Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกชอบร้องไห้กลั้น หน้าเขียวจะอันตรายไหม?

ลูกชอบร้องไห้กลั้น หน้าเขียวจะอันตรายไหม?

ภาวะลูกร้องกลั้น” ตัวเกร็ง หน้าเขียว ปากซีด สำหรับพ่อแม่มือใหม่อาจจะทำให้ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ห่วงและกังวลไปหมดว่าลูกจะขาดออกซิเจนไหม จะมีผลต่อสมองไหม ลูกจะตายไหม และหลายๆ คำถามตามมาในวินาทีนั้น จะรับมืออย่างไรดี วันนี้โน้ตมีคำแนะนำดีๆ มาแชร์ให้พ่อแม่ทราบค่ะ

Youtube : ลูกชอบร้องไห้กลั้น หน้าเขียวจะอันตรายไหม?

สาเหตุที่ลูกร้องกลั้น


โดยทั่วไปการร้องไห้กลั้นนี้ มักพบในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือน – 2 ขวบ หลังจากนั้นอาการเหล่านี้ก็จะหายไปได้เอง
ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความโกรธ อาการตกใจ หรือถูกขัดใจจึงส่งผลให้ลูกแสดงออกด้วยอาการร้องไห้อย่างรุนแรง ตามมาด้วยการกลั้นหายใจ
ซึงทารกบางคนสามารถร้องไห้กลั้นโดยไม่หายใจเลยได้นานประมาณ 30 – 60 วินาทีเลยทีเดียว ทำให้ใบหน้าเขียว หน้าซีด ตัวอ่อนปวกเปียก หรือบางคนมีอาการเกร็งตัวคล้ายชักแต่ให้พ่อแม่มั่นใจได้เลยค่ะว่า ไม่มีเด็กคนไหนที่สามารถกลั้นหายใจได้นานจนสมองขาดออกซิเจนหรือจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต คือ นานเกิน 4 นาที

รับมือลูกร้องไห้กลั้น

พ่อแม่ตั้งสติหรือคุมสติ


เป็นธรรมดาที่พ่อแม่เมื่อเห็นทารกร้องไห้กลั้น ตัวเขียว ตัวเกร็งครั้งแรก คงต้องตกใจ เป็นโน้ตก็คงตกใจค่ะ 555 แต่…เราต้องคุมสติก่อน เพราะอย่างที่บอกว่าคงไม่มีทารกคนไหนที่จะกลั้นหายใจได้นานขนาดเกินกว่า 4 นาทีจนเป็นอันตรายต่อสมอง ท่องไว้ค่ะ “สติ สติ สติ

เบี่ยงเบนความสนใจให้ลูก


การเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ได้หมายความว่า “ตามใจ” นะคะ เพราะไม่เช่นนั้นลูกจะเรียนรู้ว่า ครั้งต่อไปถ้าอยากได้อะไร ก็ร้องไห้ตัวเขียว ตัวเกร็ง เดี๋ยวก็ได้ กลายเป็นลูกจะทำบ่อยขึ้น เผลอๆ อาจทำทุกครั้งเลยก็เป็นได้

การเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น หากลูกกำลังนอนเล่น แล้วเกิดอยากเล่นกรอบรูปซึ่งเป็นกระจกซึ่งเสี่ยงแตก แน่นอนพ่อแม่คงให้ไม่ได้ ลูกก็ร้องไห้กลั้น หน้าเขียว ปากซีด ตัวเกร็งคล้ายชัก ให้แม่ตั้งสติ แล้วพูดกับลูกด้วยสีหน้าและน้ำเสียงปกติว่า

เอ…แม่ได้ยินเสียงเหมือนรถพ่อเลย ไปดูกันดีกว่าพ่อมาหรือยัง?

ปลอบลูก


ใช้วิธีการอยู่ตรงนั้นกับลูก ปลอบลูกด้วยน้ำเสียงและทีท่าที่ปกติไม่ทำสีหน้าตกใจ ไม่ขึ้นเสียงสูง

ไม่โทษกันเอง


ไม่โทษกันเอง เช่น “เพราะเธอ ลูกถึงเป็นแบบนี้” นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ลูกดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนคนใกล้ชิดอีกด้วยนะคะ

ห้ามเขย่าลูก


อย่างที่บอกค่ะ ด้วยความที่พ่อแม่ตกใจเห็นลูกร้องไห้กลั้น ก็รีบกุลีกุจออุ้มลูกขึ้นมา ลูกหน้าเขียว ตัวเกร็งกลัวลูกไม่หายใจ รีบเขย่าทันที สิ่งนี้ไม่ควรทำอย่างยิ่งค่ะ เพราะทารกยังคออ่อนและกระหม่อมลูกก็ยังไม่เต็ม อาจเกิดผลกระทบต่อส่วนดังกล่าวได้

สิ่งที่ไม่ควรทำหากลูกร้องไห้กลั้น

หลังจากที่ลูกมีอาการร้องไห้กลั้นแล้ว ให้พ่อแม่คุมสติ แต่เมื่อคุมสติได้แล้ว สิ่งที่ไม่ควรทำเลยก็คือ

เดินหนีลูก


เมื่อลูกร้องไห้กลั้น พ่อแม่คุมสติ ไม่ได้หมายความว่าไม่ตอบสนองต่อความต้องการลูกหรือเดินหนีนะคะ เพราะลูกจะยิ่งร้องไห้หนักกว่าเดิม

ปล่อยให้ลูกร้องไห้ไปเรื่อยๆ


หลายครอบครัวใช้วิธีนี้ค่ะ (เคยเจอมากับตัว) ปล่อยให้ลูกร้องไห้ไป เดี๋ยวก็หยุดเอง หากทำแบบนี้เด็กก็จะยิ่งร้องไห้ หากร้องมากอาจทำให้เด็กอาเจียนได้นะคะ Go so big ไปกันใหญ่เลย

รีบอุ้มลูกขึ้นมา


ด้วยความตกใจ แม่รีบอุ้มลูกขึ้นมากอดแล้วพูดว่า “โอ๋ๆๆๆๆ ไม่ร้องลูก ไม่ร้อง จะเอาอะไรบอกแม่มาเดี๋ยวแม่ให้หมดเลย หยุดร้องนะลูก ตัวเขียวหมดแล้วลูก โอ๋ๆๆๆ

เพราะทารกยังไม่สามารถพูดสื่อสารกับพ่อแม่ได้ สิ่งที่เค้าจะทำได้อย่างเดียว คือ การร้องไห้ ไม่ว่าจะเป็นหนูหิว ง่วง ผ้าอ้อมเปียกชื้น คัน ฯลฯ ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ก็คือ เรียนรู้ความต้องการของลูกและวิธีการตอบสนองลูกที่ถูกต้อง การร้องไห้กลั้นก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่ลูกใช้แสดงความต้องการหรืออารมณ์ อย่าลืมนะคะ หากพ่อแม่เจอแบบนี้ให้ “ตั้งสติ” ไว้ก่อน เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ

อ้างอิง เฟสบุกคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ