Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เด็กซนจนเจ็บตัว พ่อแม่ควรทำ-ไม่ควรทำอย่างไร

เด็กซนจนเจ็บตัว พ่อแม่ควรทำ-ไม่ควรทำอย่างไร

หากพูดถึงเด็กซนสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ในช่วงที่ลูกแสดงพฤติกรรมต่อต้านทั้งความดื้อและความซน จนทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความหงุดหงิดและเหนื่อยใจ ก็เพราะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็นสิ่งกระตุ้นพฤติกรรมเหล่านี้ ในเมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบอยู่แล้วว่านั่นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ ดังนั้น เรามาดูกันว่าในเวลาที่ลูกซนไม่อยู่นิ่ง คุณพ่อคุณแม่จะสามารถรับมืออย่างไรได้บ้าง

ปัจจัยที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมดื้อหรือกลายเป็นเด็กซน

ปัจจัยด้านอายุ

เด็กในแต่ละวัย มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่แตกต่าง เช่นเดียวกับการจัดการอารมณ์ ซึ่งเด็กในวัยเล็กเริ่มต้น จะเริ่มมีความอยากรู้อยากเห็น อยู่ไม่เฉย และไม่ค่อยทำตามคำสั่ง

ปัจจัยด้านอารมณ์

เพราะวัยเด็กมีพัฒนาการทางด้านการปรับตัวที่ช้ากว่าวัยผู้ใหญ่ ดังนั้น อาจทำให้เกิดช่วงที่เด็กมีอาการที่กินยาก นอนยาก หรือนอนไม่เป็นเวลา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรปรับตัวเข้าหาเด็ก และมีความเข้าใจในตัวเด็กด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจัยด้านสติปัญญา

คุณพ่อคุณแม่บางคน อาจจะพบปัญหาของเด็กในวัยเล็ก ว่ามีพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญาที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป เช่น การเข้าสังคม การแก้ปัญหา และสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนที่ทำให้เด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรมเช่นเดียวกัน

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูก็มีส่วนสำคัญด้านพฤติกรรมเด็กเช่นเดียวกัน หากคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกแบบไม่มีกฎกติกา ก็อาจทำให้เด็กขาดทักษะในการจัดการด้านอารมณ์ของตนเอง มีความอดทนต่ำ และเลือกที่จะทำตามใจตนเอง มากกว่าเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่

เด็กซนจนเจ็บตัวพ่อคุณแม่ ควรทำ หรือ ไม่ควรทำสิ่งใด

ในบางครั้ง อาจมีบ้างที่ลูกมีพฤติกรรมที่ซนจนเกินไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นเจ็บตัวได้ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำอย่างไร หากเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความซนของเด็ก ซึ่งเราได้รวบรวมสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำมาให้แล้ว เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้รับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้ได้อย่างถูกวิธี ซึ่งเราจะได้จำแนกขั้นตอนไว้ ดังต่อไปนี้

เมื่อลูกล้ม ให้มองดูห่างๆ

เมื่อลูกซนจนเกิดเจ็บตัว เช่น การวิ่งชนโต๊ะ หรือ เก้าอี้ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น คืออาการร้องไห้งอแงของลูก ในบางครั้งเราพบว่าการเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่มันมีข้อดีตรงที่จะช่วยทำให้ลูกสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ตัวเองทำได้อย่างดี รวมถึงยังมีเวลาพอที่จะเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้สงบสติอารมณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ผลีผลามจนบางครั้งอาจทำให้เผลอพูดจาแรงๆใส่ลูกได้

พูดเชียร์ลูก ให้ลุกขึ้นด้วยตนเอง

แทนที่จะรีบเข้าไปโอ๋ลูกที่มีอาการร้องไห้ แต่หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่มองดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ๆ และพบว่าไม่มีอาการบาดเจ็บใด ๆ ให้พยายามใช้คำพูดอย่างอ่อนโยนพร้อมกับรอยยิ้ม พูดเชียร์ให้ลูกพยายามลุกขึ้นยืนด้วยตนอง เช่น “ลุกขึ้นเร็ว คนเก่ง” เมื่อลูกสามารถลุกขึ้นยืนด้วยตนเองได้แล้ว ให้พูดชมเขาด้วยรอยยิ้ม เช่น “ล้มแล้ว ก็ลุกขึ้นได้นี่นา เก่งมาก”

เข้าไปดูอาการบาดเจ็บของลูก

หากพบว่าลูกยังมีอาการงอแงนิดหน่อย เนื่องจากมีอาการเจ็บเล็กน้อยจากการซนในครั้งนี้ ให้เข้าไปถามถึงอาการบาดเจ็บของลูกน้ เมื่อถามแล้วให้พูดปลอบใจว่าไม่เป็นไร เช่น “ไหนลูกเจ็บตรงไหนบ้าง ไม่เจ็บมากใช่ไหม เดี๋ยวก็หายแล้ว ไม่เป็นไรหรอก”

ชมและสอนไปพร้อมๆ กัน

เมื่อลูกมีสีหน้าที่ดีขึ้น พร้อมกับอาการงอแงที่เงียบหายไป ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสอนด้วยคำพูดที่อ่อนโยน เช่น “ล้มแล้วลุกขึ้น เก่งมากเลย ทีหลังหนูต้องเดินระวังๆหน่อยนะลูก” ซึ่งการพูดแบบนี้เปรียบเหมือนการให้กำลังใจลูก และชมเชยเขาที่เขาสามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเอง แทนที่จะใช้คำที่ไม่ควรพูดกับลูก อย่างเช่น “ชนโต๊ะล้มเลยเหรอ เก่งมากเลย” ซึ่งการพูดชมแบบเข้าข้างเช่นนี้ ถือว่าไม่ควรทำ

สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำ เมื่อลูกเป็นเด็กซนและถือว่าเป็นสิ่งที่พบได้น้อยมากในครอบครัว ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพบว่าจะมีการปลอบและโอ๋มากเกินไป หรือบางครั้งถึงขั้นดุลูกเลยก็มี ซึ่งการกระทำเหล่านี้เราพบว่าจะไม่ค่อยมีการเข้าไปพูดเพื่อให้กำลังใจลูกเลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรปลอบประโลมอย่างถูกวิธี และสาธิตถึงวิธีในการจัดการปัญหาและข้อผิดพลาดให้แก่ลูก

สำหรับแนวทางและวิธีในการสอนที่เราได้แนะนำไปนั้น จะช่วยทำให้เด็กที่โตขึ้นเกิดกำลังใจในทุก ๆ ครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มีคำพูดที่ชื่นชมในสิ่งที่เขาสามารถทำได้ด้วยตนเอง เมื่อล้มก็ลุกขึ้นใหม่ เมื่อผิดพลาดก็เริ่มทำใหม่ ซึ่งจะทำให้ลูกสามารถรับรู้ได้ถึงความรักและความอบอุ่นที่พ่อแม่มีให้ กล้าทำในสิ่งที่ยังไม่ได้ลองโดยไม่กลัวข้อผิดพลาด เพราะเขารู้ว่าจะมีพ่อแม่คอยซัพพอร์ตและให้กำลังใจเสมอ ซึ่งหากมีวิธีสอนที่ผิดวิธี ก็อาจเป็นการทำร้ายลูกในทางอ้อมได้