Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกหัวแบน หัวไม่ทุย แก้ได้ คุณพ่อคุณแม่ไร้กังวล

ลูกหัวแบน หัวไม่ทุย แก้ได้ คุณพ่อคุณแม่ไร้กังวล

สำหรับแม่ตั้งครรภ์แทบจะทุกคนเลยมักจะเป็นกังวลในเรื่องของพัฒนาการของลูก การเจริญเติบโตและสิ่งหนึ่งที่มักจะเป็นความกังวลลึก ๆ อยู่ในใจก็คือเมื่อลูกคลอดออกมาแล้วหัวจะสวยไหม จะกลมทุยได้รูปหรือเปล่า โดยเฉพาะหากเป็นเด็กผู้ชายด้วยแล้วก็ยังกังวลไปถึงตอนลูกบวชเลยด้วยซ้ำ และต้องบอกเลยว่ามีคุณแม่หลายรายที่ยอมอดหลับอดนอนเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ลูกหัวแบนกันเลยทีเดียว ในส่วนสาเหตุของลูกหัวแบนมีอะไรบ้างและมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ถ้าคุณแม่หลายท่านได้อ่านจะหมดความกังวลไปเลยค่ะ

ลูกหัวแบน เพราะอะไร?

การคลอดที่ผิดธรรมชาติ

สำหรับลูกหัวแบน หรือหัวไม่ได้รูป ไม่กลมไม่ทุย ตั้งแต่คลอดออกมาเลยนั้น เกิดจากการคลอดที่ผิดธรรมชาติ เกิดจากการรัดตัวของช่องคลอดหรือในขณะคลอดจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือช่วยดึงหรือดูดหัวเด็ก เพื่อให้คุณแม่ได้คลอดได้ง่ายขึ้นและช่วยป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจจะเป็นอันตรายต่อแม่และลูกได้

นอนหงายเพื่อเลี่ยง SIDS

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายท่าน อาจจะยังไม่มีความรู้มากพอจึงมักให้ลูกนอนหงายอยู่ท่าเดียว ซึ่งก็มักจะทำตามคำแนะนำของแพทย์โดยจะแนะนำให้ทารกนอนหงายมากกว่าการนอนคว่ำ ซึ่งจะเป็นการป้องกันภาวะ SIDS (Sudden Death Syndrome) หรือเด็กเสียชีวิตขณะนอนหลับ ซึ่งเด็กทารกยังไม่สามารถจะขยับศีรษะเองได้

นอนหงายหรือตะแคงนาน ๆ

ท่านอนหงายหรือนอนตะแคงท่าเดิมเป็นเวลานานอาจทำให้ทารกหัวแบนได้ ซึ่งเป็นเพราะกระดูกของเด็กแรกเกิดยังมีความอ่อน เวลาที่ให้ลูกนอนทับอยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานานเกินไปจะทำให้กะโหลกศีรษะของลูกแบนได้ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ได้รับความรู้หรือวิธีแก้ไขก็ยังสามารถจะทำการแก้ไขหรือรู้วิธีทำให้ลูกหัวทุยได้ทันเวลา

ไม่ได้ให้ลูกสลับเต้า

การป้อนนมหรือการเข้าเต้าที่คุณแม่มักจะไม่ค่อยได้สลับเต้าให้ลูก หรือเกิดจากทารกเองที่พยายามจะหันหาเข้าเพียงข้างเดียวก็มีผลที่จะทำให้ลูกหัวแบน หรือหัวเบี้ยว ผิดรูปได้เช่นกัน และตราบใดที่ลูกยังมีกะโหลกศีรษะที่ขยายขนาดรองรับสมองที่โตขึ้น ก็ยังมีเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยแก้ไขให้กับลูกได้ แต่ก็อย่าให้ช้าเกินไปมาก

วิธีแก้ไขลูกหัวแบน ให้กลับมากลม ทุยสวยได้อย่างใจ

จริง ๆ แล้วสำหรับทารกหัวแบนที่เกิดจากการคลอดนั้น ศีรษะของเด็กจะกลับคืนรูปปกติได้ภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ แต่ก็จะมีขั้นตอนกับวิธีทำให้ลูกหัวทุยได้ด้วยตัวคุณพ่อคุณแม่เองโดยช่วงแรกก็อาจจะใส่ใจมากเป็นพิเศษ ต้องสังเกตลักษณะศีรษะของลูกตลอดเวลาซึ่งรับรองว่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยอย่างแน่นอน

หัวลูกแบนด้านหลัง

หากลักษณะของหัวลูกแบนช่วงด้านหลัง พยายามปรับท่านอนให้ลูกได้นอนตะแคงให้มากกว่าการนอนหงาย โดยจะต้องพลิกตัวลูกให้ตะแคงซ้ายบ้าง ตะแคงขวาบ้างในทุก ๆ 30 นาที หรืออาจจะน้อยกว่านี้ได้ และจะต้องเช็คดูให้ดีด้วยว่าจะไม่มีผ้าหรือหมอนไปปิดจมูกลูกในขณะนอน

ลูกหัวแบนด้านใดด้านหนึ่ง

หากลูกหัวแบนเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ก็จับท่านอนลูกให้ตะแคงอีกข้าง ซึ่งอาจจะใช้เวลานานกว่า 30 นาทีหรือจนกว่าลูกจะตื่น แต่สามารถที่จะขยับได้บ้าง จะให้นอนท่าหงายได้แต่ก็ไม่ควรจะนานกว่า 30 นาที เรียกกันง่าย ๆ ก็คือการปั้นหัวลูกก็ว่าได้ เมื่อลูกตื่นแล้วให้สังเกตเรื่อย ๆ ว่าจะปรับท่านอนอย่างไร เพื่อที่ลูกจะได้หัวทุยสวย

ให้ลูกกินนมสลับเต้า

หากอุ้มลูกเข้าเต้าจะต้องมีการสลับเต้าให้ลูกในทุก ๆ 15 นาทีอาจจะใช้หมอนรองตัวลูกในขณะที่ให้นมเพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่เมื่อยหรือปวดแขน และไม่เพียงแต่ลูกจะได้หัวที่ทุยสวย ยังดีต่อคุณแม่ที่จะทำให้น้ำคาวปลาแห้งไว มดลูกเข้าอู่ได้เร็วทำให้คุณแม่มีร่างกายหรือน้ำหนักลดลงได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ใช้หมอนหลุม

สำหรับการเลือกใช้หมอนหลุมอาจจะไม่ได้ช่วยให้ลูกมีหัวทุยสวย หรือช่วยแก้ปัญหาเรื่องลูกหัวแบนได้ 100% จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเรื่องลูกนอนดิ้น หรือลูกชอบนอนหัวตกหมอน ถึงแม้จะใช้หมอนหลุมเพื่อปรับศีรษะลูก แต่ก็จะต้องมีการจับลูกพลิกบ่อย ๆ เช่นเดิม เพื่อไม่ให้นอนท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไป

วิธีป้องกันลูกหัวแบน

สำหรับวิธีป้องกันนั้น จะเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำเป็นประจำอยู่แล้วซึ่งถือเป็นหลักการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี

  • คุณแม่จะต้องคอยจัดท่านอนให้กับลูก หรือคอยจับพลิกเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้นอนท่าเดิมนาน
  • ในขณะที่ลูกตื่น ควรจัดให้ลูกได้เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เช่นให้คว่ำหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • การอุ้มลูกก็ควรที่จะอุ้มลูกแบบสลับข้างไปมา อุ้มด้วยแขนซ้ายบ้าง แขนขวาบ้าง
  • ไม่ควรให้ลูกนอนในคาร์ซีท หรือในรถเข็นเด็กนาน เพราะลูกจะไม่สามารถเปลี่ยนท่าได้

จากกรณีที่ลูกหัวแบน หัวไม่ทุย ไม่ได้มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกแม้แต่น้อยเลย จะมีผลแค่เพียงความสวยงามซึ่งจะส่งผลต่อใบหน้าโดยตรงจากที่ศีรษะลูกแบนไปข้างใดข้างหนึ่งซึ่งจะทำให้ใบหน้า 2 ข้างของลูกอาจจะไม่สมดุลกันได้ โดยทั้งหมดนี้จะหมดความกังวลไปได้เมื่อรู้ถึงวิธีแก้ไข และวิธีป้องกัน และอาจจะต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษในช่วงที่กะโหลกของลูกยังอ่อนอยู่นั่นเอง