การเลี้ยงลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคอยรับมือกับลูกน้อยในทุกขวบวัยที่เขาเจริญเติบโต ตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือน คุณแม่จะคอยดูแลและป้อนนมอย่างเดียว แต่พอเริ่มเข้าเดือนที่ 6 คุณแม่ต้องเตรียมอาหารเสริมให้กับลูกน้อย เพื่อช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ของร่างกาย นมอย่างเดียวอาจทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ค่ะ คุณแม่บางท่านก็เจอปัญหาที่ว่าลูกน้อยร้องโยเย เม้มปากไม่ยอมทาน วันนี้เราจะมาดูแต่ละสาเหตุกัน พร้อมทั้งวิธีการแก้ปัญหากันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
สารบัญ
- ทำไมลูกน้อยของฉันไม่กินอาหารเสริม?
- พยายามคิดหาเหตุผล เป็นไปได้มั้ยที่เด็กไม่สามารถทานได้เพราะไม่หิว?
- หากลูกน้อยไม่ยอมทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคได้
- ลูกน้อยไม่ทานอาหารอาจเกิดจากระบบดูดซึมอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- อย่าให้ “ความเครียด” มาเยี่ยมเยียน
- ลูกน้อยที่ไม่ยอมทานอาหาร อาจเป็นเพราะเขายังกลืนอาหารได้ไม่เก่ง
- เสริมอาหารให้ลูก แก้อาการท้องผูก
- ระหว่างทานอาหาร ไม่ควรให้มีสิ่งอื่นที่น่าสนใจมากกว่าอาหาร
- คุณแม่ให้อาหารลูกน้อยไม่ตรงเวลาที่เค้าหิว
- จะรู้ได้อย่างไรว่าต่อมรับรสลูกน้อยผิดปกติ?
- ลูกไม่ทานอาหาร คุณแม่ควรเรียนรู้สาเหตุและโน้มน้าวให้ถูกจังหวะ
ทำไมลูกน้อยของฉันไม่กินอาหารเสริม?
เรียกได้ว่าคำถามนี้เป็น “คำถามยอดฮิต” ของคุณแม่มือใหม่หลายๆ คนเลยค่ะ เพราะหากลูกน้อยทานได้น้อย หรือถึงขั้นหันหน้าหนี เม้มปากไม่ยอมทานเลยก็คงทำเอาคุณแม่กังวลหรืออาจเครียดกันได้เลยทีเดียว
หากลูกน้อยไม่ยอมทาน อันดับแรกอาจเช็คสุขภาพลูกก่อนค่ะว่าเค้าไม่สบาย เจ็บปวดตรงไหนหรือเปล่า เพราะเวลาเด็กไม่สบายตัวก็จะส่งผลให้ลูกน้อยไม่ยอมทานได้ แต่หากดูแล้วว่าลูกน้อยมีสุขภาพดี คุณแม่ตามมาดูเคล็ดไม่ลับด้านล่างนี้เลยค่ะ
- ช่วงเริ่มแรก คุณแม่ควรจัดอาหารให้ตรงตามเวลาที่ลูกน้อยหิว
- ปริมาณเริ่มแรกควรให้ทีละน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณทีละน้อย อาจเริ่มจากกล้วยน้ำว้าครูด บดละเอียด เอาเฉพาะเนื้อด้านนอก ไม่เอาไส้ เพราะกล้วยน้ำว้ามีประโยชน์มาก มีรสหวานตามธรรมชาติ ทานง่าย
- ลองเพิ่มอาหารเสริมในแบบอื่นๆ เช่น
- หมวดแป้ง; ข้าว
- หมวดผัก; บรอคโคลี, แครอท, หอมใหญ่, ฟักทอง, มันฝรั่ง, ผักโขม
- หมวดโปรตีน; ไข่ต้ม (เอาแต่ไข่แดง), ตับ, ปลาทูน่า
อาหารเสริมข้างต้นนี้ ให้คุณแม่นำมาทำให้สุก ปั่นละเอียด แล้วแช่แข็งไว้ รวมทั้งน้ำต้มกระดูกหมู เวลาจะทานก็นำมาตุ๋นค่ะ
ครั้งแรกลูกไม่ทานอย่าเพิ่งยอมแพ้ อย่าเพิ่งท้อนะคะ ที่สำคัญ อย่าบังคับให้ลูกน้อยทาน เพราะเท่ากับกดดันลูก ทำให้ลูกไม่อยากทานข้าว เพราะลูกน้อยจะรู้สึกว่า “เวลาแห่งความทรมานมาอีกแล้ว”
พยายามคิดหาเหตุผล เป็นไปได้มั้ยที่เด็กไม่สามารถทานได้เพราะไม่หิว?
ก่อนถึงเวลาอาหารของลูกน้อยไม่ควรให้ทานอะไรก่อนหน้าอย่างน้อย 1 ชม. นะคะ เพราะจะทำให้ลูกน้อยไม่หิว และไม่ยอมทานข้าว
หากลูกน้อยไม่ยอมทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคได้
- ขาดวิตามิน จากอาหารจำพวกผักและผลไม้
ผิวหนังแห้งหยาบ เป็นเหน็บชาบ่อย เป็นหวัดได้ง่าย เส้นเลือดฝอยไม่แข็งแรง ร่างกายเจริญเติบโตช้า กระดูกไม่แข็งแรง - ขาดโอเมก้า 3 และดีเอชเอ จากปลาทะเล
ทำให้พัฒนาการทางสมองเติบโตช้า เรียนรู้สิ่งต่างๆ ช้า
หากลูกน้อยถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนการมีพัฒนาการที่ช้า อาจส่งผลให้ลูกน้อยเรียนรู้ได้ไม่ทันเพื่อน ทำให้เสียความมั่นใจ ส่งผลลบด้านจิตใจด้วยนะคะ
ลูกน้อยไม่ทานอาหารอาจเกิดจากระบบดูดซึมอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ลูกน้อยไม่ยอมทานอาหารอาจเป็นเพราะระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น อย่าลืมนะคะ คุณแม่ควรเริ่มให้ทีละน้อยก่อน
อย่าให้ “ความเครียด” มาเยี่ยมเยียน
เพราะความที่เป็นคุณแม่ที่ต้องรับมือกับลูกน้อยในทุกช่วงวัย การเลี้ยงลูกเป็นอะไรที่เหนื่อยมากก็จริงแต่ก็มีความสุขที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นคุณแม่ก็อย่าเพิ่งเครียดไปนะคะ เพราะความเครียดจะเป็นตัวผลักดันให้ “ความสุข” หายไปค่ะ
ลูกน้อยที่ไม่ยอมทานอาหาร อาจเป็นเพราะเขายังกลืนอาหารได้ไม่เก่ง
ลูกน้อยวัย 6 เดือนกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น การทานอาหารเสริม แน่นอน…คงยังไม่ชินกับการทานอาหารที่ต้องใช้การบดเคี้ยว เพราะตั้งแต่เกิด ลูกน้อยทานแต่นมซึ่งทานง่ายและย่อยง่ายกว่าอาหาร ดังนั้น คุณแม่ต้องใจเย็นๆ นะคะ เรียนรู้ไปพร้อมลูกค่ะ
เสริมอาหารให้ลูก แก้อาการท้องผูก
มาถึงตรงนี้คุณแม่ควรเตรียมอาหารสำหรับลูกน้อยให้หลากหลายตามที่กล่าวมาข้างต้นนะคะ โดยเฉพาะพวกผักที่กินง่าย เช่น แครอทที่นำมาปั่นให้ละเอียด แช่แข็ง ซึ่งสามารถนำมาผสมกับน้ำต้มกระดูกหมูได้ ก็จะออกรสหวานซึ่งได้จากธรรมชาติ มีสรรพคุณช่วยลดอาการท้องผูกให้ลูกน้อยด้วยค่ะ
ระหว่างทานอาหาร ไม่ควรให้มีสิ่งอื่นที่น่าสนใจมากกว่าอาหาร
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่จะให้ลูกน้อยหันมามีสมาธิอยู่กับการทานอาหารนั่นก็คือ การไม่ให้มีสิ่งเร้าเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากอาหาร ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ทีวี โทรทัศน์ หรือแม่แต่โทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าลูกน้อยโตขึ้นมาอีกหน่อย (ประมาณ 8-9 เดือน) ถ้าเค้าสามารถที่จะนั่งโต๊ะทานข้าวสำหรับเด็กได้แล้ว ให้ลูกน้อยนั่งทานข้าวพร้อมครอบครัวเลยค่ะ ให้ลูกได้ลุยเอง ตักทานเอง ตรงนี้จะเป็นการเสริมพัฒนาการการหยิบจับ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กไปด้วยในตัว
คุณแม่ให้อาหารลูกน้อยไม่ตรงเวลาที่เค้าหิว
คุณแม่ควรจัดสรรเวลาในการทานอาหารของลูกน้อยให้ตรงเวลากับที่ลูกหิวนะคะ ไม่เช่นนั้นลูกน้อยก็จะปฏิเสธการทานอาหารได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าต่อมรับรสลูกน้อยผิดปกติ?
โดยปกติแล้ว เด็กทารกจะเกิดมาพร้อมกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การได้กลิ่น และการเคลื่อนไหว ซึ่งช่วงแรกเกิด – 6 เดือน นมแม่เป็นรสชาติที่สมบูรณ์ของลูกน้อยอยู่แล้ว แต่หากคุณแม่ต้องการเช็คว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติหรือไม่ ทดลองให้ลูกทานน้ำมะนาวดูค่ะ หากลูกมีอาการนิ่งเฉย คุณแม่ลองปรึกษาแพทย์ดู เพื่อการรักษาและการดูแลลูกอย่างถูกวิธีต่อไป
ลูกไม่ทานอาหาร คุณแม่ควรเรียนรู้สาเหตุและโน้มน้าวให้ถูกจังหวะ
คุณแม่มือใหม่หลายท่านเมื่อเห็นลูกน้อยไม่ยอมทานอาหาร ก็คงจะอดเครียดไม่ได้ ด้งนั้น คุณแม่ลองค่อยๆ สังเกตดูนะคะว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ลูกไม่ยอมทาน เช่น ไม่สบายตัว เมนูไม่ถูกปาก หรือลูกยังอยู่ในช่วงปรับตัว แล้วค่อยๆ พูด เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้ลูกน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ
ระวังการกระทำต่อเด็กที่ไม่ค่อยรับประทานอาหาร
อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นค่ะ บางครั้ง บางมื้อ ลูกน้อยอาจทานมากบ้าง น้อยบ้างคุณแม่ก็อย่าเพิ่งโมโหหรือดุลูกนะคะ เพราะลูกจะเกิดทัศนคติที่ไม่ดีกับช่วงเวลาที่ต้องทานอาหารค่ะ
ประเด็นที่คุณแม่ต้องระวังและปรับปรุงในเรื่องการที่ลูกไม่ยอมทานอาหาร
เรื่องนี้ต้องขยายและขอเน้นย้ำเลยนะคะ สำหรับคุณแม่มือใหม่ หากลูกน้อยไม่ยอมทานอาหาร “อย่าเครียดและอย่าเพิ่งดุ” ค่ะ เพราะจะหลายเป็นเราเองที่สร้างทัศนคติที่ไม่ดีกับลูกเวลาที่ต้องทานอาหาร แต่พยายามคิดหาเมนูใหม่ๆ อยู่เสมอ คิดบวกเข้าไว้ค่ะ
การทานอาหารของลูกน้อย คุณแม่ต้องค่อยๆ หัดให้เค้าทานอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ ที่สำคัญ “ใจเย็นๆ” หาสาเหตุก่อนว่าที่ลูกน้อยไม่ทานในแต่ละมื้อเพราะอะไร? แล้วค่อยๆ ปรับแก้กันไปทีละจุด เหมือนกับที่หลายคนกล่าว “ระหว่างปีนเขา อย่าแหงนหน้ามองยอดเขา” เพราะจะทำให้เรา “ท้อ” ได้ เป็นคุณแม่ เหนื่อยได้แต่อย่าท้อนะคะ