Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกนอนกระตุก เกิดจากอะไร? แบบไหนที่ควรกังวล?

ลูกนอนกระตุก เกิดจากอะไร? แบบไหนที่ควรกังวล?

ลูกนอนหลับได้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงได้พัก และเบาใจไป แต่จู่ ๆ ลูกก็มีอาการกระตุกขึ้นมาเสียอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่จะพบอาการเหล่านี้ได้โดยเฉพาะลูกน้อยที่อยู่ในวัยแรกเกิด-3 เดือน แบบนี้เรียกว่าปกติไหม? เกิดจากอะไร? และมีอะไรที่ควรกังวลหรือไม่? ทุกคำถามมีคำตอบที่นี่ค่ะ

ลูกนอนกระตุก เกิดจากอะไร?

อาการกระตุกของทารกที่เกิดขึ้น มักจะมีการกระตุกได้ทั้งที่แขน และขา โดยมักมีอาการตั้งแต่แรกเกิด โดยอาการดังกล่าวนี้ เรียกว่า Benign Sleep Myoclonus ซึ่งเป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักจะเกิดขึ้นขณะที่ลูกหลับ โดยจะมีการกระตุกของแขน และขาได้ทั้ง 1 หรือ 2 ข้างก็ได้ ซึ่งจะหายไปได้เองเมื่อลูกน้อยตื่น การกระตุกนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาท หรือความผิดปกติจากการนอนแต่อย่างใด

อาการลูกนอนกระตุก – ปกติ

อาการกระตุกของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่เห็น ๆ กันอยู่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 แบบ ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนี้

แบบ Primitive reflex

เป็นอาการตอบสนองต่อการสั่งการของสมองส่วนกลาง พบได้ในเด็กเล็กที่มีพัฒนาการทางสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ แต่จะหายได้เองเมื่อเริ่มโตขึ้น แต่อาการแบบนี้ก็ยังพบได้ไม่บ่อยเท่ากับอีก 4 แบบที่เหลือ

แบบ Moro reflex หรือ Startle reaction

แบบนี้เป็นอาการเมื่อลูกตกใจ เช่น มีเสียงดัง ลูกจะกระตุกเกร็ง แขน และขาเหยียดออก แล้วค่อยงอกลับทีหลัง นิ้วมือจะแบ กางออก สักพักก็จะเปลี่ยนเป็นกำมือแน่น พบมากในทารก แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบอาการแบบนี้ในลูกวัย 6 เดือน ขึ้นไป แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ค่ะ

แบบ Tonic neck reflex or fencing posture

อาการในลักษณะนี้คือ เมื่อลูกหันศีรษะไปทางด้านไหน แขนด้านนั้นก็จะเหยียดตรง ในขณะที่แขนอีกข้างก็จะงอ ซึ่งถ้าพบว่าลูกมีอายุเกินกว่า 6 เดือนแล้ว ยังพบอาการนี้อยู่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ค่ะ

แบบ Myoclonic jerk

ลูกจะมีอาการบิดตัว 1-2 ครั้ง ในขณะที่ลูกหลับ ส่วนใหญ่แล้วอาการนี้มักเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกน้อยได้ยินเสียงที่ดัง ซึ่งบางครั้งจะคล้าย ๆ กับอาการผวา อาการนี้ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลค่ะ

แบบ Jitteriness

เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อลูกน้อยร้องไห้ ซึ่งจะมีอาการคางสั่น บางรายหรือบางครั้งหากมีอาการมาก ก็มีบ้างที่จะมีการกระตุกกลับไปกลับมาของแขน และขา แต่อาการนี้จะไม่ได้มีความผิดปกติของตา อาทิ ตาค้าง แต่อาจมีอาการที่รุนแรงขึ้น หากถูกกระตุ้นด้วยเสี่ยง แต่อาการจะหายไปได้หากจับลูกมาห่อตัว หรือกอดลูกไว้ โดยให้แขนงอไว้ที่อก และขาให้งอไว้ที่หน้าท้อง

อาการลูกนอนกระตุก – ผิดปกติ

แม้ว่าการนอนกระตุกของลูกน้อยดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่น่ากังวล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่ควรละเลย กับบางอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกมีความผิดปกติ ซึ่งโดยมากมักเป็นความผิดปกติที่เกิดจากสมอง หรือระบบประสาท ซึ่งมีสาเหตุ ดังนี้

  • ภายหลังการคลอด ลูกน้อยขาดออกซิเจนเป็นระยะเวลานาน ซึ่งถ้าสมองของลูกน้อยขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน เด็กจะมีปัญหาในเรื่องการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางด้านร่างกายได้
  • ลูกอาจได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีเลือดคั่ง หรือมีเลือดออก ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงในกะโหลกได้ สาเหตุอาจเกิดจากการตกจากเตียง ศีรษะไปกระแทกกับพื้น หรือขอบเตียง เป็นต้น
  • ไม่สบาย มีไข้ ตัวร้อน ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นที่ประสาทส่วนกลาง ซึ่งพบได้มากในเด็กที่มีอายุระหว่าง 3 เดือน – 5 ขวบ และจะพบอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ไข้สูง ในระยะแรก ซึ่งเป็นอาการนำชัก และเกิดอาการชักได้
  • เกิดการติดเชื้อที่สมอง และไขสันหลัง เป็นต้น ซึ่งอาการกระตุกที่เกิดจากสาเหตุนี้ คือ จะมีการกระตุกเรื้อรังของทั้งแขน และขา
  • มีความผิดปกติของคลื่นสมอง ที่เรียกกันว่า โรคลมชัก

อาการกระตุกโดยมากมักเป็นอาการที่ไม่ผิดปกติ แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าเมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน แล้ว แต่ยังมีอาการชักอยู่ ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์นะคะ