Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

9 สิ่งที่แม่ควรรู้ก่อนเริ่มให้อาหารเสริมลูกน้อยวัย 6 เดือน

สำหรับคุณแม่มือใหม่บางท่านอาจจะกำลังกังวลใจว่าลูกใกล้จะ 6 เดือนแล้ว ใกล้ได้เวลาต้องป้อนอาหารเสริมกันแล้วสินะ แต่เอ…ต้องเริ่มอย่างไร? จะผักหรือผลไม้ก่อนดี? กินปลาได้ไหม? ปลาอะไรก่อน? คิดไม่ออก ไปต่อไม่ถูก เอาอย่างนี้ดีไหมคะ วันนี้ผู้เขียนมีสิ่งที่คุณแม่ควรรู้ก่อนป้อนอาหารเสริมลูกน้อยมาฝาก ถ้าคุณแม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมดแล้ว การป้อนอาหารเสริมลูกก็จะง่ายนิดเดียวค่ะ

สิ่งที่คุณแม่ควรรู้ก่อนป้อนอาหารเสริมลูกน้อย

ควรให้ครบกำหนดอายุ 6 เดือน

การป้อนอาหารเสริมลูกควรให้ลูกมีอายุครบ 6 เดือน ไม่ควรเริ่มเร็ว เนื่องจากอวัยวะภายในและระบบย่อยอาหารของลูกน้อยยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เสี่ยงที่ลูกจะท้องอืด อาหารไม่ย่อย

เริ่มทีละอย่าง

การเริ่มป้อนอาหารเสริมนั้น คุณแม่ควรเริ่มที่ผักก่อนผลไม้ และเริ่มทีละอย่าง โดยป้อนซ้ำๆ เมนูเดิมนี้ไปประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อสังเกตว่าลูกแพ้อาหารชนิดนี้หรือไม่ และค่อยเพิ่มไปทีละอย่าง ถ้าจะให้ดีคุณแม่ควรทำตารางอาหารไว้เลยค่ะ ว่าอาทิตย์ไหนเริ่มป้อนอะไร แล้วจดว่าอาหารชนิดไหนหรือผลไม้ชนิดไหนที่ลูกแพ้และไม่แพ้

ป้อนทีละน้อย

ลูกวัย 6 เดือนนี้เค้ายังทานได้น้อยอยู่ค่ะ เพียงวันละ 1 มื้อ มื้อละประมาณ 1 ช้อนโต๊ะเท่านั้น ดังนั้น คุณแม่ควรเริ่มป้อนทีละน้อยๆ ก่อน โดยเฉพาะหากเป็นการเริ่มเมนูใหม่ๆ สังเกตพฤติกรรมลูกค่ะ ว่าถ้าเค้าไม่ดุนอาหารออกจากปาก หรือหันหน้าหนีแสดงว่าถูกใจ ซึ่งถ้าหมดชามแล้วดูลูกยังทานไม่อิ่ม ค่อยเสริมด้วยนมแม่จนอิ่ม

เริ่มที่ผักก่อนผลไม้

เพราะในผลไม้มีความหวานมากกว่าผัก ถ้าหากให้ลูกน้อยเริ่มทานผลไม้ก่อน อาจทำให้ลูกไม่ทานผัก เพราะผักจะจืดและหวานน้อยกว่าผลไม้ ซึ่งจะกลับมาฝึกให้ลูกทานผักนี่จะยากนิดหนึ่ง และที่สำคัญ ลูกน้อยจะติดหวานซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายในอนาคตได้ค่ะ

ทานไข่แดงก่อนไข่ขาว

เพราะความที่ลูกอายุยังน้อย ระบบการย่อยยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ การทานไข่แดงก่อนจะช่วยให้ย่อยง่ายกว่าไข่ขาว และเป็นการเลี่ยงการแพ้โปรตีนในไข่ขาวได้อีกด้วยค่ะ เพียงแต่ไข่แดงนั้น คุณแม่ควรทำให้สุกทั้งลูกก่อนทุกครั้ง ไม่เอาแบบยางมะตูมนะคะ เพราะจะย่อยยากกว่าแบบสุกทั้งฟองค่ะ

เริ่มปลาน้ำจืดก่อนปลาทะเล

ปลา…เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ย่อยง่ายที่สุดถ้าเทียบกับบรรดาเนื้อสัตว์ทั้งหลาย แต่ปลาที่เหมาะสมที่จะเป็นอาหารเสริมให้ลูกน้อย ควรเป็นปลาน้ำจืดคือ อาทิ ปลาช่อน ปลานิล ปลาทับทิม หรือปลาดุก เป็นต้น

ส่วนปลาทะเล อาทิ ปลาทู ปลาเก๋า ปลาแซลมอน ควรให้ลูกมีอายุครบ 1 ขวบขึ้นไป เพราะลูกจะมีความเสี่ยงที่จะแพ้ปลาทะเลมากกว่าปลาน้ำจืดค่ะ

เลี่ยงการปรุงรส

ข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นๆ ตอนนี้ลูกผู้เขียนอายุย่างเข้า 4 ขวบแล้ว ผู้เขียนก็ยึดหลักนี้อยู่ค่ะ หรือถ้าจะปรุงก็ปรุงให้รสชาติอ่อนๆ หน่อย ไม่เช่นนั้นลูกน้อยจะติดอาหารรสจัด (รวมถึงอาหารที่หวานจัด เค็มจัดด้วยนะคะ)

อุ่นร้อนก่อนทานทุกครั้ง

สำหรับบางครอบครัวมีคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกอยู่คนเดียว ดังนั้น การที่จะให้มานั่งปั่นอาหารให้ลูกน้อยสดๆ ทุกมื้อ คงไม่เป็นอันทำอย่างอื่นแน่นอน จึงเลือกที่จะปั่นแล้วแช่แข็งไว้ พอจะทานก็เอามาตุ๋นให้ร้อน แบบนี้ก็ได้เช่นกันกันค่ะ เพียงแต่เน้นว่าให้ลูกทานอาหารที่ผ่านความร้อนจนสุกเป็นอันใช้ได้

เริ่มป้อนมื้อเช้า

เพราะอะไรหรอคะ? เพราะว่าหากลูกมีอาการแพ้อาหารขึ้นมาจะได้นำตัวไปรักษาได้สะดวก ซึ่งสามารถเริ่มป้อนอาหารใหม่ๆ ได้ 2 ช่วงค่ะ คือ มื้อเช้า และกลางวัน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอจะมองเห็นภาพรวมแล้วหรือยังคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นมแม่หรือนมผสมก็ยังสำคัญกับลูกอยู่นะคะ โดยเฉพาะในขวบปีแรก หรือถ้าลูกสามารถทานนมแม่ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้จะดีมากเลยค่ะ เป็นกำลังใจให้คุณแม่มือใหม่นะคะ