศไทย หากคุณแม่พบว่าลูกติดเชื้อโควิด19 และหายจากโควิดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ มีอาการและสัญญาณเตือนที่เข้าข่ายภาวะ MIS-C ควรรีบพาเด็กเข้าไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยและประเมินร่างกาย รวมถึงควรได้รับการรักษาให้ทันท่วงที