Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกดูดนิ้ว ทำไงดี

ลูกดูดนิ้ว ทำไงดี

ลูกดูดนิ้วเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่กังวลใจไม่น้อย เพราะกลัวว่าถ้าลูกติดการดูดนิ้วไปจนโตจะส่งผลให้ฟันยื่น ฟันเหยิน และเสียบุคลิกได้ มีเด็กหลาย ๆ ที่เริ่มดูดนิ้วมือตั้งแต่อายุ 2 – 3 เดือน แต่บางคนก็เริ่มช้ากว่านั้น ในขณะที่บางคนไม่มีพฤติกรรมนี้เลย เพื่อการปรับพฤติกรรมได้อย่างถูกต้อง แม่โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และธรรมชาติของเด็กกันซักหน่อยค่ะ

สาเหตุลูกดูดนิ้ว

การดูดนิ้วมือของทารกหรือเด็กเล็กถือเป็นเรื่องธรรมชาติตามพัฒนาการของเด็ก การที่ลูกน้อยดูดนิ้วหรือสิ่งของต่าง ๆ นั้นก็เพื่อเป็นการสร้างความอบอุ่น ความปลอดภัย และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสัมผัส รวมถึงการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งความจริงแล้วทารกบางคนดูดนิ้วมือตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ การดูดนิ้วของเด็กบางคนเป็นความรู้สึกเพลิดเพลิน บางคนใช้การดูดนิ้วเพื่อการคลายเหงา บางคนก็ดูดนิ้วเพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะลูกน้อยจะเรียนรู้ว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาดูดนิ้วคุณพ่อคุณแม่จะหันมาสนใจเขาทันที

ผลเสียลูกดูดนิ้ว

โดยปกติแล้วเด็กจะเลิกดูดนิ้วเมื่ออายุ 2 – 4 ปี แต่ก็มีเด็กบางคนที่ยังไม่สามารถเลิกดูดนิ้วได้ก็มี ซึ่งจะส่งผลเสีย ดังนี้

  • ฟันหน้าด้านบนจะยื่นออกมา ทำให้ฟันหน้าด้านบนและด้านล่างไม่สบกันพอดี ทำให้การกัดหรืดตัดอาหารทำได้ไม่ดีเท่าทีควร
  • การเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรผิดปกติ

เมื่อไหร่ที่ควรเริ่มกังวลกับพฤติกรรมลูกดูดนิ้ว

พฤติกรรมการดูดนิ้วเป็นพฤติกรรมที่ปกติของเด็กแรกเกิด – 2 ปี โดยประมาณ แต่ถ้าหากลูกอายุเข้า 3 ปี แล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะเลิกดูดนิ้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มหาทางแก้ไขแล้วล่ะค่ะ หรือไม่ก็สามารถเข้าปรึกษากับทันตแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับเด็กในแต่ละคน

วิธีปรับพฤติกรรมลูกดูดนิ้ว

หากลูกน้อยถึงวัยที่ควรจะเลิกดูดนิ้วแล้ว แต่ลูกยังไม่สามารถเลิกได้ซักที ให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกลูกในทางบวกซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกมากกว่าการฝึกลูกในเชิงลบ (เช่น การตีมือ การดุลูก รวมถึงการทายาขมที่นิ้ว) การกระทำในเชิงบวก มีดังนี้

เบี่ยงเบนความสนใจของลูก

เมื่อใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เห็นลูกดูดนิ้วหรือกำลังจะดูดนิ้ว ให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกด้วยการนำของเล่นชิ้นโปรด หรือของเล่นที่ต้องให้ลูกใช้มือจับมาเล่นแทน

ชื่นชมลูก

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยที่พอจะพูดคุยกันรู้เรื่อง ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงสาเหตุว่าเพราะอะไรลูกจึงควรเลิกดูดนิ้ว และถ้าหากลูกสามารถเลิกดูดนิ้วได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจลูก และชื่นชมลูก หรืออาจให้รางวัลกับลูกบ้างเป็นครั้งคราวตามสมควร (เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กยึดติดกับการต้องได้ของรางวัล)

พาลูกเปลี่ยนบรรยากาศ

ข้อนี้สามารถใช้ได้ทั้งเด็กเล็กและเด็กที่โตมาหน่อย ให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ไปวิ่งเล่น เดินเล่น แบบนี้ก็จะทำให้ลูกรู้สึกเพลิดเพลินกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้

มอบความอบอุ่นและความปลอดภัย

เนื่องจากสาเหตุที่เด็กดูดนิ้วนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน สมมติว่าลูกของคุณแม่ดูดนิ้วเพราะเขาเหงา เขานอนหรือนั่งเฉยไม่ได้ทำอะไร แบบนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกเล่น ให้ลูกได้มีรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะ หรือจะกอดลูกบ่อย ๆ ก็ได้ค่ะ ลูกจะชอบ เขาจะได้ไม่เบื่อ

ปรึกษาทันตแพทย์

ก่อนที่จะถึงวันที่ลูกต้องไปพบทันตแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจเสียก่อนนะคะว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฟันลูกบ้าง หากยังไม่เลิกดูดนิ้ว พร้อมยกตัวอย่างให้ลูกได้ฟัง เพื่อประกอบความเข้าใจค่ะ

จริงอยู่ การดูดนิ้วเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติของเด็ก ๆ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้พฤติกรรมนี้อยู่กับลูกนานเกินไป ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่พยายามทำในทุกวิถีทางแล้ว แนะนำว่าควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธีนะคะ

ข้อมูลอ้างอิง dentalworldchiangmai.com , synphaet.co.th